กก.ปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาตระเวนตีฆ้องแผนงาน

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยถึงผลการประชุมเพื่อการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ร่วมกับคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำโดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า 

วันนี้คณะกรรมการปฏิรูปฯได้เข้ามาหารือกับคณะผู้บริหาร สพฐ. พบว่ามีความคิดเห็นที่ตรงกันในหลายเรื่อง และมีภารกิจหลักที่ต้องทำร่วมกันใน 5 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาครู เรื่องที่เกี่ยวกับการอุดมศึกษา วิจัยและธรรมาภิบาล เรื่องกองทุนเพื่อความเสมอภาค และเรื่องของอาชีวศึกษา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่มีหน่วยงานดำเนินการอยู่แล้ว

"แต่เราได้มารวบรวมถักทอให้เป็นงานที่ทำร่วมกัน เพื่อระบุไว้เป็นแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายน 2565 โดยเฉพาะใน 3 เรื่องใหญ่ที่เลขาธิการ กพฐ.ได้มีนโยบายไว้ คือ เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญสำหรับการศึกษาของประเทศไทย และยังมีเรื่องของจำนวนคนไทยในอนาคตข้างหน้า ที่ต้องมีการจำลองสถานการณ์ว่า จะมีจำนวนครูและนักเรียนเท่าใด ซึ่งจะเกี่ยวพันกับการผลิตครูในอนาคต" 

ดร.วรากรณ์กล่าวอีกว่า จากการพูดคุยกับผู้บริหาร สพฐ.ทำให้เข้าใจตรงกันมากขึ้น ทางคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาก็พร้อมจะเป็นคนกลางในการจัดสัมมนาให้คนที่มีความสนใจเข้ามารับฟังในเรื่องการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่ได้ทำร่วมกับ สพฐ.

ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้ไปหารือกับเลขาธิการสภาการศึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาแล้ว ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้แผนปฏิรูปการศึกษาเป็นแผนของประชาชน เป็นแผนที่ร่วมมือกันด้านระบบการศึกษา ไม่ใช่แผนของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่จะต้องเป็นแผนที่มาจากความเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งจะดำเนินการทำแผนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศ 

นอกจากนี้ จะมีการรายงานความก้าวหน้าในเรื่องดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรในทุกๆ 3 เดือน โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษามีแผนการอยู่แล้วว่า จะต้องทำแผนอะไรบ้าง ส่วนหนึ่งที่สำคัญที่เราต้องผลักดันคือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเราสนับสนุนและรอให้ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างแรก

"รวมทั้งยังมีร่าง พ.ร.บ.ด้านการศึกษาฉบับอื่นๆ ที่ต้องมีการขับเคลื่อนให้เดินไปข้างหน้า ซึ่งเราพร้อมที่จะจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้ อีกทั้งยังมีโครงการย่อยอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 ทั้งเรื่องของอาชีวศึกษา เรื่องธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย และเรื่องงานวิจัย ซึ่งทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกำลังดำเนินการอยู่อย่างเข้มข้นเช่นกัน” ปธ.กก.ปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)