'เลขาฯ กพฐ.' ปลื้มชุมชน ให้ใช้ ร.ร.ตั้ง รพ.สนาม-พักคอยทั่ว ปท.แล้ว 510 แห่ง

 

 

'เลขาฯ กพฐ.' ปลื้ม! กก.สถานศึกษา-ชุมชน

อนุญาตตั้ง รพ.สนาม-พักคอย 510 ร.ร.แล้ว 

รองรับผู้ป่วย ตจว.ได้ถึง 12,358 เตียง

ช่วยลดอัตราเสี่ยงแพร่ระบาดเพิ่ม-เสียชีวิต

 

ดร.อัมพร พินะสา

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือประชาชนและสังคมเนื่องในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบัน ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากติดต่อกันหลายวัน มีการระบาดจากพื้นที่สีแดงเข้มกระจายไปทั่วประเทศ จนทำให้สถานพยาบาลไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย

ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนและสังคม และเป็นร่วมแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก และมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนอาคารสถานที่ภายในโรงเรียนให้เป็นโรงพยาบาลสนาม และสถานที่กักตัวหรือสถานที่พักคอยสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อในระยะต้น ไม่รุนแรง (ระดับสีเขียว)

ประกอบกับ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความตระหนัก ห่วงใยและเห็นด้วยว่าควรจะต้องเปิดพื้นที่โรงเรียน หรือสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ให้เป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ สพฐ.จึงมีนโยบายให้ใช้อาคารสถานที่ภายในสถานศึกษาเป็นที่รักษาขั้นเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และรอการจัดหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลักในพื้นที่ต่อไป

"ซึ่งจะช่วยแยกตัวผู้ติดเชื้อออกจากบ้านพักอาศัยและชุมชน ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตและลดการเสี่ยงแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

ตรีนุช เทียนทอง

ดร.อัมพร กล่าวต่อว่า จากการรายงานข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 พบว่า มีการอนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่ภายในสถานศึกษาสังกัด สพฐ.เพื่อจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม และสถานที่กักตัวหรือสถานที่พักคอย รวมถึงเป็นหน่วยบริการด้านสาธารณสุขทั่วประเทศแล้วรวมทั้งสิ้น 510 โรงเรียน

แบ่งเป็นโรงพยาบาลสนาม 57 โรงเรียน, โรงพยาบาลสนามสำรอง 12 โรงเรียน, โรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัว 16 โรงเรียน, สถานที่กักตัว 281 โรงเรียน, สถานที่พักคอย 134 โรงเรียน, สถานที่แวะเข้าห้องน้ำ 9 โรงเรียน, หน่วยคัดกรอง (Swab) 1 โรงเรียน และ 2 ค่ายลูกเสือ ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้มาถึง 12,358 เตียง

"ในการขออนุญาตใช้พื้นที่สถานศึกษาเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่พักคอยนั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแต่ละแห่ง ซึ่งเชื่อว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้มองเห็นปัญหาและรับรู้สถานการณ์จริงเป็นอย่างดี สามารถพิจารณาได้ว่าควรจะอนุญาตหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ใหญ่ในชุมชนที่ได้อนุญาตให้ใช้โรงเรียนเป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่พักคอยทั่วประเทศในเวลานี้เป็นจำนวนมาก"

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ในการใช้อาคารสถานที่ในโรงเรียนเป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่พักคอยนั้น จะมีหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เข้ามาดูแลช่วยเหลือ ทั้งการดูแลผู้ป่วย การจัดสถานที่ให้เหมาะสมกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงการทำความสะอาดสถานที่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และการจัดการกับขยะติดเชื้ออย่างเหมาะสม

"ขอให้นักเรียนและผู้ปกครอง ครู และชุมชน มีความมั่นใจได้ว่าอาคารสถานที่ในโรงเรียนจะมีความปลอดภัย สะอาด ถูกสุขลักษณะ เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข” 

ชมคลิป https://www.facebook.com/294100504293772/posts/1412725475764597/

 

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)