ร้อง‘ตรีนุช’สางเงินกู้ ช.พ.ค. จี้สอบปม บ.ประกัน อู้ฟู่รับค่าคอมฯแสนกรมธรรม์

‘อดีต ผอ.สกสค.ชัยภูมิ’ ห่วงครูฯเป็นหนี้ ธ.ออมสินถูกฟ้องล้มละลาย ร้อง ‘ตรีนุช’ ช่วยสางเงินกู้ ช.พ.ค. จี้สอบปมบริษัทประกันชีวิต อู้ฟู่!รับเงินค่าคอมมิชชั่นมหาศาล หลักแสนกรมธรรม์

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผอ.สกสค.) จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารออมสินได้มีแจ้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานอกประจำการ ให้เข้าร่วมมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้จนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีหรือบังคับคดีในคดีแพ่งและคดีล้มละลาย 

โดยอ้างสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และเศรษฐกิจโดยรวม ประกอบกับศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้หักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วคงเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ทำให้ไม่สามารถหักเงินเดือน หรือเงินบำนาญชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขธนาคาร

นายสานิตย์ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว ตนจึงเป็นห่วงว่า อาจจะมีข้าราชการครูฯนอกประจำการจำนวนไม่น้อย ที่อาจสุ่มเสี่ยงอาจจะถูกดำเนินคดีหรือบังคับคดีในคดีแพ่ง และคดีล้มละลายดังกล่าวได้

ตนจึงอยากเรียกร้อง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และประธานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้เข้ามาช่วยสะสางบรรเทาปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศจำนวนหลายแสนคน ที่เป็นหนี้ในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) โครงการที่ 5-7 รวมจำนวนหลายแสนล้านบาท แบบมาราธอนมากว่า 10 ปีแล้ว 

ซึ่งก่อนหน้านี้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.บางท่าน เคยมีแนวคิดจะเสนอให้ธนาคารออมสินลดดอกเบี้ยลงให้มากที่สุด อย่างน้อย 1% เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้รับดอกเบี้ยจากครูฯกว่า 4 แสนคน ไปจำนวนมหาศาลแล้ว

แต่ถ้าธนาคารออมสินปฏิเสธ ก็จะให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ส่วนกลาง และสำนักงาน สกสค.แต่ละจังหวัด ประสานสถาบันการเงินอื่นมาซื้อหนี้คงเหลือคิดดอกเบี้ยต่ำของครูฯลูกหนี้ที่มีวินัยทางการเงินดีไปบริหารจัดการแทน ซึ่งเชื่อว่าจะมีหลายสถาบันการเงินให้ความสนใจที่จะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินให้กับครูฯ

ตรีนุช เทียนทอง

ถ้า น.ส.ตรีนุชมีนโยบายที่จะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินครู ซึ่งมีแนวทางความเป็นไปได้ดังกล่าวอยู่แล้ว ตนก็ขอเรียกร้องให้ น.ส.ตรีนุชดำเนินการโดยเร็ว และเชื่อมั่นว่า น.ส.ตรีนุชจะได้รับการยอมรับและศรัทธาจากครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วทั้งประเทศอย่างแน่นอน

รวมทั้งยังช่วยแก้ภาพลักษณ์ให้กับสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.เกี่ยวกับโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.อีกด้วย ซึ่งถูกครูฯโจมตีมาโดยตลอดว่า หลอกลวงครูให้กู้ โดยโฆษณาชวนเชื่อว่า “กู้วงเงินเท่านี้ ผ่อนเดือนละเท่านั้น กี่งวดหมด” แต่เอาเข้าจริงจำนวนหนี้ยังคงเหลืออยู่ให้ผ่อนไปอีกยาวแบบมาราธอน 

อดีต ผอ.สกสค.จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระ ยังกล่าวถึงการทำหนังสือในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ที่ สค.ชย.๐๐11/๒๕๖๔ ส่งถึง น.ส.ตรีนุช เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเงื่อนงำกรณีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ชุดปัจจุบันได้คัดเลือก 2 บริษัทประกันชีวิต เข้ามารับทำประกันเงินกู้ในโครงการ ช.พ.ค.5-7 ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาว่า ส่ออาจมีเงื่อนงำเรื่องเอื้อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่

เพราะบริษัทประกันที่สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ได้เลือกเข้ามา ย่อมได้รับประโยชน์จากการรับทำประกันให้กับสมาชิก ช.พ.ค.ผู้กู้เงินโครงการ ช.พ.ค.5-7 ซึ่งมีจำนวนหลายแสนคน จึงส่ออาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เลือกในสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.หรือไม่ เพราะการทำประกันชีวิตย่อมมีค่าคอมมิชชั่นเป็นค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูงนั้น

โดยนายสานิตย์กล่าวว่า น.ส.ตรีนุชยังไม่ได้แจ้งตอบรับเรื่องนี้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ ตนจะทำหนังสือทวงถาม น.ส.ตรีนุช พร้อมกับส่งข้อมูลไปเพิ่มเติม เพื่อชี้ให้เห็นเงื่อนงำข้อสงสัยหลายประการ เช่น ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.เกี่ยวกับจำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้กู้เงินในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.5-7 ที่ครบกำหนดจะต้องทำประกันเงินกู้รอบใหม่จำนวนหลักแสนคน ซึ่งสะท้อนถึงเงินค่าคอมมิชชั่นที่เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลด้วย

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2562 มีสมาชิกครูฯที่ครบกำหนดจะต้องทำประกัน จำนวน 171,051 คน, ปี พ.ศ.2563 จำนวน 125,515 คน, ปี พ.ศ.2564 จำนวน 98,130 คน, ปี พ.ศ.2565 จำนวน 36,011 คน, ปี พ.ศ.2566 จำนวน 13,965 คน และปี พ.ศ.2567 จำนวน 2,927 คน รวมจำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้กู้เงินในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.5-7 ที่ครบกำหนดต้องทำประกันเงินกู้รอบใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 447,599 คน ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินมหาศาลของวงการประกันภัยที่หลายๆ บริษัทต่างต้องการเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ก้อนมหาศาลนี้

 อรรถพล ตรึกตรอง

นอกจากนี้ ในสมัยที่นายอรรถพล ตรึกตรอง ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 ได้เชิญบริษัทประกันชีวิต จำนวน 13 บริษัท มาร่วมประชุมเพื่อให้เสนอสิทธิประโยชน์แก่ครูมากขึ้น โดยมีบริษัทประกันฯมาร่วมประชุม 8 บริษัท กับ 1 หน่วยงาน

ได้แก่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา จำกัด (มหาชน), บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน), บมจ.เอฟดับ บลิวดี ประกันชีวิต, บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รวมทั้งมีโบรคเกอร์จากบริษัทประกันอื่นๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์อีกจำนวนหนึ่งด้วย

แล้วเหตุใดในยุคนายธนพร สมศรี เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.คนปัจจุบัน จึงไม่เปิดกว้างหรือเปิดประมูลหาบริษัทประกันที่มีความมั่นคง และให้เบี้ยประกันราคาถูก ให้กับครูฯผู้กู้เงินได้เลือกทำประกันตามสิทธิ์ 

"แต่จู่ๆ สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. โดยนายธนพร กลับจัดประชุมการทำประกันสินเชื่อของสมาชิกครูฯผู้กู้เงินโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 โดยเชิญบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเพียง 2 บริษัท ที่สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ได้เลือกให้มาเป็นผู้ให้ความคุ้มครองการประกันสินเชื่อให้แก่สมาชิกครูฯผู้กู้เงิน" อดีต ผอ.สกสค.จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)