มรส.ถ่ายทอดความรู้ต้มโคล้งปลาเม็ง-แกงส้มกบให้ชุมชนต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นอาชีพ

 ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี (มรส.) เปิดเผยว่ามรส.ได้ขยายองค์ความรู้ผลิตอาหารคาวจากวัตถุดิบในพื้นถิ่นสำเร็จรูป-แกงส้มกบบรรจุกระป๋อง พร้อมรับประทานและพกพาสส่งต่อสู่ชุมชนบ้านห้วยทราย ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองตามวิถีแห่งเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ดำเนินงานโครงการตามพระบรมราโชบาย ด้านการพัฒนาท้องถิ่น แผนงานแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในเขตชนบท ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ โดยโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้ดำเนินงานในพื้นที่เป็นปีที่ 2 ในปีแรกได้ดำเนินการศึกษาทุนและศักยภาพของพื้นที่และวางแผนการดำเนินงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ พบว่า พื้นที่บ้านห้วยทรายมีจุดเด่น เกี่ยวกับความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน และการรวมกลุ่มเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่หลากหลาย รวมทั้งมีความต้องการยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้จากอาชีพการทำสวนยางและสวนปาล์มซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังพบว่า ในพื้นที่มีศักยภาพในการผลิตปลาเม็ง ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดตามลำน้ำตาปีที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และการเลี้ยงกบโดยการรวมกลุ่มของเกษตรกร โดยประชาชนในพื้นที่มีความต้องการยกระดับให้เป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ในชุมชนเพื่อจำหน่ายนอกพื้นที่แต่ขาดองค์ความรู้ในการดำเนินการพัฒนาและยกระดับปลาเม็ง เป็นต้มโคล้งปลาเม็งแบบสำเร็จรูปพร้อมปรุงและรับประทาน ส่วนกบยกระดับเป็นแกงส้มกบแบบกระป๋องพร้อมรับประทาน โดยนำองค์ความรู้และนวัตกรรมที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยถ่ายทอดสู่ชุมชน ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ด้านเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และให้ประชาชนนำไปต่อยอดในภาคการผลิตเพื่อการจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชน

 

ด้านนายกิตติศักดิ์ นาคกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านห้วยทราย ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ประชาชนในชุมชนต้องการจัดตั้งกลุ่มเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น จึงได้มีแนวคิดขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อเติมเต็มการดำเนินงานให้เกิดเป็นกระบวนการที่ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้านการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหา ตลอดร่วมเปลี่ยนวิธีคิดแก่ชุมชนในการสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยยึดจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ซึ่งมีปลาเม็งและกบ ที่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมด้านเกษตรจนสามารถนำมาแปรรูปไปสู่ผลิตภัณฑ์ได้ และชุมชนมีแผนปฏิบัติการจดแจ้งมาตรฐาน GMP/GHP การคำนวณต้นทุนการผลิต และยกระดับให้เป็นอีกหนึ่งเมนูของชาวห้วยทรายที่ขึ้นชื่อหวังต่อยอดสู่การจัดจำหน่ายตลาดออนไลน์ต่อไป

สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารของชุมชน (พื้นที่ห้วยทราย) ดำเนินการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2564 ณ อาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารมรส. ได้รับเกียรติจากอาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นวิทยากรและถ่ายทอดการฝึกปฏิบัติการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาเม็งต้มโคล้งกึ่งสำเร็จรูป และการแปรรูปผลิตภัณฑ์แกงส้มกบบรรจุกระป๋อง  ให้มีรสชาติถึงใจและอร่อยถูกปากผู้ชื่นชอบอาหารรสชาติจัด สามารถพกพาและพร้อมรับประทานได้

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)