'ตรีนุช' จี้! สพฐ.-สอศ. ขจัดเครียดเด็กเรียนออนไลน์ ปัญหาเดิมๆ การบ้านอื้อ

 

 

จากกรณีมีผลวิจัยของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมและผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ โดยระบุว่า จำนวนการบ้านมากขึ้น และเด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง, เครียด และวิตกกังวล

โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ป.6 ที่เตรียมศึกษาต่อชั้น ม.1 และนักเรียนชั้น ม.6 ที่เตรียมศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย เพราะกังวลว่าจะไม่มีโรงเรียนที่ดีรับเข้าเรียนนั้น

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศธ.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนออนไลน์แล้ว เช่น มีนโยบายลดภาระผู้เรียน ทั้งสายสามัญศึกษา และอาชีวศึกษา โดยปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ต้องรู้ ลดเวลาเรียนหน้าจอ, ให้การบ้านเท่าที่จำเป็น โดยครูแต่ละวิชาร่วมบรูณาการในการให้การบ้าน

การวัดประเมินผลเน้นหลักฐานการเรียนรู้ มากกว่าการสอบ, เลิกใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เป็นองค์ประกอบของผลการตัดสินจบการศึกษา และการเข้าศึกษาต่อทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา

นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีมาตรการจ่ายเงินเยียวยานักเรียนทุกคน คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินเต็มจำนวน ขณะเดียวกันกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สนับสนุนอินเตอร์เน็ตบอรดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ด้วย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักเรียนและผู้ปกครอง  

นางสาวตรีนุชกล่าวต่อว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 บีบบังคับให้การศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งการสอนออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งที่ต้องนำมาใช้จัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนในสถานการณ์นี้ ทำให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองบางส่วนไม่สามารถปรับเปลี่ยนตนเองได้ทัน อีกทั้งไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ซึ่ง ศธ.ทราบปัญหาเหล่านี้

จึงได้มีนโยบาย มาตรการและแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ทุกกลุ่มมาโดยตลอด ซึ่งสถานศึกษาบางแห่งก็ปรับเปลี่ยนได้เร็ว แต่บางแห่งก็ไม่ปรับตัว จัดตารางสอนออนไลน์เหมือนที่เรียนในโรงเรียน ไม่ลดเวลาเรียน ครูยังให้การบ้านนักเรียนจำนวนมาก

"ดิฉันจึงได้สั่งการไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้กำชับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ออกติดตามสถานศึกษาเป็นรายโรงเรียน เพื่อให้ปฏิบัติตามนโยบายลดภาระผู้เรียน"

ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง สพฐ.และ สอศ.ได้ประกาศแนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลที่ยืดหยุ่นในสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว โดยหลังจากนี้เวลาเรียนหน้าจอ และการบ้านของนักเรียน ต้องลดลงอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

นางสาวตรีนุชกล่าวด้วยว่า เร็วๆ นี้ ดิฉันจะเปิดช่องทางรับฟังปัญหาจากครูโดยตรง เพื่อให้ครูสามารถสะท้อนปัญหาการทำงานที่เกิดขึ้นจริงในบริบทที่แตกต่างกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะรับไปพัฒนาแนวทางช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับแต่ละบริบทต่อไป 

ด้านแหล่งข่าวในแวดวงการศึกษากล่าวเสนอแนะ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่มีแนวคิดจะเปิดช่องทางรับฟังปัญหาจากครูโดยตรงนั้น อยากให้ น.ส.ตรีนุชนึกถึงการใช้ประโยชน์จากสื่อโซเชียลเฟจเฟซบุ๊ก ตรีนุช เทียนทอง ที่เชื่อมกับเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ www.moe.go.th ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีครูและบุคลากรทางการศึกษาเขียนเสนอแนะปัญหาต่างๆ และแนวทางแก้ไขเข้าไปมากมายจำนวนรวมนับพันความเห็น จนขณะนี้มีผู้ติดตามเฟจเฟซบุ๊ก ตรีนุช เทียนทอง เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กว่า 5.6 หมื่นคนแล้ว 

"จึงอยากเสนอให้ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ใช้ช่องทางนี้รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะเรื่องต่างๆ จากครูและบุคลากรทางการศึกษาได้โดยตรง เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจเรื่องนโยบายต่างๆ ที่ออกมาได้ตรงตามความต้องการของครูและบุคลากรการศึกษา ตลอดจนนักเรียน นักศึกษาอย่างแท้จริง" แหล่งข่าวในแวดวงการศึกษาคนเดิมกล่าว

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)