ห่วงผลกระทบ!ร่าง กม.ศึกษาชาติฉบับบูรณาการ ระดมครูฯผลักดัน ส.ส.ช่วยแก้

สิรภพ เพ็ชรเกตุ

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง เปิดเผยความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ซึ่งเป็นร่างฉบับของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน) และฉบับของสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) ซึ่งเป็นฉบับภาคประชาชนที่ ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานสมัชชา สคคท. ได้เสนอผ่านประธานรัฐสภา 

และ ครม.ได้มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกานำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติทั้งสองฉบับนี้ไปบูรณาการเข้าด้วยกัน แล้วส่งกลับมาให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอไปยังรัฐสภา เพื่อพิจารณาตราเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไปนั้น

ตนในฐานะเป็นหนึ่งในตัวแทนสมัชชา สคคท.ที่เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อบูรณาการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการกฤษฎี เป็นประธานในที่ประชุม ได้ร่วมกันพิจารณาเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 103 มาตรา 

โดยสาระส่วนใหญ่ประมาณ 60% เห็นว่าส่งผลดีต่อการศึกษาชาติ แต่อีก 40% ยังไม่เป็นที่ยอมรับของตัวแทน สคคท.ที่เข้าร่วมประชุม เพราะล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่เกรงว่า อาจส่งผลกระทบทางลบต่อสิทธิประโยชน์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงระบบการบริหารจัดการการศึกษาโดยภาพรวม 

ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามข้อเสนอขององค์กรวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งในเรื่องของ 1.วิชาชีพครู ต้องเป็นวิชาชีพชั้นสูง และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยไม่รับ ไม่เอา ใบรับรองความเป็นครู 2.ให้คงสภาพสถานะของตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาเป็น "ผู้อำนวยการสถานศึกษา" โดยไม่เอา ไม่รับ "ครูใหญ่" 3.ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล 4.คืนสภาครู "เป็นของครู โดยครู เพื่อครู" และ 5.คืนอำนาจการบริหารงานบุคคลให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

ทั้งนี้ ในที่ประชุมร่วมดังกล่าว ทางตัวแทน สคคท.ได้อภิปรายคัดค้านโดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงคำสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ไม่เป็นผล โดยมีการเปลี่ยนแปลงคำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” เป็น “หัวหน้าสถานศึกษา”, เปลี่ยนคำว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” 

อีกทั้งยังไม่มีการบัญญัติคำว่า “การเป็นวิชาชีพชั้นสูง” ทั้งที่เคยบัญญัติในมาตรา 52 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ว่า “ให้กระทรวงส่งเสริมให้มีระบบกระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง”

ประธานชมรมครูภาคกลาง กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงคำสำคัญในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติดังกล่าวนั้น เกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือไม่ เช่น เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่ง จะถูกตัดออกไปหรือไม่ รวมถึงอาจจะกระทบกับบทบาทหน้าที่การเป็นสภาวิชาชีพของคุรุสภาด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับบูรณาการนี้ ยังไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องขององค์กรวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ในเรื่องของการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษา โดยเฉพาะการให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล 

โดยในมาตรา 25 บัญญัติไว้เพียง “ให้ความอิสระแก่สถานศึกษา” ซึ่งเป็นการเขียนแบบกว้างๆ เท่านั้น ทำไมไม่บัญญัติไปเลยว่า “ให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล” ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เองได้เตรียมการเรื่องนี้มานานแล้ว

รวมทั้งในร่าง พ.ร.บ.ยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องเรื่องการไม่ยอมรับโครงสร้างการบริหารกระทรวงศึกษาธิการแบบ Single Command ที่รวบอำนาจ โดยได้บัญญัติในมาตรา 99 “ให้การบริหารราชการใน ศธ.อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และ ปลัด ศธ. ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทุจริตเชิงนโยบาย

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับบูรณาการนี้ ส่งผลกระทบทางลบต่อสิทธิประโยชน์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงระบบการบริหารจัดการการศึกษาโดยภาพรวม 

“องค์กรวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาต่างๆ จะระดมสมาชิกครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ได้ช่วยกันผลักดันและชี้แจงข้อห่วงใยดังกล่าวผ่าน ส.ส.ทุกคนในพื้นที่ ให้เป็นปากเสียงในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ” นายสิรภพกล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)