เผย สคคท.เตรียมผลักดันสภาผู้แทนฯ ทวงคืน 3 คำสำคัญใน กม.ศึกษาชาติ

ปธ.ชร.ผอ.สพท.ยอมรับห่วง กม.การศึกษาชาติฉบับใหม่ อาจกระทบสิทธิประโยชน์ ขรก.ครูฯบรรจุใหม่ เผยแนวโน้มเตรียมยุบแท่ง สพฐ.-สอศ. ระบุ สคคท.รอผลักดัน กมธ.วิสามัญ สภาผู้แทนฯ ทวงคืน 3 คำสำคัญ “ผอ.สถานศึกษา-ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู-การเป็นวิชาชีพชั้นสูง”

จากกรณีนายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยถึงผลการพิจารณาร่วมของคณะกรรมการกฤษฎีกากับตัวแทนสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.)

เพื่อบูรณาการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับของกระทรวงศึกษาธิการ (ซึ่งเป็นร่างฉบับของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน) และฉบับของ สคคท. (ซึ่ง ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานสมัชชา สคคท. ได้นำเสนอผ่านประธานรัฐสภา) มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการกฤษฎี เป็นประธานในที่ประชุม

โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงคำสำคัญตามข้อเสนอของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แก่ คำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” เป็น “หัวหน้าสถานศึกษา”, “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู”

และยกเลิกคำ “การเป็นวิชาชีพชั้นสูง” ตามที่เคยมีบัญญัติไว้ในมาตรา ๕๒ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ว่า ให้กระทรวงส่งเสริมให้มีระบบกระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง

ซึ่งเกรงจะส่งผลกระทบทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องถูกตัดเงินวิทยฐานะออกไปหรือไม่ เช่นเดียวกับข้าราชการตำรวจตำแหน่งพนักงานสอบสวน ที่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๙ คสช.ได้ปฏิรูปตำรวจ โดยให้ยกเลิกคำสำคัญว่า “พนักงานสอบสวน” และส่งผลให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งพนักงานสอบสวนไม่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เนื่องจากคำสำคัญคือ “พนักงานสอบสวน” ซึ่งเป็นองค์ประกอบในการได้รับเงินประจำตำแหน่ง ถูกยกเลิกไปนั้น

ธนชน มุทาพร

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ในฐานะที่ตนได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกากับตัวแทนสมัชชา สคคท. เพื่อบูรณาการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติดังกล่าว จำนวน 3 ครั้ง

ยืนยันว่า ทางตัวแทนสมัชชา สคคท.ได้พยายามอภิปรายไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงคำสำคัญดังกล่าวแล้ว แต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม จะไปผลักกันอีกครั้งในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร

นายธนชนกล่าวว่า ตนเป็นห่วงเช่นกันว่า การเปลี่ยนแปลงคำสำคัญในกฎหมายการศึกษาแห่งชาติดังกล่าว จะส่งผลกระทบกับแท่งบัญชีเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่บรรจุเข้ามาใหม่หลังกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับหรือไม่

ถ้าหากกระทบจริง ทำให้ได้เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งน้อยลง หรือไม่ได้เงินวิทยฐานะ ก็แน่นอนว่า ต่อไปจะไม่สามารถดึงดูดคนเก่ง มีความรู้ ความสามรถเข้ามาเป็นครูได้อีก และจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพเยาวชนของชาติ และประเทศชาติ

ประธานชมรม ผอ.สพท.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ข้อเรียกร้องเรื่องการไม่เอาโครงสร้างการบริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แบบ Single Command ที่รวบอำนาจเหลือแท่งเดียว คือ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) มีปลัด ศธ.เป็นผู้บังคับบัญชารองจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เท่านั้น ก็ไม่ได้รับการตอบสนองเช่นกัน

ซึ่งต่อไปอาจมีแนวโน้มที่จะเตรียมยุบแท่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และอาจลดฐานะเป็นระดับกรม เพื่อให้ขึ้นกับ ปลัด ศธ. ส่วนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะปรับเปลี่ยนตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ขึ้นต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

อีกทั้ง การพิจารณาในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 99 ที่บัญญัติให้ ศธ.จัดระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ อาจจะขัดกับกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 19 ที่ให้การแบ่งส่วนราชการกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 และแก้ไขเพิ่มเติม

โดยให้ออกเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการนั้น ไม่ใช่ให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติมาบัญญัติให้ ศธ.ไปแบ่งส่วนราชการเองได้ โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง

ตนมองว่า ถ้าเราจะปฏิรูปการศึกษาของชาติ แต่กลับเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลเสียแล้ว ก็มองไม่เห็นผลความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้

“ผมอยากเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านเห็นด้วยว่าครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ได้ฟังเสียงความต้องการของคนในแวดวงครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยนายธนชนกล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)