มหาวิทยาลัยไทยในยุคโคโรนาไวรัส ปรับตัวอย่างไรได้บ้าง

มหาวิทยาลัยไทยในยุคโคโรนาไวรัส

ปรับตัวอย่างไรได้บ้าง

นวพร เรืองสกุล 

 

เมื่อ 5/ 08 /2021 ได้พูดถึงเรื่องเมื่อประสบเหตุการณ์สำคัญเฉพาะหน้า เราแก้ปัญหาพร้อมไปกับการปูเส้นทางสำหรับอนาคตด้วย (เหมือนคนสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ต้องทำวันนี้ เพื่อรับผลในอนาคต)

ครั้งนั้นได้ถามในตอนท้ายว่า ถ้าคุณเป็นอธิการบดี คุณจะทำอะไรบ้าง

คำตอบมาน้อยมาก ข้อเขียนคงไม่ได้มีคนอ่านจริงจังหลายคนนัก บางคนที่อ่านอาจจะไม่คิดเลย เพราะอะไรก็ตาม และบางคนอาจจะแอบมีคำตอบอยู่ในใจ แต่ไม่อยากเปิดเผยให้คนอื่นรู้

ดิฉันไม่ใช่นักการศึกษา คิดเองไม่ออก ไม่สามารถรอบรู้สารพัดเรื่อง แต่รู้ว่าหาความรู้ได้ที่ไหนอย่างไร เรื่องนี้เคยเขียนไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อกลางปี ๒๕๖๓ เล่าให้ทราบว่ามหาวิทยาลัยติดอันดับโลกในแดนที่โคโรนาไวรัสระบาดหนัก เขาเตรียมการอย่างไร แค่เราก๊อบปี้เขามาใช้ เราก็ “ล้ำ” แล้วละ

วันนี้เอาใหม่ พูดให้ตรงเมืองไทยเลย

สำรวจสถานะความรู้ของตัวเองในฐานะอธิการบดี

๑. รู้ว่าต้องเรียนออนไลน์แน่ ๆ แล้ว

๒. รู้ว่านิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่ง เข้าออนไลน์ไม่สะดวก ด้วยสถานที่อยู่ สถานะทางเศรษฐกิจ ฯลฯ

๓. รู้ว่าอาจารย์จำนวนหนึ่งไม่ถนัดสอนออนไลน์แน่นอน (เอาตัวเองเป็นที่ตั้งในการประเมินสถานการณ์)

๔. วิชาบางวิชาสอนออนไลน์ไม่ได้แน่ (แต่วิชาจำนวนมากสอนได้ เว้นแต่จะบอกว่าสอนไม่ได้เพราะไม่อยากสอนแบบออนไลน์)

๕. นิสิตนักศึกษาคงไม่อยากเรียนออนไลน์นานๆ หรอก มันเหงา ไม่มีเพื่อน ไม่มีกลุ่ม ไม่ได้เจอหน้าใคร

ต่อจากนั้นก็สำรวจสถานภาพของคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตนักศึกษา และกระบวนการเรียนการสอน ว่าจะต้องเปลี่ยนวิธีการตรงไหน อย่างไร เพื่อจะให้ได้จุดประสงค์เดิม คือการเตรียมพลเมืองของชาติ และเตรียมคนให้พร้อมสำหรับการทำงานในยุคต่อไป

๑. วิชาไหนที่สอนออนไลน์ไม่ได้ จัดให้มาเรียนในมหาวิทยาลัยทีละน้อยๆ คน แต่ละคนที่ต้องมา ต้องได้เรียนเต็มเวลาทั้งเทอม ไม่ใช่มาสองวัน เว้นสามวันไปนั่งเรียนที่บ้าน (ในหอ) แบบนั้นไม่แก้ปัญหาใด

จะทำอย่างนี้ได้ ต้องปรับตารางวิชาในหลักสูตรให้ยืนหยุ่นขึ้น เป็นระบบ modular (เข้าใจไหมนี่ เพราะเรามีแต่สำรับตายตัว ทั้ง ๆ ที่ตอนเรียนเมืองนอกเมืองนามา มันก็ระบบ modular ทั้งนั้น) คือเลือกเรียนตามสะดวกของผู้สอนและผู้เรียน จัดสำรับวิชาอย่างยืดหยุ่น

ถ้าบอกว่าติดขัดที่ สกอ. หรือมีคอขวดที่ไหน ก็หาคำสั่งใครให้เขาเหล่านั้นต้องมาทำงาน มาประชุมทุกวัน (ไม่ต้องเชิญคนอื่นมาเด็ดขาด) จนกว่าจะหาทางออกที่รวบรัด กระฉับกระเฉง ไม่เปลืองกระดาษได้ ใครจะติดโควิดก็ติดไป (คนรักตัวกลัวตายเจอเงื่อนไขนี้ หัวสมองไหลลื่นได้ กล้าเสนอแบบนี้เพราะดิฉันมั่นใจว่าพวกเราคนไทยเก่งมาก ถึงมากที่สุดในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างสร้างสรร)

๒. มีแพลตฟอร์มเดียวกันสำหรับการสอน นักศึกษาจะได้ไม่ต้อง download สารพัดแอป ตามที่อาจารย์ใช้เป็น และอาจารย์ที่ไม่ถนัดไม่ต้องพยายามประยุกต์ให้มากมาย แค่ประยุกต์การสอนจากเจอหน้ากันเป็นสอนออนไลน์ ก็เปลืองสมองหนักแล้ว

แพลตฟอร์มเหล่านี้ มหาวิทยาลัยมีเจ้าหน้าที่เทคนิคคอยสนับสนุนช่วยเหลือ และมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาจารย์ เพื่อให้สามารถสรรหาแบบอย่างที่เหมาะกับวิชาที่ตนต้องสอน

ใครๆ work from home แต่อาจารย์ควร teach from university ปล่อยให้นักศึกษา learn online from home ก็พอ มหาวิทยาลัยไม่มีนิสิตนักศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ก็ว่างมากพอจะทำ physical distancing ได้แล้ว การสอนจากมหาวิทยาลัย จะได้เครื่องมือที่ดี มีผู้ช่วยทางเทคนิคพร้อม นักศึกษาที่อยู่ปลายทางได้รับสื่อที่ส่งไปถึงอย่างมีคุณภาพ

๓. หลายวิชาที่สอนเหมือนกัน เปลี่ยนวิธีสอนใหม่

ในเมื่อวิชาเดียวกันบังคับให้สอนเหมือนกันโดยอาจารย์ต่างคนกัน (ดิฉันไม่เคยเรียนมาแบบนี้ เพราะอาจารย์มีความรู้และสไตล์การสอนที่ต่างกัน และอาจารย์ไม่ใช่นักแสดงที่ต้องท่องบทแล้วออกแสดงเหมือนๆ กัน) ก็จัดใหม่ ไหนๆ การสอนออนไลน์ไม่จำกัดจำนวนผู้ฟัง ไม่เหมือนนั่งในห้องเรียน ก็สอนคราวเดียวทั้งหมดไปเลย อาจารย์แบ่ง section กันสอนเช่น คนละสองสัปดาห์ เป็นต้น แทนการแบ่งห้องสอน (horizon แทน vertical section)

แบบนี้อาจารย์ต้องเตรียมหนักเพื่อสอนออนไลน์ แต่ว่าเบาตัวเพราะไม่ต้องสอนทั้งวิชา เวลาที่เหลือใช้เป็นเวลาให้กลุ่มเล็ก เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนเสมือนหนึ่งเรียนห้องเรียนเล็กด้วย อาจจะมีนักศึกษาระดับปริญญาโท เอก ร่วมช่วยกันด้วย นักศึกษาจะรู้สึกใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทดแทนกับการอยู่ห่าง

(การออกข้อสอบเดียวกัน แล้วแก้ปัญหาโดยจำกัดเวลาการทำคำตอบทีละข้อ อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีเท่าไหร่ แต่ต้องทำยังไง นึกไม่ออกค่ะ เพราะไม่รู้ว่าเงื่อนไขจำเป็นคืออะไร แต่เชื่อว่าถ้าอาจารย์ระดมสมองกันก็คงคิดออก)

๔. หลายวิชาไม่ต้องสอนเองทั้งหมด แต่หยิบมาจากต่างประเทศตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้างได้ โดยมีผู้ช่วยคอยช่วยเสาะหาอีกหลายๆ แรง ของต่างประเทศมีทั้งแบบสอนฟรี และหลายปีมานี้มหาวิทยาลัยชั้นนำทำหลักสูตรออนไลน์มากมาย เปิดให้เรียนทั่วโลก รวมทั้งบางวิชาที่คล้ายกันก็อาจจะติดต่อสอนหรือเรียนร่วมกัน หรือใช้เนื้อหาของเขามาสอนได้ โดยอาจารย์ในช่วงเวลานั้นเป็นผู้สนับสนุนนักศึกษา

ด้วยวิธีนี้ เราจะสามารถ go inter ได้ในเวลาที่สั้นมาก ยิ่งมหาวิทยาลัยไหนมีชื่อเสียงอยู่แล้ว การติดต่อร่วมมือกันยิ่งน่าจะมีโอกาสสูง ทีรถยนต์ ลิฟต์ มือถือ เราก็ซื้อของต่างประเทศ จะซื้อวิชาและการเรียนการสอนด้วยก็ไม่น่าจะเป็นไร

๕. วิชาที่เราเด่น เราสามารถส่งไปให้เรียนได้ทั่วโลก

การ go inter ไม่ใช่ one way แค่ซื้อหรือขอของเขามาใช้ ยังมีวิชาหลายวิชาที่เมืองไทยเราเด่นได้ จึงควรระดมกำลังผู้เชี่ยวชาญในวิชานั้นๆ + ผู้เชี่ยวชาญด้านวิธีการเรียนการสอนออนไลน์ + นักเทคนิคผู้ผลิตสื่อการเรียนการสอน เราก็จะมีวิชาที่ไปสู่ตลาดโลกได้

สมัยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง (ต่างกรรมต่างวาระ) จะเสนอให้เราเป็นเลิศในด้านที่เรามี และได้เปรียบ เช่น โรคเมืองร้อน ปลาน้ำจืด สัตว์ในเขตร้อน สัตว์เลี้อยคลานบางชนิด (ที่เพราะโลกร้อน เขาเริ่มเดินทางขึ้นเหนือ แต่วิชาความรู้อยู่ในเมืองไทย เช่น เรื่องวัคซีน เซรุ่ม เป็นต้น) ด้านมนุษยศาสตร์ เช่น วิชาพุทธศาสนา ภาษาบาลี สันสกฤต เป็นต้น

ในด้านพุทธศาสนา เว้นแต่ศรีลังกาและพม่าแล้ว ก็มีแต่ไทยนี่แหละที่เรียนพุทธศาสนาจากต้นตอของตำรา เราไม่ทำให้เป็นจุดเด่นก็เสียเปล่า

๖. หนังสืออ่านต้องมี ให้อ่านออนไลน์ ก็ต้องจัดหาหรือจัดทำขึ้นมา ติดอะไรให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นไปจัดการ ไม่ใช่อะไรๆ ก็ลงอาจารย์หมด เวลานี้ให้ อ.สอนให้เต็มที่อย่างเดียว ก็เลิศแล้ว เพราะต้องทั้งคิดเทคนิคใหม่ วิธีนำเสนอใหม่ และต้องได้ประสิทธิผลสำหรับการเรียนทางไกลด้วย

๗. นิสิตนักศึกษาต้องมีเพื่อนร่วมทีม เพื่อนร่วมชั้น ฯลฯ นักศึกษาใช้เทคโนโลยีเก่ง การให้รวมกลุ่มกันทำงาน น่าจะไม่มีปัญหา เว้นแต่ “ช้างเผือก” หรือผู้ได้ทุนจากชนบท ที่ควรต้องมีคนช่วยให้ก้าวทันเพื่อนในช่วงแรก เช่น อาจจะมอบหมายเพื่อนในกลุ่ม หรือรุ่นพี่ หรือนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก ช่วยเป็นพี่เลี้ยง (เป็นการเพิ่มรายได้ให้นักศึกษาเหล่านี้ด้วย) แต่การรวมกลุ่ม ควรทำให้ง่ายกับชีวิตคนที่พูดกันทางไกล ด้วยการให้รวมกลุ่มกันครั้งเดียวต่อเทอม วิชาที่เรียนร่วมกันก็ใช้กลุ่มเดิม แบบนี้ความคุ้นเคยจะเริ่มมากขึ้น ทุกคนมีเรื่องคุยร่วมกันได้ ๑ เทอม ก่อนจะกระจายย้ายไปมีเพื่อนกลุ่มใหม่ในเทอมต่อไป

๘. ทั้งหมดนี้จัดไม่ยาก วิชาที่สอนเรื่องการจัดคิว จัดลำดับ มีอยู่แล้ว แต่ถ้าใช้พนักงานที่เคยแต่ทำงานกระดาษมาทำงานนี้ ย่อมได้ยินแต่คำว่า “ทำไม่ได้” “ยุ่งยากมาก” ฯลฯ การเป็นอธิการบดีหมายถึงการเป็นผู้นำองค์กร ต้องรู้จักวางคนให้เหมาะกับงาน ยิ่งเป็นเวลาที่ต้องทำงานที่แปลกใหม่กว่าเคย ต้องมองนอกกรอบเดิม และมอบงานให้ถูกกับคน

ทำหมดนี้แล้ว เชื่อว่าโรค covid fatique ของอาจารย์และบุคลากรคงจะบรรเทาลง นิสิตนักศึกษาน่าจะกระปรี้กระเปร่ามีชีวิตชีวามากขึ้น และมหาวิทยาลัยเดินบนเส้นทางสู่ความเป็นเลิศ และเป็นองค์กรของโลกอนาคตที่จะปั้นพลเมืองของอนาคตได้แน่ และมีแต่จะต้องขอบคุณโคโรนาไวรัสที่มากระตุกให้เร่งคิด รีบทำ

ในทุกวิกฤตมีสวนสวยอันงดงามชื่อว่า “โอกาส” ที่เราต้องหาให้เจอ

คนเราเลือกได้ว่าจะหาโอกาส และใช้โอกาสนั้นไหม หรือว่าเลือกที่จะจ่อมจมอยู่ในวิกฤตไปเรื่อยๆ โดยหวังว่าถ้าปักหลักให้มั่นไม่ขยับเขยื้อน วิกฤตจะหายไปเอง และเรายังยืนอยู่ได้

เพื่อที่จะพบว่า เมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป เราล้าหลังคนอื่นไปไกลลิบ

 

Knowledge Plus by นวพร

นวพร เรืองสกุล” อดีตนักเรียนทุนแบงก์ชาติ และมีประสบการณ์ทำงานในรั้ววังบางขุนพรหม ภายใต้การบริหารของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึง 5 คน นับตั้งแต่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์, ดร.เสนาะ อุนากูล, นุกูล ประจวบเหมาะ และ กำจร สถิรกุล  และเป็นผู้ได้รับโอกาสทำงานบุกเบิกหน่วยงานใหม่ ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างเช่น การเป็นผู้บริหารกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินคนแรก เคยเป็นอดีตเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, ประธานกรรมการ บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน  – ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ 

Edunewssiam เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ขออนุญาตเผยแพร่

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)