ค.อ.ท ประกาศจุดยืน! ปฏิเสธ Single Command

 

นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) และแกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่เลขาธิการรัฐสภาได้มีหนังสือนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมรัฐสภานี้ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี

โดยก่อนหน้านี้ สมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพครูไทย (ส.อ.ท.) ได้รวบรวมรายชื่อผู้ประกอบวิชาชีพครูเกือบ 2 แสนรายชื่อเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีได้ทบทวนปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ใหม่อีกครั้งก่อนนำเสนอรัฐสภา เพื่อให้เป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขตามข้อเรียกร้อง

เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) จึงเรียกร้องไปยังสมาชิกรัฐสภาที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ ได้โปรดรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอของ ค.อ.ท. และองค์กรครูที่ได้เสนอแก้ไขประเด็นต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งได้มีสมาชิกรัฐสภาหลายท่านทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ได้เตรียมแปรญัตติแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของ ค.อ.ท. และองค์กรครูทั่วประเทศ ไว้ล่วงหน้าแล้ว

สิ่งที่ ค.อ.ท.ห่วงใยและกังวลใจอย่างยิ่งคือ “ใบสั่ง” จากผู้มีอำนาจ ที่จะสั่งการให้สมาชิกรัฐสภาไม่ให้มีอิสระในการพิจารณาหรือลงมติให้พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นไปตามดุลพินิจที่ชอบธรรมของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งอาจจะทำให้พระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่สมประกอบ พิกลพิการที่ยากต่อการนำสู่การปฏิบัติได้

ซึ่ง ค.อ.ท.เคยประกาศชัดเจนมาตลอดว่า ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่ออกตามความมาตรา ๕๔ มาตรา ๒๕๘ จ และมาตรา ๒๖๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะต้องเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้เป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศให้ดีที่สุด และไม่ควรนำเอาร่างพระราชบัญญัตินี้นำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยขอให้คำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้เกิดกับประชาชนมากที่สุด

ค.อ.ท.พร้อมองค์กรเครือข่ายครูทั่วประเทศ ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นผู้อยู่ในสมรภูมิการศึกษามาตลอด ย่อมทราบและเข้าใจปัญหาและแนวทางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้เด็กและเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของชาติได้มีสมรรถนะสำคัญและทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งบันไดที่ก้าวสู่ความสำเร็จดังกล่าวจะต้องมีปัจจัย และกระบวนการ ที่ดีที่สุด จึงจะแก้โจทย์สมการเชิงซ้อนได้สำเร็จ นั่นคือ

๑.การบริหารจัดการในกระทรวงศึกษาธิการจะต้องยึดหลักการกระจายอำนาจ ไม่รวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ( Single Command ) ๒.ผู้ประกอบวิชาชีพครูฯจะต้องเป็นวิชาชีพชั้นสูงมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

๓.การเรียกชื่อตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษาจะต้องให้สอดคล้องกับตำแหน่งบริหารของข้าราชการฝ่ายพลเรือน คือ ตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” ๔.ลดความเหลื่อมล้ำของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการโดยให้ได้รับบัญชีเงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาบัญชีเดียว ๕.สถานศึกษาต้องมีอิสระในการบริหารจัดการลดการควบคุมสั่งการให้เหลือน้อยที่สุด Command

จากจุดยืนและข้อเรียกร้องของ ค.อ.ท. พร้อมองค์กรเครือข่ายทั่วประเทศ เชื่อว่าข้อเสนอในข้อที่ ๒ - ๕ คาดว่าคงจะได้รับการแก้ไขและแปรญัตติในรัฐสภาได้โดยไม่ยาก แต่ในข้อเรียกร้องที่ ๑ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่สุดที่จะให้ ข้อ ๒ - ๕ มีประสิทธิภาพในการการขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ อาจมีข้อจำกัดในรัฐสภา

ค.อ.ท.ไม่ใช่องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นมือปืนรับจ้างให้ฝ่ายใด แต่เป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพครูทั่วประเทศ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเป็นปากเป็นเสียงของผู้ประกอบวิชาชีพครูอย่างแท้จริง จึงขอเรียกร้องมายังสมาชิกรัฐสภาที่ทรงเกียรติ ได้โปรดพิจารณาสนับสนุนญัตติที่มีสมาชิกรัฐสภาเตรียมการแปรญัตติไว้แล้วในมาตรา ๑๐๖ เพื่อให้เป็นโครงสร้างที่เอื้อต่อการกระจายอำนาจ สามารถตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ได้อย่างแท้จริง

ค.อ.ท.และผู้ประกอบวิชาชีพครูทั่วประเทศไม่อยากมีความลำบากใจในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยหน้า พวกเราไม่อยากทอดทิ้งคนที่เรารักและพรรคที่เราชอบ ด้วยเหตุแห่งการยังจะให้ระบบบริหารการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ เป็น Single Command

“ค.อ.ท.และผู้ประกอบวิชาชีพครูทั่วประเทศมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะไม่ใช้มาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล และรัฐสภา เว้นแต่ ค.อ.ท.และเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพครูจะถูกย่ำยีทางความคิดจากผู้มีอำนาจ ก็มิอาจหลีกเลี่ยงได้ในการเผชิญหน้าเพื่อใช้มาตรการตอบโต้ต่อไป” นายธนชน แกนนำเครือข่าย ค.อ.ท. กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)