'ตรีนุช'โชว์นโยบาย Quick Win ขับเคลื่อนศูนย์อาชีวะ CVM 25 แห่งทุกภูมิภาค

 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงาน (Quick Win) ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ด้านความปลอดภัยของผู้เรียน และการขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษาว่า เนื่องด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน

ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการต้องเตรียมผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และการเตรียมผู้เรียนเพื่อเข้าสู่การทำงาน ทั้งในรูปแบบอิสระ และการเข้าสู่ตลาดงาน รวมไปถึงการจัดเตรียมกำลังคนเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เมื่อสถานการณ์ลงทุนภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ธุรกิจและบริการกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง 

โดยวันนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดตั้งศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) ขึ้นในสถานศึกษาอาชีวศึกษาจำนวน 25 แห่ง ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ขับเคลื่อนการศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ผู้จบการศึกษาอาชีวศึกษามีอาชีพ และมีรายได้ที่เหมาะสม โดยการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) รวมถึงมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

 รมว.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) มีการจัดกลุ่มสถานศึกษา จำแนกตามสาขาวิชาที่เปิดสอน โดยคัดเลือกสถานศึกษากลุ่มความเป็นเลิศ (Excellent  Center) และเชี่ยวชาญเฉพาะที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการในสาขาที่สอดคล้องกับกลุ่มอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศ โดยการพัฒนาผู้เรียน 9 ใน 10 สาขา อุตสาหกรรมหลักเป้าหมายของประเทศ

ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 7.อุตสาหกรรมขนส่งและการบิน 8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และ 9.อุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึง 1 อุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา

ด้วยการยกระดับการเรียนการสอนทั้งระบบ โดยความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่การปรับหลักสูตรภาคทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติ อุปกรณ์เครื่องมือ ตลอดจนการพัฒนาครูวิชาชีพในสาขาวิชาต่างๆ ให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญ 

ซึ่ง สอศ.ได้รับความร่วมมือ สนับสนุนและดำเนินการผลิตและพัฒนากำลังคน จากคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) ซึ่งเป็นผู้แทนจากภาครัฐ และบริษัทชั้นนำของประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ธุรกิจและบริการ ซึ่งมีกลุ่มอาชีพ 28 กลุ่ม  ครอบคลุมในทุกสายงาน

"ดิฉันมองว่าจะตอบโจทย์ในการผลิตและพัฒนากำลังคนคุณภาพ ให้มีความสอดคล้องตามบริบทเชิงพื้นที่ สร้างกำลังคนคุณภาพของประเทศให้มีเพียงพอ และตรงกับความต้องการกำลังคนของประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และรองรับการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 4.0"

 รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) 25 แห่ง ยังมีอีกบทบาทหน้าที่หนึ่งคือ เป็นศูนย์กลางบริหาร ประสานการดูแลความปลอดภัยของสถานศึกษาอาชีวศึกษาในพื้นที่ให้มีความปลอดภัยสูงสุดแก่นักเรียน นักศึกษา เมื่อเข้าเรียนในสถานศึกษาอาชีวศึกษา

"โดยบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาชีวศึกษา เช่น ภาคเอกชน ที่ร่วมจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี การฝึกงาน เป็นต้น โดยศูนย์ฯจะมีการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารติดตามในภารกิจต่างๆ ซึ่งจะมีการเปิดตัวศูนย์ CVM ทั้ง 4 ภูมิภาคในเร็วๆ นี้" นางสาวตรีนุช กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)