ค.อ.ท.ดันสภาเร่งพิจารณาร่าง กม.แก้คำสั่ง หน.คสช.19/60 ก่อนถก กม.ศึกษาชาติ

 

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 นายธนชน มุทาพร แกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมแกนนำ ค.อ.ท.ว่า ที่ประชุมแกนนำ ค.อ.ท.วันนี้ได้มีค.อ.ท. ให้สมาชิกเครือข่าย ค.อ.ท.ช่วยผลักดันให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 ให้ทันสมัยประชุมรัฐสภาสมัยนี้

เนื่องจาก 4 ปี ที่อยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ได้สร้างความเสียหายในการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคมามากพอแล้ว ค.อ.ท.จึงคาดหวังว่า รัฐบาลคงจะไม่สับขาหลอกองค์กรครูทั่วประเทศ โดยนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเข้าพิจารณาในรัฐสภา แล้วหาเรื่อง ดองร่างพระราชบัญญัติแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 ให้เป็นหมัน หรือแท้งไปในที่สุด

ค.อ.ท.ยังยืนยันข้อเสนอให้รัฐบาลนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเข้าที่ประชุมรัฐสภาในสมัยประชุมหน้า พร้อมกับร่างกฎหมายลูกอีก 3 ฉบับ เพื่อให้เป็นแพคเก็จเดียวกัน จะได้พิจารณาในรัฐสภาในคราวเดียวกัน จึงจะสอดคล้องร้อยรัดกันทุกฉบับ ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 ยังมีความรุนแรง ยังกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน จนบุคลากรในแวดวงการศึกษาแทบไม่มีเวลาให้ความสนใจกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เกรงจะเกิดการลักหลับ

และในระหว่างนี้ ค.อ.ท.ขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติในประเด็นที่ยังเห็นต่าง และ ยังไม่สอดคล้องกับร่างกฎหมายลูกที่ผู้รับผิดชอบกำลังยกร่างอยู่ในขณะนี้

นายธนชนกล่าวด้วยว่า เครือข่าย ค.อ.ท.ขอสนับสนุนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 ที่ได้รับฟังความคิดเห็นตามกระบวนของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และได้เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจำนวน 6 พรรคการเมือง ซึ่งมีหลักการสำคัญในการกำหนดให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และแก้ไขเพิ่มเติม คืนอำนาจตามมาตรา 53 กลับมายังสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และคืนอำนาจการบริหารแบบมีส่วนร่วม

“โดยเป็นการคืนอำนาจการบริหารงานบุคคล ก่อนที่จะมีการปรับปรุงตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน” แกนนำเครือข่าย ค.อ.ท. กล่าว

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)