ค.อ.ท.แถลงการณ์พิรุธล้มร่าง กม.แก้คำสั่ง คสช.19/60 แฉโพล‘อ.ก.ค.ศ.จว.’ โผล่!

ค.อ.ท.แถลงการณ์ชี้พิรุธ

ล้มร่าง กม.แก้คำสั่ง คสช.19/2560

แฉโพล ‘อ.ก.ค.ศ.จว.’ โผล่!

 

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 นายธนชน มุทาพร แกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เปิดเผยว่า ค.อ.ท.ได้ออกแถลงการณ์เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทยสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 ของ 6 พรรคการเมือง

ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา เนื่องจากมีหลักการสำคัญคือ การคืนอำนาจการบริหารงานบุคคลกลับคืนมาให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา คืนอำนาจการบรรจุแต่งตั้งตามมาตรา 53 กลับคืนมาให้ผู้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และแก้ไขเพิ่มเติม

การแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 ฉบับนี้ เป็นเรื่องที่องค์กรครูทั่วประเทศต่างมีความพยายามเรียกร้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย มาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด

โดยเหตุผลที่ได้รับฟังล่าสุดจากศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ ที่ได้แจ้งกับผู้นำองค์กรครูที่เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2561 มีเพียงสั้นๆ ว่า ยินดีรับฟัง และพร้อมนำมาแก้ไขตามช่องทางรัฐสภาเท่านั้น ซึ่งองค์กรครูต้องจำยอม อดทน รอให้มีการแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวนี้ ในช่องทางรัฐสภาตามที่รองนายกรัฐมนตรีให้คำแนะนำ

แต่แล้วพอใกล้ถึงวันพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร กลับมีแบบสอบถามความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 โดยมีสาระสำคัญที่แตกต่างไปจากร่างฯของทั้ง 6 พรรคการเมือง ที่เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

คือในมาตรา 8 ของร่างฯในแบบสอบถามดังกล่าวนี้ ได้สอบถามความคิดเห็นว่าในแต่ละจังหวัดให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เรียกโดยย่อว่า “ อ.ก.ค.ศ.จังหวัด” และมีคำตอบให้เลือกว่า เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย โดยไม่มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้เลือกตอบ ซึ่งถือเป็นการบังคับให้ผู้ตอบแบบสอบถามนี้เลือกตอบว่า เห็นด้วย ที่ให้มี อ.ก.ค.ศ.จังหวัด 

ทั้งที่จากการตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 6 พรรคการเมือง ที่ยื่นขอแก้ไขในครั้งนี้ ไม่มีร่างใดที่เสนอให้มี อ.ก.ค.ศ.จังหวัด ซึ่งทุกร่างฯต่างเสนอให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา อยู่ในหลักการของพระราชบัญญัติที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้

เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า แบบสอบถามความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 ฉบับดังกล่าว มีเจตนาชัดเจนเพื่อสร้างกับดักให้ครูและผู้ตอบแบบสอบถามตกหลุมพราง

และจะนำประโยชน์ที่ได้จากการตอบแบบสอบถามในครั้งนี้ที่ว่า ครูและผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดหรือส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้มี อ.ก.ค.ศ.จังหวัด ไปสร้างความชอบธรรมที่จะไม่รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ที่จะพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในเร็วๆ นี้ หรืออาจไปคว่ำในวุฒิสภา โดยใช้เหตุผลที่ได้จากแบบสอบถามนี้ 

นอกจากนี้ ในแบบสอบถามต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 ดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการของการรับฟังความคิดเห็นต่อการร่างพระราชบัญญัติโดยทั่วไป เนื่องจาก 1.ไม่ได้ระบุแหล่งผู้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็น , 2.ไม่ระบุหมายเลขบัตรประชาชน ซึ่งทำให้ผู้ที่ตอบแบบสอบถาม ตอบได้หลายครั้ง , 3.ขาดระบบการติดต่อผู้ตอบแบบสอบถาม เพื่อนำไปอ้างอิงจำนวนผู้ตอบความคิดเห็นประกอบการร่างพระราชบัญญัติ

เครือข่าย ค.อ.ท.จึงเรียกร้องให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและผู้เกี่ยวข้อง ไม่ต้องกรอกข้อมูลความคิดเห็นในแบบสอบถามดังกล่าว และเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาไม่นำผลการตอบแบบสอบถามในครั้งนี้ ไปเป็นข้อมูลในการอภิปรายในรัฐสภา  

เครือข่าย ค.อ.ท.ขอสนับสนุนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 ที่ได้รับฟังความคิดเห็นตามกระบวนของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และได้เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจำนวน 6  พรรคการเมืองดังกล่าว ซึ่งจะมีการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในเร็วๆ นี้

ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ กำหนดให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และแก้ไขเพิ่มเติม คืนอำนาจตามมาตรา 53 กลับมายังสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และคืนอำนาจการบริหารแบบมีส่วนร่วม

โดยเป็นการคืนอำนาจการบริหารงานบุคคล ก่อนที่จะมีการปรับปรุงตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน และจะต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ยิ่งจะทำให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดติดหล่มการบริหารงานบุคคลยาวนานมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนด้านยุทธศาสตร์ และด้านการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัด ตามเจตนารมณ์สูงสุดของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับดังกล่าวนี้

หากการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ล่าช้า จะทำให้การบริหารงานบุคคลมีปัญหามากยิ่งขึ้น สอดรับกับผลงานวิจัยของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีการศึกษาปัญหาทางกฎหมายว่าด้วยอำนาจในการบริหารงานบุคคลตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560

เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) จึงขอสนับสนุนและขอเรียกร้องต่อสมาชิกรัฐสภาได้โปรดพิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 ของ 6 พรรคการเมือง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ สามารถบูรณาการการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลโดยรวมต่อคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนต่อไป

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)