ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “กษัตริย์ นักเกษตร”

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงครองสิริราชสมบัติ พระองค์ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานนัปการอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อยหรือย่อท้อ ทรงมุ่งมั่นพระราชหฤทัยช่วยเหลือพสกนิกรให้สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้และพึ่งพาตนเองได้ อันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวไทยทั้งประเทศ ทั้งพระราชทานความช่วยเหลือ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่พสกนิกรตลอดมา จึงเป็นที่มาของการเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วทั้งประเทศ อย่างครอบคลุมทุกๆ ด้าน จำนวน 4,877 โครงการ (ที่มาสำนักงาน กปร. กรกฎาคม 2563) ทำให้พสกนิกรทั่วประเทศต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

          ถือเป็นความโชคดีของเหล่าพสกนิกรชาวจังหวัดนราธิวาส ที่มีพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ หนึ่งเดียวในภาคใต้  จึงทำให้ชาวจังหวัดนราธิวาสได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างใกล้ชิดเมื่อได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนประชาชนตามท้องถิ่นทุรกันดารเป็นเนืองนิจ ทำให้ทรงรับรู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง

ขอเล่าย้อนอดีตไปเมื่อสมัยเด็กๆ จำได้ว่าเมื่อกำนันผู้ใหญ่บ้านแจ้งว่าในหลวงและราชินีจะเสด็จฯ ไปยังวัดประชุมชลธารา ตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ข้าพเจ้าและครอบครัวได้มีโอกาสไปรับเสด็จในครั้งนั้น พร้อมกับเหล่าชาวบ้านในหมู่บ้านและอีกหลาย ๆ หมู่บ้านต่างพากันมาเฝ้าฯ รับเสด็จกันอย่างเนืองแน่นเต็มลานวัด เมื่อรถขบวนมาถึงวัด ในหลวง พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระดำเนินเยี่ยมชาวบ้านต่างพากันเอาผ้าเช็ดหน้ามาปูตรงหน้า (เพื่อให้ในหลวงทรงเหยียบแล้วเก็บผ้าเช็ดหน้าไปเก็บไว้บูชา) เมื่อในหลวงทรงพระดำเนินมาถึงครอบครัวของข้าพเจ้า ก็เหยียบผ้าเช็ดหน้าที่ปูไว้และทรงนั่งลงตรงหน้าพ่อแล้วตรัสถามพ่อของข้าพเจ้าเรื่องชื่อคลองในหมู่บ้านว่าคลอง...อยู่ตรงไหน แล้วในหลวงก็กางแผนที่ให้พ่อดู ส่วนเด็กๆ ที่มาเฝ้าฯรับเสด็จต่างได้รับของพระราชทานมากมาย ทั้งขนม ลูกอมรสนม ของเล่นต่างๆ กันอย่างทั่วถึง และยังมีอีกหลายๆ อย่างจากการรับเสด็จครั้งนั้น

ข้าพเจ้าและครอบครัวยังประทับใจไม่รู้ลืม กลับมากล่าวถึงการจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทรงพิจารณาหาทางช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ จึงเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา ถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 954 โครงการ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส มีจำนวน 389 โครงการ (ที่มา สำนักงาน กปร. กรกฎาคม 2563) 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้มุ่งมั่นศึกษา ทดลอง วิจัย ตามพระราชดำริที่ให้ไว้จนประสบผลสำเร็จขยายผลไปสู่พื้นที่ประสบปัญหาของพี่น้องเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพมีรายได้และพึ่งตนเองได้ และมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่นๆ ในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยตรง เพราะความเดือดร้อนของประชาชนมิอาจรอได้ยาวนาน ต้องมีการส่งเสริมให้มีความอยู่ดีกินดี

และทรงพบว่า การช่วยเหลือประชาชนให้มีความอยู่ดีกินดีนั้น ต้องให้ประชาชนได้เรียนรู้พบเห็นและสัมผัสด้วยตนเอง จึงได้พระราชทานพระดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น จำนวน 6 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการดำเนินงานและทรงติดตามผลการดำเนินงานด้วยพระองค์เองตลอดมา

ที่สำคัญได้พระราชทานแนวพระราชดำริการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จ แล้วไปขยายผลในพื้นที่ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ในรูปแบบการสาธิตในพื้นที่ให้เห็นจริง ส่งเสริมให้ประชาชนลงมือทำ จึงทำให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนประสบผลสำเร็จตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการดำเนินงาน

ต่อมาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชุกมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานสนองพระราชดำริ และทรงมีพระราชดำริด้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนไม่มีรายได้ ให้สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ด้วยการปลูกพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือน 

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปที่ไหน ความเจริญรุ่งเรืองตามมาทันที พระองค์ทรงมองการณ์ไกลในการพัฒนาประเทศอย่างทะลุปรุโปร่งที่ทุกคนไม่อาจตามทัน อย่างเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้พระราชทานให้คนไทยมาเนิ่นนาน แต่ชาวไทยเพิ่งมาตื่นตัว

จะว่าไปแล้วเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาการวางรากฐานในการดำเนินชีวิตให้มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง สามารถพึ่งตนเองได้ มีเกษตรกรได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพ ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

                 

         กษัตริย์ นักเกษตร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้สร้างมรดกอันล้ำค่ายิ่งไว้มากมาย โดยเฉพาะ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ซึ่งเปรียบเสมือน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตที่พระองค์ได้มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2531 ความว่า

        “...เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่คนทุกระดับสามารถที่จะมาดู จะว่าเป็นโรงเรียนก็ไม่ใช่แต่ว่าเป็นที่มาดูมาศึกษาก็ได้ คือเป็นทัศนศึกษา พานักเรียน นักศึกษาวิทยาลัยก็ตาม หรือไม่ใช่โรงเรียน เป็นข้าราชการทุกชั้นตั้งแต่ชั้นผู้น้อยมาจนถึงชั้นผู้ใหญ่ทุกระดับ ทุกอย่าง คือหมายความว่า ทุกหน้าที่สามารถมาดูในแห่งเดียวกัน วิธีการที่จะพัฒนาในสาขาต่างๆ ของวิชาการ อันนี้เท่ากับเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่จะมาดูอะไร มีวิชาการใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา... 

        ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นสถานที่รวบรวมศาสตร์สาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา พร้อมกับพระราชทานพระราชดำริให้ปวงชนชาวไทยทุกพื้นที่ได้รับประโยชน์จากมรดกนี้อย่างมหาศาล จากพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้เลย สามารถพลิกฟื้นผืนดินให้อุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้งและทำการเกษตรได้หลากหลายรูปแบบ ทำให้ประชาชนกลับมาใช้ประโยชน์พื้นที่ทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน

พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักเกษตรอย่างแท้จริงและยิ่งใหญ่อันหาที่สุดมิได้ และเป็นที่ประจักษ์แก่ทั่วโลก แม้เมื่อยามเกิดความคับขันภายในประเทศ ทรงหาทางออกที่ดีให้กับประชาชนในประเทศ หรือเมื่อคราวประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปภาคการเกษตรครั้งใหญ่ โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนแรงงานคนที่กำลังขาดแคลน เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต

ด้วยพระวิสัยทัศน์ยาวไกลของพระองค์เกี่ยวกับเทคโนโลยีได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการทำเกษตรจะต้องอาศัยความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยี และวิทยาการสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาด้านการเกษตรตามที่รัฐบาลกำหนดกรอบการขับเคลื่อนภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0”  

“…เกษตรมีความสำคัญจริง ถ้าไม่มีการเกษตรก็เกือบจะพูดได้ว่าเราจะต้องตายกันหมด เพราะจะไปอาศัยอาหารวิทยาศาสตร์ก็รู้สึกว่าลำบากอยู่และกินไม่อิ่ม แต่ว่าทำไมคนถึงนึกว่าการเกษตรนี่เป็นสิ่งที่ต่ำต้อยที่ไม่สำคัญทั้งๆ ที่ความจริงเราต้องอาศัยการเกษตรเพื่อชีวิตของเรา ไม่ใช่เฉพาะสำหรับอาหารเท่านั้นสำหรับสิ่งอื่นทั้งหลายด้วยที่เราต้องอาศัยการเกษตร…”

            

             “…การทำการเกษตรกรรมนั้นจะต้องมีวิชาการแผนใหม่ สมัยใหม่ ที่ก้าวหน้า เช่น ใช้ปุ๋ย วิธีใช้ปุ๋ย วิธีใช้ยาต่าง ๆ วิธีใช้เครื่องกลต่าง ๆ อันนี้ทุกคนก็ปรารถนาที่จะก้าวหน้าเป็นคนสมัยใหม่ เป็นคนที่ใช้วิชาการวิทยาการแผนใหม่ คือ หมายความว่าอะไร เครื่องจักรกลทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ค้นคว้ามาก็ได้ใช้ ในข้อนี้ต้องคิดดีๆ บางคนมุ่งที่จะเป็นคนสมัยใหม่ มุ่งจะเป็นคนก้าวหน้า ใช้วิชาการ ใช้วิทยาการ ใช้ที่เรียกว่าเทคโนโลยี คำนี้ก็คงจะเข้าใจ เทคโนโลยีก็หมายความถึงเครื่องกลต่างๆ ที่เขาค้นคว้ามา เขาเอามาขายเราในราคาแพง แล้วก็เวลาปฏิบัติก็ต้องมีความรู้ช่างกล มีความรู้ในทางวิชาการมากขึ้น ข้อนี้เป็นข้อดีเหมือนกันที่จะก้าวหน้า แต่หมายความว่า ทุกคน สมาชิกทุกคนต้องเรียนรู้วิชาการให้ใช้วิทยาการต่างๆ นี้ให้ถูกต้อง ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็จะเกิดผลเสียหายได้…” 

            (ข้อมูลจากหนังสือ พระบิดาของแผ่นดินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์...ในงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2540)

                  

        ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์แก่ทั่วโลกจนเป็นที่กล่าวขาน และได้รับรางวัลมากมายหลายสาขา

        โดยเฉพาะด้านทรัพยากรดิน มีการอนุรักษ์ แก้ไข และฟื้นฟู ทั้งดินเปรี้ยวจัด ดินพรุ ดินเค็ม ดินเสื่อมโทรม ทรงศึกษาหาวิธีการจนเอาชนะธรรมชาติได้ และแปรเปลี่ยนพื้นที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ อันนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารของประเทศ โดยทรงยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี 

        และเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรมแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และยังได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น วันดินโลกหรือ World Soil Day และปี 2558 เป็น ปีดินสากล (International Year of Soils 2015)” ปีแรกของโลกประเทศไทย

โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการจัดงานวันดินโลกประจำทุกปีพร้อมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันหาที่สุดมิได้ เพราะพระองค์ไม่ได้จากเราไปไหน ยังอยู่ในใจของปวงชนชาวไทยตลอดไป

 ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

 

(ขวัญจิรา สุวรรณ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ/เรียบเรียง-ภาพ)