8 ก.ย.ชิงธง อ.ก.ค.ศ. ‘เขต-จว.’? ลุ้นรัฐสภารับหลักการร่าง พ.ร.บ.ศึกษาชาติ

 

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท ทองบุ ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบบบัญชีรายชื่อ กมธ.ที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 ของสภาผู้แทนราษฎรว่า ทราบว่ามีการบรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 8 กันยายน 2564 นี้ ในระเบียบวาระที่ 5

โดยการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรกดังกล่าว จะพิจารณารับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 ทั้ง 7 ฉบับ ของรัฐบาลที่เสนอโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 6 พรรคการเมือง อันประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย

แต่จะมีการพิจารณาด้วยว่า จะยึดร่างของรัฐบาลหรือพรรคการเมืองใดเป็นหลัก เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของรัฐบาล และ 6 พรรคการเมือง มีความแตกต่างกัน โดยร่างพระราชบัญญัติของ 6 พรรคการเมือง ยึดหลักการที่สอดคล้องกันกับปัญหาและความต้องการของคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มุ่งเน้นให้มีการกระจายอำนาจทางการศึกษาในภูมิภาคสู่เขตพื้นที่การศึกษา

ในขณะที่ร่างของรัฐบาล ที่ ศธ.ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ทำการปรับปรุง มีสาระสำคัญคือ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ยังมีอยู่ แต่ทำหน้าที่ดูแลยุทธศาสตร์การศึกษาเท่านั้น โดยให้แยกการบริหารบุคคลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดนั้นๆ ออกมาโดยเฉพาะ มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) จังหวัด ทำหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรในจังหวัดนั้นๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะอนุกรรมการ

ซึ่งในส่วนของร่าง 6 พรรคการเมืองนั้น ได้ตกลงกันให้ยึดร่างของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขณะเดียวกันได้ขอสนับสนุนไปยัง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ให้ช่วยผลักดันร่างของพรรคการเมือง คือพรรคพลังประชารัฐ เป็นร่างหลักในการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะจะทำให้การจัดการศึกษามีความคล่องตัว อย่างไรก็ตาม น.ส.ตรีนุชได้ขอนำเรื่องนี้ไปหารือกับศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล ศธ.ก่อน

ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ให้การรับรองที่เป็นร่าง พ.ร.บ.ของภาคประชาชน และพรรคการเมืองต่างๆ โดยอ้างว่ามีความสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติของรัฐบาลอยู่แล้ว โดยกำลังรอบรรจุเข้าวาระประชุมร่วม ส.ส. และ ส.ว. หรือที่ประชุมรัฐสภา เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายตามหมวดการปฏิรูปประเทศ

"ดังนั้น จะมีเฉพาะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติของรัฐบาลเท่านั้น ที่จะเข้าพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเข้าพิจารณารับหลักการวาระแรกได้ทันสมัยประชุมสภานี้หรือไม่"

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)