ค.อ.ท.แถลงการณ์ฉบับ 2-กดดัน ‘ตรีนุช’ ปลด ‘รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์’ พ้น ศธ.

นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) ในนามเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.)

ซึ่งประกอบด้วย สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย (สบพท.), สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.), สมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (สบ.พท.), สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.), สหภาพครูแห่งชาติ (ส.ค.ช.) และ ชร.ผอ.สพท.

เปิดเผยว่า ค.อ.ท.ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2564 เรื่องขอเรียกร้องให้ รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คุรุสภา ลาออกจากทุกหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพครู

พร้อมทั้งได้ส่งหนังสือถึงนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอให้พิจารณาถอดถอน รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ออกจากทุกตำแหน่งหน้าที่ใน ศธ.

นางสาวตรีนุช เทียนทอง

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก รศ.เอกชัย ประธาน กพฐ. และประธาน กมว. คุรุสภา ได้สื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ความว่า “ครูไม่ใช่วิชาชีพชั้นสูง แต่ครูเป็นอาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง จึงต้องกำกับด้วยใบประกอบวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพครู”

การแสดงทัศนะดังกล่าว ค.อ.ท.มองว่า เป็นการกระทำที่อาจส่งผลให้วิชาชีพครูด้อยค่าลงได้ และเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่มีหลักวิชาอ้างอิง ทั้งๆ ที่ความเป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้น ได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมายการศึกษาหลายฉบับ และเป็นไปตามองค์ประกอบทางวิชาการว่าด้วยความเป็นวิชาชีพชั้นสูง

ซึ่งมีหลักการว่า เป็นวิชาชีพที่ให้บริการแก่สังคม เป็นวิชาชีพที่จะต้องได้เรียนรู้เป็นระยะเวลานาน เป็นวิชาชีพที่มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณเป็นขอบเขตแห่งความประพฤติ เป็นวิชาชีพที่ใช้ปัญญาอย่างมากในการประกอบอาชีพ เป็นวิชาชีพที่มีความอิสระในการประกอบอาชีพ มีอำนาจในการตัดสินใจดำเนินการตามสาระสำคัญแห่งวิชาชีพ ทั้งทางด้านเทคนิควิธีและกระบวนการให้สอดคล้องกัน และเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการหรือสังคมได้โดยไม่มีข้อจำกัด

เป็นวิชาชีพที่มีฐานะทางสังคมอยู่ในระดับสูง ได้รับค่าตอบแทนในอัตราสูง และมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ เป็นวิชาชีพที่มีสถาบันของตนเองเพื่อควบคุม ส่งเสริม พัฒนา สร้างสรรค์สาระแห่งวิชาชีพ ตลอดจนเกียรติศักดิ์ศรีของวิชาชีพและบุคคลในวิชาชีพ

โดยที่วิชาชีพครู เป็นวิชาชีพที่มีองค์ประกอบครบตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงได้รับการยกย่องมาช้านานหลายสิบปีแล้ว ทั้งจากสังคมทางวิชาการและจากที่ได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายการศึกษาอีกหลายฉบับ

นอกจากนี้ การที่ รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ครูเป็นอาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง จึงต้องกำกับด้วยใบประกอบวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพครู” นั้น ค.อ.ท.เห็นว่า การกล่าวเช่นนี้เป็นการกล่าวที่มิได้มีเจตนายกย่องผู้ประกอบวิชาชีพครูในประเด็นเรื่องการมีความรับผิดชอบสูง

ความคิดเห็นของ รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ซึ่งเป็นถึงประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และยังเป็นประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ คุรุสภา ควรจะมีพื้นฐานจากเหตุและผล อ้างอิงผลงานทางวิชาการหรือการวิจัย ไม่ใช่การแสดงความเห็นตามทัศนคติของตนเอง อีกทั้ง ค.อ.ท.เห็นว่า รศ.เอกชัย ไม่เคยมีประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพครูหรือผู้บริหารสถานศึกษาอย่างมีความชำนาญ  

ดังนั้น เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ซึ่งประกอบด้วย สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย (สบพท.), สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.), สมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (สบ.พท.), สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.), สหภาพครูแห่งชาติ (ส.ค.ช.) และ ชร.ผอ.สพท. ตลอดจนองค์กรเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทั่วประเทศ

จึงขอเรียกร้องให้ รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ลาออกจากทุกตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว รวมทั้งเรียกร้องให้นางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้โปรดพิจารณาถอดถอน รศ.เอกชัย ออกจากทุกตำแหน่งหน้าที่ใน ศธ.

“หาก รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ไม่ลาออก หรือนางสาวตรีนุช ไม่ดำเนินการใดๆ ค.อ.ท.จะเชิญชวนผู้ประกอบวิชาชีพครูทั้งประเทศ ได้เข้าชื่อเพื่อเสนอให้นางสาวตรีนุชได้ถอดถอน รศ.เอกชัย ให้พ้นจากทุกหน้าที่ใน ศธ. และแต่งตั้งบุคคลอื่นที่เคยปฏิบัติหน้าที่ครู และมีความรู้ ความสามารถมาปฏิบัติหน้าที่แทนต่อไป” ประธานชมรม ผอ.สพท.กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)