"ม.ทักษิณ"จัดแข่งขันนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะ 'น.ร.-น.ศ.' ระดับชาติ

 

 

มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า (กกพ.) เพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) ประเภทโครงการทั่วไปประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของโครงการนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะ

โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรนาฏ คิดดี หัวหน้าโครงการ และสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นหน่วยงานกลางในการประสานเพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า ซึ่งได้จัดประกวดแข่งขันผลงานการพัฒนานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะ

และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดแข่งขันนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (ระดับชาติ) รอบชิงชนะเลิศ ณ อาคารทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และระบบออนไลน์ Zoom Meeting ซึ่งในพิธีเปิด ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้กล่าวเปิดงาน

ร่วมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวต้อนรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธ์ดำ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรนาฏ คิดดี หัวหน้าโครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรพงศ์ ไชยบุรี ผู้ร่วมโครงการ และอาจารย์ ดร.นิชากรณ์ พันธ์คง ผู้ร่วมโครงการ ร่วมเปิดงาน

ทั้งนี้ กิจกรรมในภาคเช้าตั้งแต่เวลา 09.30-10.30 น. เป็นการเสวนาพิเศษ "ทิศทางพลังงานไฟฟ้าจากขยะของไทย" โดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ต.อ.สมเด็จ สุขการ นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ และ ดร.พีรียุตม์ วรรณพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ร่วมเสวนา โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

หลังจากนั้นมีการนำเสนอผลงานของผู้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศในแต่ละระดับ แบ่งเป็นระดับอุดมศึกษา 5 ทีม ระดับอาชีวศึกษา 5 ทีม และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 10 ทีม ซึ่งผลการแข่งขันนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (ระดับชาติ) รอบชิงชนะเลิศชิงทุนการศึกษารวมกว่า 210,000 บาท มีดังนี้

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 

รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ ทีมฮุสนามาค่ะ อัฟนันกับธนยศมาครับ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล จังหวัดสตูล ผลงาน DETERIORATED PLA FILAMENTS AND WASTE ENERGY TO LIGHT INNOVATION

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 เงินรางวัล 20,000 บาท ได้แก่ ทีม OVERLOAD จากโรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จังหวัดปัตตานี ผลงานโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะพลาสติก

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 เงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ ทีม Friendship of waste จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล จังหวัดสตูล ผลงาน Friendship of waste

ระดับอาชีวศึกษา

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 เงินรางวัล 20,000 บาท ได้แก่ทีม Regarboy จากวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผลงานเตาเผาขยะไร้ควันผลิตกระแสไฟฟ้า

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 เงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ ทีมโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ Waste-to-Power Plant Model จากวิทยาลัยเทคโนโลยีอุดมศึกษาพาณิชยการ จังหวัดสงขลา ผลงานโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ Waste-to-Power Plant Model

(รางวัลชนะเลิศ ไม่มีผลงานที่ได้รับรางวัล)

ระดับอุดมศึกษา

รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 40,000 บาท ได้แก่ ทีมแมลงวันหัวเขียว จากมหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดพัทลุง ผลงานการนำขยะอินทรีย์และผักตบชวามาผลิตเป็นแก๊สชีวภาพ

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 เงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ทีม Energy YRU จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จังหวัดยะลา ผลงานระบบผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนด้วยเทอร์โมอิเล็กทริค

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 เงินรางวัล 20,000 บาท ได้แก่ทีม New Innovation จากมหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดพัทลุง ผลงานการผลิตเชื้อเพลิง RDF-5 จากขยะและวัสดุเหลือใช้กากมะพร้าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)