รพ.สนามราชภัฏ ตั้งทัพรับมือโควิด-19 จัด 8 พันเตียง ยังว่างอีกเยอะ!

 

 

รพ.สนามราชภัฏ ตั้งทัพรับโควิด-19 

จัด ๘ พันเตียงยังว่างอีกเยอะ

 

รายงานจาก ผู้สื่อข่าว edunewssiam  สำรวจมหาวิทยาลัยราชภัฏที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามและจำนวนเตียงผู้ป่วย เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 16 มหาวิทยาลัย รวมแล้วกว่า 8,000 เตียง บริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของสาธารณสุขจังหวัด วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้งานในโรงพยาบาลสนาม รวมถึงของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วยที่จะเข้าพัก ได้รับบริจาคจากหน่วยราชการและภาคเอกชน ให้ความร่วมมือ มีดังนี้

 

ภาคอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ใช้หอพักนักศึกษาในจังหวัดเป็นสถานที่กักตัว 3,000 เตียง ใช้หอพักนักศึกษา วิทยาเขตสามพร้าว 500 เตียง และหอพักนักศึกษาและอาคารอเนกประสงค์ วิทยาเขตบึงกาฬ 803 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 48 เตียง

มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ใช้อาคารพนมพิมานและหอพักนักศึกษา 320 เตียง  

มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ใช้หอประชุมอาคารเอนกประสงค์และหอพักนักศึกษา 638 เตียง 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จ.สุรินทร์ ใช้หอประชุมและอาคารมหิธราบรรณาลัย 60 เตียง ยังไม่มีผู้ป่วย

มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มอบโรงแรมภูพานเพลซมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครจัดตั้งเป็นศูนย์ห่วงใยไทสกลละเบ๋อ รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หลังจากนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล รองรับผู้ป่วยได้ 96 คน

 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ใช้วิทยาเขตบ้านยางน้อย เป็นศูนย์ Local Qurantine จำนวน 134 เตียง และเฟสที่สาม ใช้อาคารเรียนรวม รับผู้ป่วยได้ 700 เตียง ทั้ง 2 แห่ง อยู่ภายในบริเวณศูนย์การเรียนรู้บ้านยางน้อย มหาวิทยาลัยราชภัฏ                

 

ภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ใช้อาคารโกเมน 110 เตียง 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 100 เตียง ใช้พื้นที่โล่งใต้อาคารหอประชุมใหญ่ มีเตียงรองรับ 750 เตียง ยังไม่มีผู้ป่วย ล้อมรั้วแยกเขตชัดเจนห้ามบุคคลภายนอกเข้า มีหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านผลิตบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เป็นหัวหน้าชุด

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จ.ยะลา ใช้โรงเรียนการศึกษาพิเศษ 60 เตียงและอาคารกิจกรรมนักศึกษา 200 เตียง  

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มีจำนวน 265 เตียง และ อาคารโกเมน 110 เตียง

 

กทม.และรอบปริมณฑล มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ใช้หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา จ.สมุทรปราการ 360 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 298 เตียง คงเหลือ 62 เตียง และ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ 944 เตียง คงเหลือ 607 ถ้าหากจำเป็นยังมีพื้นที่ที่ขยับขยายได้อีก

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สมุทรสงคราม มี 50 เตียง ยังไม่มีผู้ป่วย  

มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี พรรณบุรี ที่ศูนย์การศึกษา อ.เดิมบางนางบวช 100 เตียง ยังไม่มีผู้ป่วย  

มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มีจำนวนเตียงรองรับ 160 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 28 เตียง คงเหลือ 132 เตียง และใช้หอพักนักศึกษา 50 เตียง

มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ใช้ที่ประชุมใหญ่ศูนย์บางคล้า 200 เตียง อาคารเจ็ดอีก 50 เตียง เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ของจังหวัดสาามารถรองรับผู้ป่วยระดับสีเขียวได้ และใช้ตึกสัมมนาคารบางปะกงปาร์ค อีก 30 ห้อง เป็นศูนย์พักพิงสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง 

 

ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ใช้หอประชุมมหาวิทยาลัย 800 เตียง 

 

รวมจำนวนเตียงในส่วนของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ  จาก 16 มหาวิทยาลัยราชภัฏที่ ใช้ในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 8,000 เตียง

 

 

รายงานแจ้งด้วยว่า ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.กล่าวถึง การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ในส่วนของอว.ณ ขณะนี้ประมาณ 50 แห่ง มีจำนวนเตียงรวมกันกว่า 12,000 เตียง หากมีความจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนเตียงก็สามารถเพิ่มได้อย่างน้อยอีกหนึ่งเท่า เพราะอว.มีมหาวิทยาลัยมีสถานที่ที่สามารถรองรับได้ นอกจากนี้ยังมีคณะแพทย์และพยาบาลที่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ที่เป็นกำลังสำรองของประเทศมีทั้งคุณภาพและปริมาณ ในวิกฤติโควิดรอบนี้ ชาว อว.แสดงออกว่าเราพร้อมที่จะเข้าสู่ภาคปฏิบัติในยามจำเป็น ตอนนี้เราต้องนำปัญหาของบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง จัดการเรื่องของเราเองและช่วยคนอื่นไปด้วย ไม่ใช่เรื่องเฉพาะ อว.เท่านั้น ในหลายๆ หน่วยงานก็มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

  

ขณะที่ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. ชี้แจงกรณียังมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่รอเตียงรักษา หรือโทรสายด่วนไม่ติด ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ไม่สามารถไปรักษาในโรงพยาบาลสนามหรือฮอสพิเทลได้ ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือจากผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือไม่มีอาการหรืออาการน้อย ให้ย้ายออกไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม และฮอสพิเทล เพื่อจัดสรรเตียงในโรงพยาบาลให้กับผู้ป่วยหนัก 

 

สำหรับการจัดลำดับผู้ป่วยที่จะได้รับเตียงในโรงพยาบาล มีความละเอียดอ่อนสลับซับซ้อน และไม่ใช่ว่าใครมาก่อนจะได้เตียงก่อน แต่แพทย์จะพิจารณาที่อาการของผู้ป่วย เช่น 

 

หากมีเตียงว่า 100 เตียง มีผู้ติดเชื้อที่รอเตียง 100 คน แต่หากในวันนั้นมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่เป็นผู้ป่วยสีแดงอาการหนัก คน แพทย์ก็อาจจะพิจารณานำผู้ป่วยหนักเข้าเตียงก่อน


ส่วนสายด่วนที่ประสานเกี่ยวกับการจัดหาเตียง ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บุคลากรที่ทำหน้าที่ ต่างก็พยายามกันอย่างเต็มที่ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยทุกคน มีการประชุมเพื่อปรับปรุงการทำงานทุกวัน และรับฟังคำตำหนิข้อแนะนำต่างๆ เพื่อปรับปรุงการบริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้นทุกวัน
          

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ขณะนี้ยังสามารถไปรับการตรวจหาเชื้อจากแล็บเอกชน หรือคลินิกที่ให้บริการตรวจหาเชื้อได้ โดยในกรุงเทพฯมีคลินิกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถึง 279 แห่ง เมื่อทราบผลตรวจว่าติดเชื้อ โรงพยาบาลที่ประสานงานกับคลินิกเหล่านี้ จะโทรแจ้งผลและคัดแยกผู้ป่วยเพื่อจัดหาเตียง พร้อมกับให้

คำแนะนำข้อปฎิบัติสำหรับผู้ป่วยขณะรอเตียง เช่น การสังเกตความเปลี่ยนแปลงอาการของตัวเอง เพราะบางคนไม่มีอาการในช่วงแรกเริ่ม แต่สักพักอาการเริ่มเปลี่ยนแปลงหรือทรุดลง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ที่ประสานเรื่องเตียงจะให้คำแนะนำวิธีสังเกตอาการและช่องทางติดต่อกรณีอาการทรุดลง


          โดยข้อปฎิบัติเมื่อทราบผลว่าติดเชื้อ
          1.เตรียมเอกสารหลักฐาน โทรแจ้ง รพ.ที่ตรวจก่อน
          2.ถ้า รพ.ที่ตรวจยังหาเตียงไม่ได้ภายใน 1-2 วัน ให้โทรสายด่วน 1668 และ 1330
          3.ถ้าต้องการปรึกษาการปฎิบัติตัวระหว่างรอเตียง โทร 1668
          4.ถ้ามีไข้สูง หายใจเหนื่อย ถ่ายเหลวหลายครั้ง โทร 1669
          5.เพิ่มเพื่อนใน Line Official Account @sabaideebot

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)