ความในใจสมาชิกสายอีสาน ชี้ทางออกปัญหาเงินก้อนโต ช.พ.ค. เลิกการฌาปนฯ

 

ความในใจของสมาชิกสายอีสาน 

ชี้ทางออกปมปัญหาเงินก้อนโต ช.พ.ค.

ชง พม.สั่งเลิกการฌาปนกิจสงเคราะห์

คอลัมน์คิดนอกกรอบ: สมาชิก ช.พ.ค.อุบลราชธานี

 

เรียน สมาชิก ช.พ.ค.ทุกท่าน เพื่อทราบครับ

1) เดิม ช.พ.ค.(การฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นของสำนักงานคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา  (สกสค.) ได้นำเงินสงเคราะห์ศพ ช.พ.ค.ให้สมาชิก ช.พ.ค.กู้โดยผ่านทางธนาคารออมสิน มาหลายครั้ง โดยการเพิ่มวงเงินกู้สูงขึ้นเรื่อยๆ ระยะหลังสมาชิก ช.พ.ค.แบกรับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเรียกเก็บเบี้ยประกันนั้นสูงมาก

มีการแจ้งข่าวว่า หากสมาชิกตายก็จะมีเงินประกันชีวิต จ่ายหนี้แทนให้ สมาชิกก็เข้าใจว่า เวลาตายก็มีเงินใช้หนี้ คนค้ำประกันก็ไม่เดือดร้อน แต่ปรากฎว่าเมื่อผ่านมา 8-10 ปี บริษัทประกันแจ้งสมาชิกว่า กรมธรรม์สิ้นสุดลงแล้ว ขอให้ต่ออายุกรมธรรม์ ก็ปรากฎว่าสมาชิกไม่มีเงินต่ออายุกรมธรรม์ได้ และก็ไม่พอใจว่าก่อนสมาชิกกู้บอกว่า บริษัทประกันชีวิตจ่ายให้หมด แต่ตอนนี้มาบอกให้ต่ออายุกรมธรรม์ สมาชิกส่วนใหญ่จึงไม่ไปต่ออายุกรมธรรม์

ทำให้สมาชิกเดือดร้อนว่า สมาชิกที่ตายหลังพ้นกำหนดอายุประกัน บริษัทประกันไม่จ่าย จึงทำให้ผู้ค้ำประกันได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยก็สูงมาก จึงทำให้สมาชิกในปัจจุบันจัดตั้งสมาคมสมาชิก ช.พ.ค.ขึ้น เพื่อเรียกร้องต่อ ช.พ.ค. สกสค. หรือกระทรวงศึกษาธิการ ให้ร้องขอธนาคารออมสินลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงให้เหลือร้อยละ 3 หรือปรับโครงสร้างหนี้ขยายงวดดอกเบี้ยร้อยละ 3 จะได้ให้สมาชิกผ่อนคลายในการชำระหนี้ได้ตามกำลังความสามารถ

2) ขอเรียนสมาชิก ช.พ.ค.ทุกท่านว่า เงินที่สมาชิกไปกู้จากธนาคารออมสินนั้น เป็นเงินของ ช.พ.ค.โดย สกสค.นำไปฝากที่ธนาคารใช่หรือไม่? คล้ายๆ กับอาจจะดูเป็นลักษณะการทำนิติกรรมอำพรางได้หรือไม่? แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริง ช.พ.ค.อาจต้องการนำเงินสงเคราะห์ศพที่มีอยู่ใน ช.พ.ค.มาให้สมาชิกปล่อยกู้นั่นเองใช่หรือไม่? แต่ปล่อยกู้โดยตรงไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย จึงนำเงินมาฝากธนาคารเพื่อให้มีการปล่อยกู้สมาชิก ช.พ.ค.ใช่หรือไม่?

ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ถือว่ามีพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่า เป็นการดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ภาครัฐที่ไม่เป็นไปโดยสุจริตใช่หรือไม่? หากนายทะเบียนการฌาปนกิจภาครัฐ คืออธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้สอบสวนพฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีพฤติการณ์ที่ไม่เป็นไปโดยสุจริตจริง นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้เลิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ภาครัฐนั้นได้ ตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 49 มาตรา 50 ประกอบระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยการฌาปนกิจสงเคราะห์ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจและองค์กรวิชาชีพ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ พ.ศ.2547 ลง 19 มีนาคม 2547 ข้อ 23(2) และข้อ 5 ความว่า “การฌาปนกิจสงเคราะห์ จะมีวัตถุประสงค์นอกจากการฌาปนกิจสงเคราะห์ด้วยมิได้” 

3) การที่ ช.พ.ค.โดย สกสค.อาจนำเงินสงเคราะห์ศพสมาชิก ช.พ.ค.ไปฝากกินดอกเบี้ยจากธนาคาร และในเวลาเดียวกันก็อาจกินดอกเบี้ยเงินกู้จากสมาชิก ช.พ.ค.นั้น? ถ้าเป็นจริงเช่นนี้ ตามกฎหมายข้างต้น ห้ามมิให้กระทำโดยเด็ดขาด นอกจากมีผลให้เลิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ ช.พ.ค.แล้ว ยังอาจถือว่าคณะกรรมการ ช.พ.ค. รวมทั้งคณะกรรมการ สกสค. อาจถูกกล่าวหาได้ว่า ร่วมกันยักยอกเงินสงเคราะห์ของ ช.พ.ค. และปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต? อีกด้วย

4) หากมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า คณะกรรมการ ช.พ.ค. และคณะกรรมการ สกสค.ได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายในลักษณะดังกล่าวนี้จริง อาจจะมีผลให้สัญญาเงินกู้ที่ทำกับธนาคารเป็นโมฆะเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยนั้น สมาชิกเรียกคืนได้ แต่ส่วนเงินต้นไม่เป็นโมฆะ ต้องคืน ฐานลาภมิควรได้ และหากธนาคารฟ้องเรียกเงินกู้คืน เราก็สู้คดีได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยปกติ และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ แต่สมาชิกต้องคืนเงินต้นเท่านั้น ใช่หรือไม่?

5) สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารจ่ายให้ ช.พ.ค.นั้น ธนาคารอาจเรียกคืนจาก ช.พ.ค.ได้ ฐานลาภมิควรได้เช่นเดียวกัน ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากก็เช่นเดียวกัน ก็อาจเรียกคืนจาก ช.พ.ค.ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

6) สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ คณะกรรมการ ช.พ.ค. และคณะกรรมการ สกสค.รับมา จะไม่สามารถนำไปเข้าเป็นรายได้ของ ช.พ.ค.ได้เลย เพราะการฌาปนกิจสงเคราะห์ภาครัฐ กฎหมายไม่ให้แสวงหารายได้ และนำกำไรมาแบ่งกันอย่างเด็ดขาด กระทำได้เพียงเรียกเก็บจากสมาชิก ช.พ.ค. ที่สมาชิกตายในแต่ละเดือนมาแล้ว จำนวนเท่าใด ทาง ช.พ.ค.หัก 4% เป็นเงินบริหารไว้ตามกฎหมาย ที่เหลือต้องจ่ายให้ทายาทของสมาชิกผู้ตายเท่านั้น

ส่วน 4% ที่หักไว้เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการของ ช.พ.ค. ตามกฎหมายและระเบียบกำหนดไว้เท่านั้น (เป็นระเบียบของกระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ซึ่ง ช.พ.ค.สามารถกระทำได้ คือ หากมีเงินเหลือจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแต่ละเดือน จะต้องนำไปฝากธนาคารเท่านั้น แต่กฎหมายห้ามไปปล่อยกู้เด็ดขาด ดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งเป็นดอกผลของเงินสงเคราะห์ศพ 4% ก็ย่อมตกเป็นสิทธิของ ช.พ.ค.โดยผลของกฎหมาย

7) จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการ ช.พ.ค.นำเงินมาปล่อยจำนวนมากนี้ ซึ่งตามกฎหมายเงินนี้จะต้องเป็นเงินที่ ช.พ.ค.หักเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการเพียง 4% เป็นไปได้หรือไม่ว่า เก็บศพละ 1 บาท ตามระเบียบของ ช.พ.ค.นี้ ได้ยอดเท่าใด หัก 4% ออก แล้ว ที่เหลือจ่ายให้ทายาทผู้ตายครบถ้วนถูกต้องหรือไม่? จึงควรตรวจสอบดูให้หายสงสัย หรือเงินเรียกเก็บ 1 บาท/ศพ หัก 4% แล้ว ที่เหลือจ่ายให้ทายาทผู้ตายทั้งหมด ก็ขอให้สมาชิก ช.พ.ค.ตรวจสอบกันเอง

8) จะเห็นได้ว่า ดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ของสมาชิก ช.พ.ค. อาจส่อว่าเป็นอาหารอันโอชะของผู้เกี่ยวข้องใน ช.พ.ค./สกสค. รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องระดับกระทรวงศึกษาฯไปเสียแล้วหรือไม่? โดยที่สมาชิก ช.พ.ค.ถูกใช้เป็นเครื่องมือหากินของคนกลุ่มนี้

9) จะขอกล่าวอีกเรื่องหนึ่ง คือมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหากันในหมู่สมาชิก ช.พ.ค.ว่า  คณะกรรมการ สกสค.ได้ออกระเบียบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าด้วยการจัดสวัสดิการโครงการสวัสดิการ 40/75 พ.ศ.2564 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2563 (ระเบียบฯน่าจะใช้ พ.ศ.2563 มากกว่า พ.ศ.2564 เพราะลงนามวันที่ 28 ธันวาคม 2563) ให้สมาชิก ช.พ.ค. และสมาชิก ช.พ.ส. กู้เงินสงเคราะห์ศพที่กองอยู่ที่ ช.พ.ค. โดยใช้คำว่า “เงินสวัสดิการ” เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากคนภายนอกให้เข้าใจเป็นเงินอื่น ที่มิใช่เงินสงเคราะห์ศพ โดยไม่ผ่านธนาคารอีกต่อไปแล้ว ถ้าเป็นเรื่องจริง? (นายกล้ามาก)

โดยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขว่า ให้สมาชิก ช.พ.ค.กู้เงินสงเคราะห์ศพของตัวเองก่อนเสียชีวิต (เงินเหลือเยอะ) โดยคิดดอกเบี้ยจากสมาชิก แต่เมื่อสมาชิกเสียชีวิตลง  ช.พ.ค.จะหักหนี้คืนจากเงินสงเคราะห์ศพ ที่เหลือจ่ายคืนให้แก่ทายาท

ถ้าเป็นเช่นนี้? จะเห็นได้ว่า เอาเงินสงเคราะห์ศพที่กองอยู่ ช.พ.ค.มาปล่อยให้สมาชิกกู้ไปก่อน เพื่อกินดอกเบี้ย ซึ่งส่อว่าอาจจะกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะเงินสงเคราะห์ศพนี้เป็นเงินที่หัก 4% จากเงินเรียกเก็บจากสมาชิก ช.พ.ค. หากเหลือหลังจากหักเป็นค่าใช้จ่ายแล้ว ตามกฎหมายและระเบียบต้องนำไปเก็บรักษาโดยการนำฝากธนาคาร ดอกเบี้ยเป็นดอกผลจากเงินฝาก ย่อมเป็นเงินสงเคราะห์ศพ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่อไป ซึ่งค่าใช้จ่ายก็มีประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมฯกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า จ่ายได้ในกรณีใดบ้าง

แต่การนำเงินสงเคราะห์ศพส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย นำออกมาแสวงหาประโยชน์ในรูปเงินกู้ให้แก่สมาชิก ช.พ.ค. แต่แฝงข้อความว่าเป็นเงินสวัสดิการ เพื่อแสวงหาประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินกู้จากสมาชิก ช.พ.ค.ที่มิชอบด้วยกฎหมาย อันอาจเป็นการทุจริตได้นั้น ผู้มีอำนาจจึงควรจะต้องตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด

รวมทั้งเสนอให้นายทะเบียน คืออธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีคำสั่งเลิกการฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ต่อไป เนื่องจากไม่ได้ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาเลย ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 

10) สมาชิก ช.พ.ค.ทุกท่านครับ เป็นไงบ้างเงินของสมาชิกเรา ส่อว่าอาจไปสร้างความร่ำรวยโดยการทำหน้าที่โดยทุจริตจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง เราควรรวมกลุ่มร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดี ร้องเรียนต่อนายทะเบียนกลางกันได้แล้ว สงสารสมาชิกเราจังเลย ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสหกรณ์ก็ดี สมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ก็ดี หรือแม้แต่สมาชิก ช.พ.ค.ซึ่งเป็นการฌาปนกิจภาครัฐ อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐก็ตาม ยังมีการเปิดหน้าส่ออาจกระทำผิดกฎหมายอย่างนี้ ประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าเป็นข้อเท็จจริง?

 

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)