"ว.การอาชีพพุทธมณฑล" จัดประชุมวิชาการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ดร.อรรถพล สังขวาสี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นประธานเปิดโครงการ "ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดนิทรรศการการจัดอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ" และเปิดอาคารเรียนรวม 3 อาคารหอพักนักศึกษาพิการ

โดยมีนางสาวสลารีวรรณ ทัพทวี นายอำเภอพุทธมณฑล ประธานอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) นครปฐม รองคณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และนางณชนกพรหมพร บุญชูศรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เข้าร่วมงาน ณ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม   

ดร.อรรถพล กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่ให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เฉพาะอย่างยิ่งทางการศึกษา เป็น 1 ใน 7 วาระเร่งด่วนตามนโยบาย Quick Win ของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในส่วนของการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนการจัดอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการมาสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม สนับสนุนงบประมาณจัดการศึกษาภายใต้โครงการ "อาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ" ให้กับสถานศึกษาเปิดโอกาสให้ผู้เรียนพิการได้เข้าศึกษาต่อสายอาชีพ รวมทั้งเพื่อสร้างความเข้มแข็งในสถานศึกษาอาชีวะเฉพาะทางในสังกัด สอศ.ทั้ง 6 แห่ง ซึ่งวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑลเป็น 1 ใน 6 แห่งดังกล่าว

โดยให้มีความพร้อมในการรองรับผู้เรียน สนับสนุนการจัดสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอน สิ่งอำนวยความสะดวกที่สอดคล้องเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้เรียนพิการ การบูรณาการการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการเรียนรวม (Inclusive Education) ฝึกทักษะการดำรงชีวิตอย่างมีอิสระ ฝึกทักษะงานอาชีพในระดับอาชีวศึกษา และสร้างงานเพื่อให้ผู้เรียนพิการมีอาชีพ และเข้าสู่ระบบการจ้างงานผู้พิการในสถานประกอบการ หรือการเป็นผู้ประกอบการเอง จนสามารถเลี้ยงดูตนเอง พึ่งพาตนเองได้ โดยไม่เป็นภาระของสังคม


รองเลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้รู้สึกได้ถึงความตั้งใจของผู้จัดที่ต้องการนำเสนอผลงานทางวิชาการ วิชาชีพการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ การจัดการศึกษาแบบ Universal design ของสถานศึกษา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับมุมมองมิติการให้โอกาสทางการศึกษาสายอาชีพ ซึ่งเป็นประโยชน์ที่สามารถนำกลับไปใช้ในการพัฒนาทางด้านศึกษาสำหรับคนพิการในหน่วยงาน องค์กร หรือสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี

ถึงแม้ต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียน นักศึกษาพิการ เพราะสามารถเรียนในรูปแบบออนไลน์ร่วมกับผู้เรียนปกติ และนำเอาความรู้ความสามารถไปฝึกทักษะเพิ่มเติมในระบบการเรียนทวิภาคีกับสถานประกอบการได้ เมื่อจบการศึกษาแล้วก็สามารถนำความรู้ความสามารถไปประกอบอาชีพร่วมกับคนปกติ และดำรงชีวิตพึ่งพาตัวเองได้ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตโควิด-19

"สอศ.ได้เน้นย้ำการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบหลักสูตรระยะสั้น แก่นักเรียนนักศึกษาพิการทั่วประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกอาชีพที่สนใจได้ตามศักยภาพของผู้เรียนเอง” ดร.อรรถพล กล่าว


ด้าน นางณชนกพรหมพร บุญชูศรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล กล่าวเสริมว่า วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล เป็นสถานศึกษาเฉพาะทางความพิการ เปิดรับนักเรียน นักศึกษาที่มีความพิการเข้าศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปชว.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในสาขาวิชาช่างไฟฟ้า สาขาวิชาดิจิทัล กราฟิก สาขาวิชาการโรงแรม และสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเรียนร่วมกับนักเรียน นักศึกษาปกติ (Inclusive Education) 

ปัจจุบันวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล มีนักเรียน นักศึกษาพิการ จำนวน 55 คน แบ่งเป็น นักเรียน นักศึกษาพิการบกพร่องทางการได้ยิน นักเรียน นักศึกษาพิการบกพร่องสติปัญญา นักเรียน นักศึกษาบกพร่องทางการเรียนรู้ และมีแนวโน้มที่นักเรียน นักศึกษาพิการจะเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑลเพิ่มมากขึ้นทุกปีการศึกษา


"วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล ยังเป็นสถานศึกษาต้นแบบเรียนรวมในระบบทวิภาคี เป็นสถานศึกษานำร่องจัดอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ โดยมีศูนย์บริการสนับสนุนนักเรียน นักศึกษาพิการ คอยให้การสนับสนุนช่วยเหลือดูแลในการจัดการเรียนการสอน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน พัฒนาทักษะการดำรงชีวิต มีการจัดบริการล่ามภาษามือ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกที่สอดคล้องต่อการดำรงชีวิตของผู้เรียนพิการ มีการจัดสวัสดิการหอพัก ทุนการศึกษา และการให้คำปรึกษา"

ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล กล่าวต่อว่า วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑลยังได้เน้นให้การจัดการเรียนการสอนเป็นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี เนื่องจากความบกพร่องที่ขาดหายไปทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนพิการไม่ทัดเทียมกับผู้เรียนปกติ การปฏิบัติจะช่วยเพิ่มพูนทักษะและสอดคล้องต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนพิการ เพื่อให้มีทักษะฝีมือที่ดีก่อนเข้าฝึกอาชีพในสถานประกอบการ และเข้าสู่ตลาดแรงงาน สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)