สพฐ.ยงโย่!รับนักเรียน’64 พาผู้ปกครอง-น.ร.-ครู เดินสู่ความเสี่ยงโควิด-19 ??

สพฐ.ยงโย่! รับนักเรียนปีการศึกษา’64

ใต้สถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก

กำลังพาผู้ปกครอง-น.ร.-ครูเดินสู่ความเสี่ยง

 

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน : tulacom@gmail.com 

 

ต่อความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ระลอก 3 ที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้ ทั้งประเทศไทยและทั่วโลกล้วนตกในห้วงอันตราย เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ไม่แสดงอาการ ไม่แสดงอุณหภูมิป่วย ไม่มีไข้ ไร้อาการรุนแรงในตอนแรก ซึ่งแต่เดิมการคัดกรองจะวางใจเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปเป็นหลัก การรับรส ได้กลิ่นยังคงสังเกตได้อยู่ มีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจลำบากมีบ้าง ผิดกับอาการเดิม ๆ จะมีไข้สูง มีอาการไอ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีเรี่ยวแรง หายใจลำบาก หายใจเหนื่อยหอบ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส

ส่งผลให้รัฐบาลไทยประกาศมาตรการ work from home เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรค โดยให้ทำงานอยู่ที่บ้าน รวมไปถึงสถานศึกษาทุกระดับ และสถานรับเลี้ยงเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่น สังเกตอาการตัวเอง วัดไข้ทุกวัน ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน  

 อัมพร พินะสา

แต่แปลกใจว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน บอรด์ กพฐ. ดูคล้ายจะแยกไม่ออกว่า มาตรการเตรียมความพร้อมในช่วงปฏิบัติระหว่างการรับสมัครนักเรียน จับสลาก สอบคัดเลือก รายงานตัวและมอบตัว กับมาตรการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนและแนวปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาระหว่างเปิดภาคเรียน (กรณีสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน : On-Site) เรื่องใดควรเป็นความสำคัญลำดับแรกสุด   

เท่าที่ปรากฏจากข่าวคราวที่ออกจาก นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. และประธานบอรด์ กพฐ. แทบไม่ได้ให้ความสำคัญหรือลงลึกถึงการนำโซเชี่ยลมีเดีย อาทิ ไลน์ เฟสบุ๊ค เว็ปสถานศึกษา สร้างบาร์โค้ชให้แสกน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นสื่อที่ผู้คนคุ้นเคยใช้งานทั่วไปในยุค 4.0 มาเป็นช่องทางเพื่อเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน ในช่วงปฏิบัติการของสถานศึกษาสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ ในการดำเนินการรับนักเรียนปีการศึกษา 2564 ทั้งรับสมัครนักเรียน การจับสลาก การสอบคัดเลือก การรายงานตัวและการมอบตัว เพื่อลดการรวมกลุ่มและการเผชิญหน้า  

อันเป็นมาตรการหนึ่งที่สร้างความปลอดภัยให้กับสถานศึกษา ครู นักเรียนและผู้ปกครอง ภายใต้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  

สิ่งที่ว่านี้ ยังไม่เคยได้ยินจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ มีแต่การส่งเสียงตอกย้ำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ช่วยเฝ้าสอดส่องดูแลให้สถานศึกษาดำเนินการรับนักเรียนด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน ให้ทุกโรงเรียนออกเนื้อหาข้อสอบโดยคำนึงถึงเนื้อหาการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ของชั้น ม.3 และเนื้อหาในชั้น ม.1, ม.2 เป็นหลัก สำหรับการสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อชั้น ม.4

ลงลึกไปถึงให้หน่วยงาน องค์กร และคณะที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงมีคุณภาพ เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ภายใต้การบริหารจัดการที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสร้างการรับรู้ผ่านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เกิดความเข้าใจนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2564  

ขอถามว่าในทางปฏิบัติ ในยามใช้ชีวิตสุดแสนจะลำบากช่วงนี้ ยังจะมีหน่วยงาน องค์กร และคณะกรรมการไหนอยากจะเข้ามามีส่วนร่วม และหาก สพฐ.ต้องการให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสเข้าเรียนอย่างทั่วถึง ทำไมถึงยังต้องมีการสอบแบบเดิม ๆ ให้ยุ่งยาก จนเกิดความเครียด และส่วนการสื่อสารซึ่งมีการปรับเปลี่ยนอยู่หลายครั้ง มั่นใจแค่ไหนว่าผู้ปกครองและสังคมรับรู้อย่างทั่วถึง รวมทั้งไม่แน่ใจในความปลอดภัยจากการไม่ติดเชื้อโควิด-19 กลับบ้าน

แม้กระทั่งถึงวันนี้ ก็ยังไม่เห็นแอคชั่นจริงจังของ สพฐ.ส่วนกลางในการติดตามวางมาตรการคุมเข้มป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ในสนามสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.และ ม.ที่กำลังจะมีขึ้นทั่วประเทศในสัปดาห์ ทั้งที่ต้องวางมาตรการป้องกันที่เข้มข้นขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะใคร ๆ ก็รู้ว่าโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ไม่แสดงอาการ ไม่แสดงอุณหภูมิป่วย จะวางใจเครื่องวัดอุณหภูมิเป็นหลักในการคัดกรองเด็กที่เข้าไปรวมกลุ่มคงไม่ได้แล้ว

 

หันไปฟังเสียงกลุ่มครูได้สะท้อนในโซเชียลแสดงความห่วงใย กรณีกำลังจะมีการจัดสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศในสังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2564 ในช่วง 22-23 พฤษภาคมนี้ ก่อนที่จะเปิดภาคเรียนที่ 1 ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ซึ่งยังไม่นับรวมการจับสลากเข้าเรียนที่ยังจะจัดขึ้นอีกทั้งชั้น ม.1 และ ม.4 ล้วนเกรงจะสร้างคลัสเตอร์ใหม่ หากเกิดขึ้นจริง จะรับผิดชอบกันอย่างไรบ้าง

เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สพฐ.ยังไม่ได้แสดงให้สังคมได้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังในการให้ความสำคัญกับการหามาตรการและวิธีการใหม่ในการรับสมัคร จัดสอบคัดเลือก ด้วยการใช้เทคโนโลยี หรือสื่อออนไลน์ ดังว่ามารองรับ

ดูตัวอย่างนโยบายให้ระดับชั้น ป.1 จับสลากวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยให้ผู้ปกครองมาจับแทนเท่านั้น ซึ่งมีคำถามประการแรกว่า การให้ผู้ปกครองมาจับแทนนักเรียน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่ต้น แต่เป็นไปตามแนวปฏิบัติการรับนักเรียนที่ออกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 สมัยที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ยังนั่งเก้าอี้ รมว.ศธ. เนื่องจากนักจิตวิทยาท้วงว่าให้เด็กจับสลาก เด็กเครียด (ราวกับว่าพ่อแม่มาจับสลากแทนไม่เครียดกว่า จะพาลทะเลาะกันทั้งบ้าน)

เอาเถอะมาถึงช่วงโควิด-19 ระบาดกันหนักๆ ตั้งแต่มีคนติดเชื้อหลักหมื่นพุ่งขึ้นมาเป็นกว่าแสนคนแล้วในวันนี้ สพฐ.คิดจะปรับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น ใช้วิธีการอื่นแทนได้ไหม อาจเป็น ครู หรือ ผอ.ร.ร. หรือ กรรมการสถานศึกษา ตัวแทนเขตพื้นที่การศึกษา ตัวแทนชุมชน ได้ไหมที่จับแทน ไม่ต้องให้ผู้ปกครองจากบ้านเรือนหลายแหล่งเดินทางมารวมกลุ่มกันที่โรงเรียน ให้เสี่ยงเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 ใหม่ แล้วบันทึกไว้ทุกกระบวนการ เป็นหลักฐานทั้งภาพเคลื่อนไหว และเอกสาร สามารถตรวจสอบตอบความโปร่งใสได้

แม้แต่ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด สพฐ. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 มีนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. นั่งเป็นประธาน ก็ยังไม่เห็นข่าวคราวบรรยากาศการคิดอ่านหามาตรการป้องกันโควิด-19 ในช่วงวันที่มีการจับสลากเข้าเรียนชั้น ป.1 และชั้นเรียนอื่นๆ ตลอดจนช่วงการสอบคัดเลือก การรายงานตัวและการมอบตัว นักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ระหว่างช่วงเวลาที่กำหนดไว้

ที่น่าเป็นห่วงที่ว่า ระดับชั้น ม.1 สอบคัดเลือกวันที่ 22 พฤษภาคม และระดับชั้น ม.4 สอบคัดเลือกวันที่ 23 พฤษภาคม ประกาศผล วันที่ 24-25 พฤษภาคม ซึ่งนักเรียนยังต้องมาดูผลกันที่ ร.ร. จบลงด้วยให้นักเรียนรายงานตัวมาพร้อมกับผู้ปกครองอีกครั้งวันที่ 29-30 พฤษภาคม ถ้านักเรียนยังไม่มีที่เรียน ก็ยังให้ผู้ปกครองไปยื่นเรื่องเพื่อให้ สพท.จัดหาที่เรียนให้ได้ทันก่อนเปิดเทอม ซึ่งก็ใกล้กับวันเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน 2564

ด้วยนโยบายและคำสั่งของ สพฐ.ดังกล่าว อาจทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มคนที่โรงเรียนจนสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ลองพิจารณาดู  

ทั้ง ๆ ที่ รัฐบาลได้ประกาศและออกมาตรการมาเพื่อบรรเทาและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สู่การรับรู้ตลอดเวลา จนแทบจะกล่าวได้ว่า ในช่วงของนาทีต่อไปอาจจะเป็นอันตรายสำหรับทุกคนในประเทศนี้ เมื่อบ้านอาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนอีกต่อไป แต่ สพฐ.ดูคล้ายยังมองข้ามไม่ตระหนัก รับรู้

หรือหากจะย้อนไปดูนโยบายและแนวปฎิบัติการรับนักเรียนของโรงเรียน สพฐ.ปีการศึกษา 2564 ในระดับชั้น ม.1 และระดับชั้น ม.4 ที่ว่าให้คำนึงถึงโอกาสของนักเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน และให้คำนึงถึงโอกาสของนักเรียนที่จบชั้น ม.3 ให้ขึ้น ม.4 โรงเรียนเดิม แต่ทำไมยังต้องให้ไปสอบ ทำไมไม่คำนึงถึงโอกาสของนักเรียนที่อยู่ในละแวกนั้น หรือผู้จบในชั้น ม.3 โรงเรียนตนเอง

อีกทั้งหากนักเรียนยังไม่เต็มตามแผนของโรงเรียน สามารถประสานส่งต่อรับจากโรงเรียนอื่นได้ แต่ทำไมถึงกลับต้องให้ไปสมัครและไปสอบกันอีก แล้วประกาศผลวันที่ 24-25 พฤษภาคม นักเรียนก็ยังต้องเดินทางไปดูผล และยังต้องรายงานตัวพร้อมผู้ปกครองในวันที่ 29-30 พฤษภาคมอีกครั้ง การไป ๆ มา ๆ บ่อยครั้ง ย่อมมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 มิใช่หรือ

เท่ากับว่า เด็กและผู้ปกครองในกลุ่มนี้ รวมทั้งครูและบุคลากรโรงเรียน จะต้องเดินทางมาจากหลากหลายแหล่งไปรวมตัวกันในโรงเรียนถึง 3 หรือ 4 ครั้ง เพื่อให้ได้เข้าเรียน ทั้ง ๆที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ย่อมไม่อาจวางใจได้ เนื่องจากเกิดได้จากการแพร่จากคนสู่คนเร็วมาก แต่ยังไม่แสดงอาการที่รุนแรงในตอนแรก แล้วการรวมกลุ่มกันของผู้ปกครองและนักเรียน ไม่ว่าจะมาจากภายในหรือภายนอกโรงเรียนก็ตาม ล้วนเป็นการสัมผัสโดยไม่รู้ตัว 

ซึ่งความกังวลของคนเป็นพ่อแม่และครู คงไม่ได้กังวลแค่การติดโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังกังวลด้วยว่า ถ้าติดโรคขึ้นมาแล้วจริงๆ จะทำยังไง ใครจะดูแล จะเข้าโรงพยาบาลได้ไหม รวมถึงประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษา ซึ่งยังไม่รู้ว่าประกันที่ทำไว้จะครอบคลุมหรือไม่ขนาดไหน?

ส่องไปในหลายโรงเรียนในสังกัด สพฐ.หลายแห่งใน ตจว.ได้ใช้ระบบการรับสมัครผ่านสื่อออนไลน์ที่เด็กและสังคมคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน โดยอัพโหลดเอกสารของโรงเรียน การสมัครเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ทั้งในรอบทั่วไป ห้องเรียนปกติ หรือรอบความสามารถพิเศษ เปิดให้ยื่นความจำนงและส่งเอกสาร ตลอดผลการเรียนเฉลี่ยมาประกอบ กำหนดคุณสมบัติและรายละเอียดตลอดขั้นตอนไว้ชัดเจน อาทิ นักเรียนที่มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ SCIMATH-GIFTED ภาษาอังกฤษ ENGLISH-G มีความสามารถพิเศษด้านใด จะต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยในรายวิชาต้องไม่น้อยกว่าเท่าใด จึงจะมีสิทธิสมัครในโปรแกรมนั้น ๆ

และให้เด็กที่สมัครทดสอบทางวิชาการ ผ่านระบบออนไลน์ ทางเว็บไซต์ของสถานศึกษานั้น ๆ โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ พร้อมการแจ้งให้นักเรียนทราบลำดับการไปมอบตัว  รายละเอียดห้องเรียน เลขประจำตัวนักเรียน เอกสารที่ต้องเตรียมแจ้งไว้ในลิงค์ โดยมีครูของโรงเรียนจะเริ่มตรวจสอบและอนุมัติผลการสมัคร ตามปฏิทินการรับนักเรียน นักเรียนที่ได้รับคัดเลือกต้องรายงานตัวและชำระค่าบำรุงการศึกษา ผ่านระบบออนไลน์ซึ่งจะเปิดให้รายงานตัวได้

หากนักเรียนมีปัญหาไม่สามารถสมัครผ่านระบบออนไลน์ได้ นักเรียนสามารถเดินทางมาสมัครด้วยตนเอง ก็เท่ากับลดความเสี่ยงลงได้ในระดับดีทีเดียว

หลายโรงเรียนใน ตจว.ได้มีประกาศแจ้งเปิดระบบรับรายงานตัว และชำระเงินบำรุงการศึกษา ผ่านระบบออนไลน์ สำหรับนักเรียน ผู้ปกครองที่สนใจสั่งซื้อชุดนักเรียน สั่งผ่านระบบออนไลน์ได้ตามลิงค์ที่กำหนดไว้เช่นกัน และหากร้านค้าใดต้องการประชาสัมพันธ์สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่เกี่ยวกับนักเรียน ก็ให้แจ้งเข้าไปในช่องทางออนไลน์โรงเรียน ซึ่งหลายแห่งมีบาร์โค้ช “นักเรียนชนะ” ให้แสกนไว้ให้เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือเด็กและผู้ปกครองในยามที่ต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้

ต้องชื่นชมกับสถานศึกษาเหล่านี้ที่ได้ปฏิบัติการใหม่อย่างเหนือชั้นกว่า สพฐ. รวมถึงกรณีการจับสลากเข้าเรียนชั้น ป.1 ของโรงเรียนอนุบาลร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม 2564 ณ ห้องประชุมอาคารปทุมทอง โรงเรียนอนุบาลร้อยเอ็ด ได้ใช้วิธีจับสลาก โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิจับสลากแทนผู้ปกครอง และมีการถ่ายวิดีโอไว้เป็นหลักฐานแสดงความโปร่งใส เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่กำลังระบาดอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม โดยการปฏิบัติของโรงเรียนต่างๆ ในภาพรวมตลอดช่วงปฏิทินการรับนักเรียนที่ปรับแล้วปรับอีกของ สพฐ. จะกล้ารับประกันหรือไม่ว่า หากใครสักหนึ่งคนในจำนวนนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่พาเด็ก ๆ มาโรงเรียน รวมถึงครูในโรงเรียนนั้น ๆ ที่เข้ามาเพื่อดำเนินกิจกรรมตามวันเวลาดังกล่าว ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งโรงเรียนและบ้านก็คงไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนอีกต่อไป

แล้วใครจะรับผิดชอบและชดใช้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. หรือ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. หรือ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน บอรด์ กพฐ. 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)