ราชภัฏมาแล้ว! ระดมเปิด รพ.สนาม เตียงเกินครึ่งหมื่น หนุนรัฐสู้โควิด-19

มาแล้วราชภัฏช่วยสู้วิกฤตโควิด                                                กระจายเปิด รพ.สนามในมหา'ลัย

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) สั่งการให้ทุกมหาวิทยาลัย เปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมขึ้นอีกทุกแห่ง ทุกจังหวัด และให้ประสานงานทันทีกับทางจังหวัด สาธารณสุขในพื้นที่ โดยดำเนินการร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้อธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยแล้วนั้น

ผศ.จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ประธานที่ประชุมอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 อย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใยมาตั้งแต่การระบาดรอบแรก รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการกับศูนย์ปฏิบัติการและบริหาร ของ อว. (ศปก.อว.) ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของท้องถิ่น ต่างสำรวจความพร้อมในเรื่องสถานที่ บุคลากร นักศึกษาที่เรียนวิชาชีพพยาบาล ปละประสารจังหวัด ตลอดสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้บริการทยอยเปิดโรงพยาบาลสนาม จัดศูนย์พักฟื้นขึ้นเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ ทั้งด้านห้องพัก ระบบสาธารณูปโภค อาหารสะดวกครบถ้วนตามนโยบายของอว.ที่มอบหมายให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ถือเป็นภารกิจต้องช่วยชาติยามวิกฤต และสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้ใช้หอพักนักศึกษาในเมืองเตรียมไว้เป็นสถานที่กักตัว 3,000 เตียง หอพักนักศึกษา วิทยาเขตสามพร้าว จำนวน 500 เตียง หอพักนักศึกษา วิทยาเขตบึงกาฬ 186 เตียง อาคารอเนกประสงค์ วิทยาเขตบึงกาฬ 50 เตียง พร้อมแล้วทุกส่วน

ขณะเดียวกัน รายงานจาก ผู้สื่อข่าว edunewssiam ได้แจ้งถึงจำนวนมหาวิทยาลัยราชภัฏได้เปิดโรงพยาบาลสนามและจำนวนเตียงป่วยไว้รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รวมแล้วประมาณ 8,000 เตียง ดังนี้

มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา จ.สมุทรปราการ 360 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ที่ศูนย์การศึกษา อ.เดิมบางนางบวช 100 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หอพักนักศึกษา 50 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาที่ศูนย์สมุทรสงคราม จำนวน 50 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ที่หอประชุมมหาวิทยาลัย 800 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่อาคารพนมพิมานและหอพักนักศึกษา 320 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ที่หอประชุมใหญ่ อาคารเอนกประสงค์ และหอพักนักศึกษา 638 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่อาคารโกเมน 110 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดเตรียมเตียงผู้ป่วยไว้รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 100 เตียง 

มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ประชุมใหญ่ ศูนย์บางคล้า 200 เตียง+อาคาร 7 ศูนย์บางคล้า 50 เตียง + สัมมนาคาร บางปะกงปาร์ค บางคล้า ใช้เป็นศูนย์พักพิงสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง อีก 30 ห้อง มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จ.ยะลา ที่โรงเรียนการศึกษาพิเศษ 60 เตียงและอาคารกิจกรรมนักศึกษา จำนวน 200 เตียง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จ.สุรินทร์ ที่หอประชุม และอาคารมหิธราบรรณาลัย 60 เตียง รวมเตียงในส่วนของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งสิ้นที่ใช้ในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 8,000 เตียง

ขณะที่ ผศ.ดร.ยุวลักษณ์ เวชวิทยาขลัง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ระบุว่า โควิดในรอบนี้ ซึ่งค่อนข้างรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยยินดีดำเนินการตามนโยบายของ อว.และรัฐบาลในการช่วยสนับสนุนงานแก่จังหวัดในการรับผู้ป่วยโควิด ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มีขีดความสามารถในการรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยจัดตั้งขึ้น ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี จ.สมุทรปราการ ประกอบด้วยอาคารหอพัก 2 หลัง เพียงพอจะรับผู้ติดเชื้อได้ 1,000 คน การป้องกัน ถ้าหากจำเป็นยังมีพื้นที่ที่ขยับขยายได้

ส่วนที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ รศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า ได้ใช้โรงแรมศรีพฤธาลัย ราชภัฏสัมมนาคาร ของมหาวิทยาลัย เป็นสถานที่ของโรงพยาบาลสนาม สถานที่แห่งนี้มีความพร้อมทุกด้านที่จะใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม โดยขณะนี้คณะแพทย์และพยาบาลจาก รพ.ศรีสะเกษได้มาตั้งระบบปฏิบัติการต่างๆ ประจำพร้อมเรียบร้อยแล้ว โดยใช้บริเวณชั้น 5 และชั้น 6 จำนวนชั้นละ 15 ห้อง ห้องละ 2 เตียง รวม 60 เตียง แยกห้อง ชาย-หญิง โดยจะมีทีมแพทย์ พยาบาลคอย ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีระบบความปลอดภัยสำหรับการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี ภายในห้องจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน บรรยากาศหรูหราไม่เหมือนโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวกัน ที่มหาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา รศ.ดร.ชูสิทธิ์ ประดับเพ็ชร์ อธิการบดี เปิดศูนย์พักฟื้นที่มหาลัยราชภัฏฯแห่งนี้จะรองรับได้ จำนวน 60 เตียง โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทีมแพทย์พยาบาล และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องมือให้มีประสิทธิภาพ ร่วมตรวจความพร้อมศูนย์พักฟื้น เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวในหอแยกโรคครบ 7 วันซึ่งมีอาการดีขึ้นและใกล้จะกลับบ้านได้แล้วมาพักฟื้นรอดูอาการอีก 7 วันเพื่อให้ครบ 14 วัน

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)