ได้เวลา Big Cleaning สกสค. ภาพลักษณ์ "ไม่ครองใจ-ไม่คุ้มราคา" ??

เสวนากับบรรณาธิการ

  

เสียงสะท้อนภาพลักษณ์ สกสค.ไม่ครองใจ

ได้เวลายกเครื่อง แล้วหรือยัง??

 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

 

ไม่มีเพียงข้อร้องเรียนของกลุ่มเพื่อนข้าราชการครูบำนาญ กระทรวงศึกษาธิการ ส่งตรงถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และประธานคณะกรรมการ สกสค. ให้เร่งสะสางตลอดเงื่อนงำความไม่โปร่งใสในการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร รวม 64 จังหวัด ทั้งนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกครูและบุคลากรทางการศึกษาเกือบ 1 ล้านคนทั่วประเทศ

 

นอกจากนี้ ยังมีการยื่นให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องการทำประกันสินเชื้อเงินกู้ในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) โครงการที่ 5-7 ที่ว่า มีกลุ่มเพื่อนข้าราชการครูฯบำนาญจำนวนมิใช่น้อย ที่ทำประกันตั้งแต่เริ่มกู้เงินธนาคารออมสิน โดยทางสำนักงาน สกสค.หามาให้ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วกับบริษัทประกันภัย โดยระบุกรมธรรม์มีอายุ 9 ปี และหลังจากนั้น สกสค.ให้ต่อสัญญาประกันเงินกู้แบบปีต่อปี

 

 

แต่ในปี 2564 นี้ สิ่งที่น่ากังวล คือ  ได้เลยกำหนดการต่อสัญญาประกันมา 3 เดือนแล้ว สกสค.ส่วนกลางยังไม่แจ้งให้บรรดาสมาชิกทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการต่อสัญญาเมื่อไหร่ หรือว่ามีการยกเลิกเปลี่ยนแปลงอะไรไปแล้ว แม้จะพยายามติดต่อ สกสค.ตามหลายหมายเลขที่แจ้งไว้  แต่ไร้ซึ่งผู้รับสาย ฝากข้อความไว้ก็เงียบ ไม่เห็นวี่แววใด ๆ จึงฝากสื่อมวลชนช่วยสอบถามกันมา ณ ที่นี้ เพราะเป็นความเดือดร้อนที่มิอาจรอได้

 

สมาชิกครูและบุคลากรทางการศึกษาบางท่านที่อยู่ใต้สุด เหนือสุด หรือต่างจังหวัดแจ้งว่า กู้เงิน ช.พ.ค.โครงการ 5 เคยต่อประกันมาแล้ว 1 ครั้ง ขณะนี้สัญญาได้หมดอายุมาแล้ว 1 ปี 6 เดือน ติดต่อกับธนาคารออมสินก็ได้รับคำตอบแบบ AI บอกว่า ให้ติดต่อกับ สกสค. เมื่อติดต่อไม่ได้ ก็เลยไม่ทราบว่าจะให้ต่อประกันกับบริษัทอะไร แล้วจะไม่ให้เครียดได้ยังไง  

 

มีสมาชิกท่านหนึ่ง อายุถึง 75 อยู่แถวอีสาน บอกว่าประกันภัยไม่รับประกันแล้ว จะถาม สกสค.เรื่องการประกันเงินกู้ ช.พ.ค. โทรไปก็ไร้คนมารับสายชี้แจง ถ้าสมาชิกท่านใดตายช้าก็คงทุกข์ใจมิใช่น้อย จึงมักมีคำบ่นในกลุ่มสมาชิกตามมาเสมอที่ว่า อย่างนี้เขาเรียกกันว่าส่งเสริม สนับสนุน หรือเอาเปรียบสมาชิกกันหรือเปล่า หากผู้ใดทราบใคร่ขอความกรุณาตอบหน่อยว่า ทำไม สกสค.ไม่แจ้งให้ทราบ แถมติดต่อยากจริง ๆ  

 

สมาชิกครูฯอีกท่านหนึ่งร้องเชิญชวนสมาชิกกู้เงิน ช.พ.ค.ทุกโครงการ ตั้งแต่โครงการ ช.พ.ค.1 ร่วมกับธนาคารกรุงไทย โครงการ ช.พ.ค. 2 ถึง ช.พ.ค. 7 และโครงการ ช.พ.ส. ร่วมกับธนาคารออมสิน ควรร่วมทำหนังสือถึงนายธนพร สมศรี เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ได้พิจารณาต่อสัญญาประกันเงินกู้ให้กับสมาชิกที่มีอายุ 75 ปี ขึ้นไปจนถึง 90 ปี

 

เนื่องจากผู้ที่กู้ตามโครงการ ช.พ.ค.5 มา 10 กว่าปีแล้ว ยังมีเงินต้นค้างคาอีกประมาณ 400,000 บาทเศษ ดังนั้น สกสค.กับธนาคารออมสิน ซึ่งร่วมกันเปิดโครงการฯ ควรต้องดูแลผู้กู้ให้ตลอดรอดฝั่ง มิใช่มาลอยแพกันอย่างนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

 

 

หากไม่มีความคืบหน้า จะมีคณะผู้ทำหนังสือไปยื่น ถึง รมว.ศธ.ด้วยตัวเอง เนื่องจากทนไม่ไหวที่ถูกธนาคารออมสินเอาเปรียบตลอดเวลา กู้ 600,000 บาท เป็นดอกส่งไปเท่าไรแล้ว เขาบอกสั้น ๆ ว่าเป็นแบงก์รัฐ แต่บริหารแบบนายทุนหน้าแดงฉ่ำเอาเปรียบกันสุดๆ หรือเปล่า?? ทำไมไม่คิดถึงความยากลำบากของผู้กู้ ซึ่งเป็นเหล่าเพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และเป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติบ้าง??

 

แล้วขอย้อนไปที่ผลประชุมของคณะกรรมการสรรหาบริษัทประกันสำหรับผู้กู้เงินโครงการ ช.พ.ค. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ที่มีทั้งผู้แทนจากธนาคารออมสิน ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปก) คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. และมีนายธนพร สมศรี เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ซึ่งขณะนั้นเป็นรองฯ ร่วมประชุมอยู่ด้วย 

 

 

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความคุ้มครองตามกรมธรรม์การประกันที่เป็นประโยชน์สูงสูด เพื่อทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความคุ้มครองกรมธรรม์ที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ต้องไม่ด้อยกว่าโครงการเดิม และต้องต่อประกันทุกราย

 

ถามว่า ทำไมวันนี้ยังเงียบกริ้บ ไม่มีเสียงกระเซ็นให้สมาชิกได้รับรู้ถึงหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ว่าเป็นอย่างไร

 

สวนทางกับการตีปี๊บโอ้อวดรายงานผลปฏิบัติราชการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ.2563 ที่ระบุว่า สกสค.มีการดำเนินงานตามตัวชี้วัดในเชิงปริมาณ : ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับสวัสดิการ สวัสดิภาพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และได้รับการคุ้มครองสิทธิ จำนวน 1,552,725 คน และที่มีผลในเชิงคุณภาพ : ครูและบุคลากรทางการศึกษา พึงพอใจการให้บริการ ร้อยละ 83.20

 

ปั้นข้อมูลที่ไหนมารายงาน???

 

 

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงบอกรัฐบาลจะแก้หนี้คนไทยกลุ่มต่างๆ ได้แก่ หนี้ กยศ. 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน, หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไชค์ 6.5 ล้านบัญชี, รวมถึงหนี้กลุ่มครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี

 

โดยจะมีทั้งไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน เพื่อลดการดำเนินคดี ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้ รวมถึงปรับลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น เพื่อจะได้มีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้นจากภาระหนี้ที่ดอกเบี้ยลดลงได้ 2-3% ต่อปี หากทำได้ดังว่าและทำได้เร็ว น่าจะเป็นข่าวดี 

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่กล่าวมานั้น ล้วนกำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาหามาตรการเพื่อดำเนินการ มีคณะทำงานในเรื่องดังกล่าว ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็ชักไม่แน่ใจว่า จะรวดเร็วได้ขนาดไหน 

    

ดูแค่เรื่องที่ธนาคารออมสินส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ที่สธ.698/2564 วันที่ 19  พฤษภาคม 2564  เรื่องขอความอนุเคราะห์แจ้งข้าราชการ/ลูกจ้าง/ข้าราชการบำนาญ/ครูโรงเรียนเอกชน เข้าร่วมมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้สำหรับสินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อขอให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ธนาคารออมสิน สาขาที่ใช้บริการ หรือลงทะเบียนทาง QR Code หรือคลิก https://ln15.gsb.or.th/web-lnth ภายใน 30 มิ.ย.2564 นี้

 

 

เมื่อย้อนดูไทม์ไลน์ของหนังสือทีธนาคารออมสิน ส่งถึงสำนักบริหารทรัพย์สิน สกสค. ลงรับเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2564 เวลา 14.00 น. ส่งให้กลุ่มการเงิน บัญชี และทรัพย์สิน สกสค.รับเมื่อวันที่ 24 พ.ค.2564 เวลา 09.40 น. ที่ใช้เวลาถึง 4 วัน

 

จากนั้นเพิ่งจะออกเป็นข่าววันที่ 14 มิ.ย.2564 ใช้เวลาภายใน สกสค.รวม 19 วัน กว่าจะแจ้งสมาชิกได้รับรู้ ก็จะหมดเขตสิ้นเดือนมิถุนายนนี้กันแล้ว

 

สาระสำคัญของหนังสือที่ทางธนาคารออมสิน มีว่าปัจจุบันพบครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลทางอ้อมต่อรายได้ครอบครัว ธนาคารออมสินจึงออกมาตรการผ่อนปรนชำระหนี้ สกัดหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียที่อาจถูกดำเนินคดีได้ ส่งผลเสียทางเครดิตและกระทบต่อหน้าที่ราชการได้ในอนาคต

 

 

ทั้งนี้ ข้าราชการครู ลูกจ้างและบุคลากรทางการศึกษาที่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง สามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระเงินต้น และเลือกจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ตามแผนการชำระหนี้ที่ธนาคารกำหนด เป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือนานที่สุดไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.2566 โดยการเลือกแผนการชำระหนี้ตามความสามารถในการผ่อนชำระของตนเอง ผ่านแอป MyMo หรือที่เว็บไซต์ธนาคาออมสิน  www.gsb.or.th ซึ่งเปิดให้แจ้งความประสงค์จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 นี้เท่านั้น 

 

สำหรับข้าราชการครูที่เกษียณอายุแล้ว และยังไม่เคยใช้สิทธิบำเหน็จตกทอดมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน สามารถขอกู้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการบำนาญฯ ที่ผ่อนปรนให้ใช้บำเหน็จตกทอดเป็นหลักประกันในการกู้ และนำเงินกู้ไม่ต่ำกว่า 50% ไปชำระหนี้เดิมกับธนาคารได้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ คงที่ 2.00% ต่อปี นานถึง 10 ปี

 

หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อย MRR-2.50% ต่อปี ให้วงเงินกู้ 100% ของเงินบำเหน็จตกทอด ผ่อนชำระนาน 30 ปี

 

โดยสอบถามรายละเอียดได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา หรือติดต่อสาขาที่ใช้บริการสินเชื่ออยู่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ GSB Contact Center โทร. 1115 และที่ facebook : GSB Society

 

ทั้ง ๆที่ โดยบทบาทเกี่ยวข้องของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ควรกระตือรือร้น ออกมาช่วยทำหน้าที่อธิบายขยายความในทุกข้อคำถาม อำนวยความสะดวก เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน มีกระบวนการดำเนินการที่รวดเร็ว

 

สมกับคำปั้นแต่ง "เป็น สกสค.ยุคใหม่ ครองใจผู้รับบริการ" คุ้มค่าราคาจ้างที่ปรึกษาจัดทำแผนดิจิทัลและพัฒนาระบบสารสนเทศ ของสำนักอำนวยการ กลุ่มเทคโนโลยีและสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร สกสค. ด้วยเม็ดเงินมิใช่น้อย

 

 

ผ่านมาแล้วเกือบปี แต่ระบบสารสนเทศ ยังไม่เห็นผลความคืบหน้าในการพัฒนาให้สมาชิกได้รับประโยชน์จากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 แต่อย่างใด

 

 

ดังนั้น การประกาศเจตจำนงสุจริตในการบริหารงานของ นายธนพร สมศรี ลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. "ยุคใหม่ ครองใจผู้รับบริการ" ดูออกจะเลื่อนลอย ยากที่จะเป็นจริง??

 

ยิ่งทำให้ผู้คนในสังคมอดที่จะหวนย้อนนึกถึงภาพชุดเก่า ๆ ของผู้บริหาร สกสค.ในยุคหนึ่งก่อนนี้ ที่ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องหน้าฝืนทำหน้าชื่นอกตรม หวานอมขมกลืน จนทุกวันนี้อย่างช่วยไม่ได้ และ เสียงสะท้อนถึง สกสค. ต่อภาพลักษณ์องค์กร "ไม่ครองใจสมาชิก"

 

น่าจะได้เวลาบิ๊กคลีนนิ่งองค์กร สกสค.ทุกซอกมุมอย่างจริงจัง ได้แล้วหรือยัง ??

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)