'ตรีนุช'แจงช่วยเน็ต น.ร. 2 รูปแบบ สั่งลดงานครูเหลือ 3 โครงการ จากเดิม 72

 

'ตรีนุช'ช่วยอินเตอร์เน็ต น.ร. 2 รูปแบบ

สั่งลดภาระงานครู 'รายงาน-โครงการ'

เลขาฯ กพฐ.แจง ร.ร.วัดผลช่วงโควิด

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. แถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา” เพื่อชี้แจงถึงแนวทางการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และครู ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ศธ.ได้ออกมาตรการลดภาระทางการศึกษา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียน นักศึกษา ครู และผู้ปกครองทั่วประเทศ จำนวน 3 มาตรการ

มาตรการที่ 1 การจ่ายเงินเยียวยานักเรียนทุกคนทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินเต็มจำนวนต่อนักเรียน 1 คน ไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ คาดว่าผู้ปกครองจะได้รับภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2564 หรือช่วงต้นเดือนกันยายน 2564 นี้

มาตรการที่ 2 อินเตอร์เน็ตฟรีสำหรับการเรียน โดยสนับสนุนใน 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 ช่วย Top-up แพ็กเกจอินเตอร์เน็ตมือถือให้กับเบอร์โทรศัพท์ที่นักเรียนใช้เรียนออนไลน์ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน และแบบที่ 2 ช่วยจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตบ้าน โดยหักจากบิลค่าบริการเดือนละ 79 บาท เป็นเวลา 2 เดือน

และมาตรการที่ 3 ลดภาระงานครูและนักเรียน โดยให้ครูลดการรายงานและโครงการต่างๆ ให้เหลือ 3 โครงการ หรือ 1% จากเดิมที่มี 72 โครงการ หรือ 32% 

 

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า หลังจากสถานศึกษาไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติแบบเต็มรูปแบบได้ในช่วงภาคเรียนที่ 1/2564 เนื่องจากสถานการร์โควิด-19

ดังนั้น วิธีการวัดผลประเมินผลในรูปแบบปกติเหมือนที่ผ่านมาที่ให้เลือกคำตอบที่ถูกต้อง ก ข ค ง จึงไม่น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสม ต้องมีการปรับรูปแบบการทดสอบให้เกิดความยืดหยุ่น ผ่านรูปแบบใบงาน การปฏิบัติ แฟ้มสะสมงาน เป็นต้น

ส่วนภาคเรียนที่ 2 ซึ่งจะมีการสอบเพื่อเลื่อนชั้นและจบการศึกษาของนักเรียนชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 หากไม่มีการวัดและประเมินผลด้วยการสอบก็จะไม่มีคะแนนใช้ศึกษาต่อได้ ดังนั้น จะต้องหาวิธีการวัดและประเมินผลให้ยืดหยุ่น เพื่อไม่ทำให้เด็กช่วงชั้นเหล่านี้เสียสิทธิ์ 

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ส่วนจะมีวิธีวัดผลประเมินผลอย่างไร เพื่อให้ได้มาตรฐานการวัดและประเมินผลเป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่ถูกมองว่าโรงเรียนปล่อยเกรดนั้น เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่งแตกต่างกัน ประกอบกับเป็นการวัดและประเมินผลในสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ต้องมีการประเมินแบบให้เห็นว่า นักเรียนมีการพัฒนาขึ้น

"ซึ่งผมได้ย้ำกับสถานศึกษามาตลอดว่า การจัดการเรียนการสอนต้องยึดความปลอดภัยของครูและนักเรียน ส่วนมาตรฐานที่นักเรียนสามารถแข่งขันได้คงต้องรอหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว ค่อยมาเติมทักษะให้ดีขึ้น" นายอัมพร กล่าว    

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)