"ก.ค.ศ."เอ็มโอยู!สภาครุศาสตร์-ราชบัณฑิตย มุ่งพัฒนา‘ผลิตครูฯ-เกณฑ์วิทยฐานะ'

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ว่า ที่ประชุม ก.ค.ศ.มีมติเห็นชอบการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย

สืบเนื่องจากสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานผลิตครูที่ต้องนำนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่รัฐกำหนดไปปฏิบัติในการผลิตและพัฒนาครูฯ ได้มีหนังสือขอสนับสนุนการกำหนดเกณฑ์การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมติที่ประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย และเห็นชอบให้มีการลงนามความร่วมมือข้อตกลง (MOU) ระหว่างสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทยกับสำนักงาน ก.ค.ศ.

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาคุณภาพการผลิตครูและผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ 2) ประเมินผู้ขอรับการประเมินวิทยฐานะ 3) พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานวิทยฐานะ 4) พัฒนาเกณฑ์วิทยฐานะ และ 5) เรื่องอื่นๆ

ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 กำหนดให้สำนักงาน ก.ค.ศ. มีอำนาจและหน้าที่เป็นผู้ดำเนินงานในหน้าที่ของ ก.ค.ศ. ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และเสนอแนะนโยบาย เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนภารกิจอื่นตามที่ ก.ค.ศ.มอบหมาย

ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้มีนโยบายเร่งด่วน (5 คานงัด) ในการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบด้วย 1.การกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะใหม่ 2.การปรับระบบการประเมินวิทยฐานะ ควบคู่กับระบบการประเมินเงินเดือน 3.การปรับระบบการพัฒนาผู้บริหารก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง 4.การกำหนดเกณฑ์อัตรากำลังของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง และ 5.การวางแผนการผลิตและระบบคัดกรองครูที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษา

ดังนั้น การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่จะเกิดขึ้นนี้ ถือเป็นการดำเนินงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน (5 คานงัด) ในการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หากได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำด้านการศึกษาและวิชาการ ด้านการพัฒนางานวิจัย เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จากสถาบันหรือหน่วยงานทางวิชาการที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสูงจากสังคม จะทำให้การพัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูงมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เช่น ความร่วมมือในการพัฒนาระบบการสรรหาที่ต้องมีการเชื่อมโยงกับระบบการผลิตครูการสนับสนุนในการเป็นกรรมการประเมินวิทยฐานะ การพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนเข้าสู่ตำแหน่งในรูปแบบใหม่ การออกแบบหลักสูตรที่จะนำมาใช้ในแต่ละด้าน รวมทั้งการสนับสนุนงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

“ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่า เพื่อประโยชน์ของทางราชการ จึงเห็นชอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.รับการสนับสนุนทางวิชาการและการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย และเห็นชอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ดำเนินการขอรับการสนับสนุนทางวิชาการและการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน” รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และประธาน ก.ค.ศ.กล่าว

ด้าน นายประวิต เอราวรรณ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องการผลิตและการใช้ครู เพื่อให้สอดคล้องเกณฑ์อัตรากำลังใหม่ที่ ก.ค.ศ.กำหนด และเน้นเรื่องคุณภาพการผลิตให้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ก.ค.ศ.ยังมีความต้องการอาจารย์ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เข้ามาร่วมพัฒนา เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินวิทยฐานะใหม่ เนื่องจาก ก.ค.ศ.ต้องการที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการประเมินโดยเน้นที่สมรรถนะมากขึ้น ไม่ใช่การประเมินแบบเอกสารวิชาการ

“ส่วนความร่วมมือกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา จะเน้นการสนับสนุนเรื่องงานวิจัย งานวิชาการ และการบริหารงานบุคคล”

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)