'ตรีนุช'รับรู้ครูภาระหนักช่วงโควิด-19 แต่ยังไม่เคาะเลื่อนใช้หลักสูตรสมรรถนะ

 

'ตรีนุช' รับรู้ครูมีภาระหนักช่วงโควิด-19

แต่ยังไม่เคาะ!เลื่อนใช้หลักสูตรสมรรถนะ

องค์กรครูทำหนังสือร้อง'วิษณุ'แฉเงื่อนงำ

ความคืบหน้าจากกรณีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ประกาศเรื่อง ศธ.ได้ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยมีสาระสำคัญเช่น ช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-ป.3) ลดเวลาเรียนลงจาก 1,000 ชั่วโมง เหลือ 800 ชั่วโมง, เรียน 7 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แทน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้, ปลดล็อกตัวชี้วัดการเรียนรู้, เพิ่มสมรรถนะหลักจากเดิม 5 ด้าน เป็น 6 ด้าน ได้แก่ การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ, การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้, การสื่อสารด้วยภาษา, การจัดการและการทำงานเป็นทีม, การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการยั่งยืน

โดยวางแผนนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้ในกรอบเวลา 3 ปี คือ ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะสำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และปีการศึกษา 2567 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในทุกโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา

และคาดว่าจะจัดให้นำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 โดยจะทยอยเผยแพร่คู่มือและหลักสูตรที่มีตัวอย่างสถานการณ์และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ปรับใช้ในพื้นที่และในรูปแบบการสอนออนไลน์ต่อไป

ซึ่งต่อมาถูกคัดค้านจากนักวิชาการ สมาคม ชมรมครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย เนื่องจากยังขาดความสมบูรณ์และชัดเจน ขาดการรับฟังครูและบุคลากรทางการศึกษา

เช่นที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า “หลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ มีจุดบกพร่องที่ควรแก้ไขหลายเรื่อง แต่ ศธ.ไม่เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ทั้งที่คณะกรรมการจัดทำและพัฒนาร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ยังแยกแยะไม่ออกด้วยซ้ำระหว่างความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และเจตคติ โดยนำทุกอย่างมารวมอยู่ใต้กรอบสมรรถนะทั้งหมด เฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งสมรรถนะเรื่องการคิดขั้นสูงของเด็กที่สูงเกินไปหรือไม่ ไกลจากข้อเท็จจริงของมาตรฐานการศึกษาไทยที่จะทำให้เด็กไทยทั่วไปก้าวไปถึงขั้นนั้นได้หรือไม่”

นอกจากนี้ ยังถูกต่อต้านกรณี ศธ.มีแผนนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระและความเสี่ยงให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสถานการณ์วิกฤตของประเทศจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการนำร่องทดลองใช้ในสถานศึกษาในจังหวัดสีแดงเข้มที่อยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เช่น จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา เป็นต้นนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ให้สัมภาษณ์เรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะว่า ตามแผนเดิมจะมีการนำร่องในโรงเรียนทุกแห่ง แต่เนื่องจากยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คณะกรรมการจัดทำและพัฒนาร่างหลักหลักสูตรฐานสมรรถนะ จึงได้ปรับการทดลองหลักสูตรใหม่ โดยนำร่องเฉพาะช่วงชั้นแทน เพื่อไม่ให้เป็นภาระเพิ่มสำหรับครู

อย่างไรก็ตาม สำหรับเสียงสะท้อนจากกลุ่มครูที่ยังไม่มีความพร้อมในการเตรียมแผนงานนำร่องการใช้หลักสูตรใหม่ ตนยินดีรับฟัง และเข้าใจการเตรียมแผนงานของครูเป็นอย่างดี เนื่องจากครูจะต้องรับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ครูต้องทำหน้าที่อย่างหนักหลายด้าน แต่ทั้งนี้ จะมีการขยับแผนทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในเดือนกันยายน 2564 นี้ ออกไปก่อนได้หรือไม่นั้น ดิฉันจะขอหารือกับคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะอีกครั้ง

“ส่วนประเด็นว่า การปรับปรุงหลักสูตรฐานสมรรถนะในครั้งนี้ อาจส่งผลให้สำนักพิมพ์ใดได้รับประโยชน์จากการขายหนังสือเรียนใหม่หรือไม่นั้น ดิฉันคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็จะนำทุกประเด็นที่ได้รับเสียงสะท้อนและร้องเรียนมาไปหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้” รมว.ตรีนุช กล่าว

สานิตย์ พลศรี

วันเดียวกันนี้ 23 สิงหาคม ๒๕๖๔ นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ทำหนังสือถึงศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอให้พิจารณาสั่งการ ศธ.ยกเลิกการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะในครั้งนี้ โดยให้เหตุผลในทำนองว่า อาจมีเงื่อนงำอยู่เบื้องหลังหรือไม่?

"เพราะการจัดทำหลักสูตรการศึกษาแต่ละหลักสูตรต้องใช้เวลาทดลองและประเมินผลอย่างน้อย 3 ถึง 6 ปี และจะต้องทำอย่างเปิดเผย แต่การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะในครั้งนี้ ทำไมแม้แต่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในกระทรวงศึกษาฯจำนวนมากยังไม่มีใครรับรู้เรื่องนี้ ทั้งที่การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนควรจะต้องทำประชาพิจารณ์รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศมาตั้งแต่ต้น

เวลานี้ในกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหากันมากว่า ศธ.ไม่ทำประชาพิจารณ์รับฟังครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่กลับมีสำนักพิมพ์บางแห่งรับรู้เรื่องทั้งหมด หรือการเร่งรัดจัดทำและใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในครั้งนี้ มีเรื่องผลประโยชน์อะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่ ดังนั้น จึงขอให้ ดร.วิษณุ ได้โปรดพิจารณาและสั่งการ ศธ.ให้ยกเลิกการทำหลักสูตรฐานสมรรถนะในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลเบื้องต้น และที่สำคัญยิ่งประเทศไทยเรายังตกอยู่ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งกำลังระบาดอย่างรุนแรงทั่วประเทศ

น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ควรต้องคิดแก้ปัญหาความเดือดร้อนแสนสาหัสของโรงเรียน ครู บุคลากรการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนก่อน ไม่ใช่กลับมาคิดเรื่องอื่นที่เป็นปัญหารองลงมา ถ้ายังขืนปล่อยให้เดินหน้าทำเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะต่อไป เชื่อว่าทั้งครู บุคลากรการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ต้องเดือดร้อนแน่นอน และอาจจะเกิดกระแสต่อต้านกลับมายัง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนอาจต้องพ้นจากกระทรวงศึกษาธิการไปในที่สุดหรือไม่?” หนังสือสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ระบุ

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)