แก้คำสั่ง หน.คสช. 19/60 บริหารบุคคลครูแบบ "กระจายดีกว่ากระจุก เร็วดีกว่าช้า"

แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560

บริหารบุคคล ขรก.ครูยุคใหม่

“กระจายดีกว่ากระจุก รวดเร็วดีกว่าล่าช้า”

คอลัมน์คิดนอกกรอบ: พรชัย นาชัยเวียง 

การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ปัจจัยสำคัญในการพัฒนา คือ ครู ที่อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียน ถ้าครูดีมีคุณภาพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้

ก็จะส่งผลถึงคุณภาพผู้เรียน ถ้าโรงเรียนมีครูครบชั้น พอเพียง มีคุณภาพ ก็จะทำให้การจัดการศึกษาของโรงเรียนมีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าครูมีขวัญและกำลังใจที่ดี มีการทำงานอย่างมีความสุข ก็จะทำให้การจัดการศึกษาดีขึ้นตามไปด้วย

ในการบริหารบุคคลของข้าราชการครู ตั้งแต่ พ.ศ.2547 มีคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เรียก ว่า ก.ค.ศ. และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เรียก ว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ทำหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ.2547-พ.ศ.2560 และ อ.ค.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ถูกยุบเลิกไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 เปลี่ยนมาเป็น กศจ. (คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด) และ อกศจ.(คณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด)

การบริหารจัดการศึกษา ที่จะเกิดประโยชน์ต่อราชการและประโยชน์ต่อโรงเรียนและผู้เรียน ควรใช้หลักการมีส่วนร่วม กระจายอำนาจ เพื่อความรวดเร็ว คล่องตัว เกิดผลที่ดีต่อขวัญกำลังใจในการทำงานและการปฏิบัติงาน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากมีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 ทำให้เกิดการรวมศูนย์ มีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีรองศึกษาธิการภาค เป็นรองประธาน และกรรมการผู้แทนสำนักงานส่วนต่างๆ และศึกษาธิการจังหวัดเป็นเลขานุการ ทำให้เกิดความล่าช้า ไม่คล่องตัว ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของแต่ละเขตพื้นที่

กรณีเกิดความล่าช้า ไม่คล่องตัว ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ที่มีหลายเขตพื้นที่ เช่น จังหวัดนครราชสีมา มี 7 เขตพื้นที่

เชียงใหม่มี 6 เขตพื้นที่ อุบลราชธานี ขอนแก่น มี 5 เขตพื้นที่ ร่วมทั้งจังหวัดที่มีกว่า 1 เขตพื้นที่ ทำให้ให้เกิดความกว้าง การดูแลไม่ครอบคลุม กรรมการไม่รู้บริบทและปัญหาของแต่ละพื้นที่ การดำเนินการเรื่องการบริหารบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการย้าย เรื่องการสอบบรรจุ แต่งตั้ง เรื่องวิทยฐานะ เรื่องวินัยข้าราชการ ทำให้ดำเนินการเป็นไปในลักษณะไม่คล่องตัว ล่าช้า แก้ปัญหาไม่ทันท่วงที

ในการบริหารจัดการศึกษายุคใหม่ ควรเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี ควรเน้นการกระจายอำนาจ เน้นการมีส่วนร่วม “กระจายดีกว่ากระจุก รวดเร็วดีกว่าล่าช้า” ภาพที่ชาวไทยทุกคนอยากเห็นคือ บ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ พัฒนาผู้เรียนยุคใหม่ ครูและบุคลากรทางการศึกษามีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานที่ดี

จึงขอเรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมในการดำเนินการบริหารจากทุกฝ่าย เกิดความรวดเร็ว คล่องตัว ตอบโจทย์ การแก้ปัญหาตามบริบทแต่ละพื้นที่ แก้ปัญหาได้ทันท่วงที ยึดหลักคุณธรรมและเกิดความโปร่งใสมากที่สุด

ดังนั้น จึงขอเสนอให้แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 โดยเร็วที่สุด กระจายการอำนาจการบริหารบุคคลไปให้คณะกรรมการบริหารบุคคลแต่ละเขตพื้นที่ คืนอำนาจการบรรจุแต่งตั้งให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นความถูกต้อง ชอบธรรม

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)