อว.จับมือ 11 มหาวิทยาลัยราชภัฏ สร้าง “วิศวกรสังคม”

 

อว.จับมือ 11 มหาวิทยาลัยราชภัฏ สร้าง “วิศวกรสังคม” ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มอบทุนวิจัยแห่งละ 750,000 บาท หนุนสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม ชุมชน

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “วิศวกรสังคมสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วย วิจัยและนวัตกรรม” ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 11 แห่ง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนโครงการบ่มเพาะและเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม

โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี พร้อมด้วย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธี ที่กระทรวง อว. เมื่อเร็วๆ นี้ 

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า บัณฑิตกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศล้วนผลิตโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชบายในด้านการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏ คือให้มุ่งเน้นในการพัฒนาคนและพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏก็ได้ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างดี

เช่น ในสถานการณ์โควิด-19 มหาวิทยาลัยราชภัฎร่วมกับ อว.ทำโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ เป็นกำลังของจังหวัด และวันนี้ยังมีเรื่องที่ยังความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นจำนวน 18.9 ล้านบาท แก่ อว. เพื่อจัดทำโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏก็จะต้องเป็นกำลังหลักในการจัดทำ

รมว.อว.กล่าวต่อว่า การลงนามความร่วมมือ “วิศวกรสังคมสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ครั้งนี้ ถือเป็นการสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 11 แห่ง โดย วช.จะมอบให้แห่งละ 750,000 บาท และขอยืนยันว่า อว.จะดูแลมหาวิทยาลัยราชภัฏให้เป็นพิเศษ เพราะตระหนักว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ    

ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า วิศวกรสังคม เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างชุมชนเข้มแข็งและสร้างเสริมสมรรถนะผู้เรียนให้สมบูรณ์ด้วยคุณลักษณะ 4 ประการ ได้แก่ การมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง การมีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม มีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี

ซึ่งวิศวกรสังคมที่ได้รับการพัฒนาทักษะ จะสามารถเป็นสื่อกลางในการประสานประโยชน์ของทุกภาคส่วนเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดการพัฒนา ให้นักศึกษามีความสามารถและทักษะเพื่อการดำรงชีวิตและการทำงานในอนาคต สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนได้ และเกิดการสร้างนวัตกรรมตามมา

มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 11 แห่งที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. คงจะนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เรากำลังเดินตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่าการศึกษาต้องสร้างคนไทยที่มีทัศนคติที่ดี สร้างพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง เข้มแข็ง เป็นพลเมืองดี มีวินัย จะเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นได้ภายใต้โครงการนี้

  

ขณะที่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.มีความพร้อมที่จะร่วมสร้างสุดยอดผู้นำวิศวกรสังคม เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยการสนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรที่ผ่านกระบวนการวิศวกรสังคม ให้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด นำความรู้ไปใช้ในการยกระดับนวัตกรรมสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

เพื่อให้วิศวกรสังคมเป็นกำลังหลักในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนชุมชนด้วยกระบวนการพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศได้ในอนาคต อีกทั้งยังสอดคล้องกับความเป็นไทยในบริบทโลก บนแนวคิดการสร้างปัญญา เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนสืบไป โดยหลังจากนี้ อว.ยังเตรียมขยายผลรูปแบบการพัฒนานี้ไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันการศึกษาอื่นๆ ต่อไป  

สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทั้ง 11 แห่ง ได้แก่ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา, มรภ.นครปฐม, มรภ.ราชนครินทร์, มรภ.เพชรบุรี, มรภ.นครสวรรค์, มรภ.เพชรบูรณ์, มรภ.ชัยภูมิ, มรภ.อุดรธานี, มรภ.สุราษฎร์ธานี, มรภ.ภูเก็ต และ มรภ.ยะลา

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)