ครูพอใจรัฐบาลแก้ร่าง กม.ศึกษาชาติ จี้‘บิ๊กตู่-ชวน’เคลียร์ปมขัด รธน. หวั่นตกสภา

ธนชน มุทาพร

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) ในนามตัวแทนเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับผ่านกฤษฎีกาชุดพิเศษ (มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน) ใน 3 ประเด็น

ซึ่งเป็นการคืนบทบัญญัติ 1.แก้ให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงในบันทึกหลักการและเหตุผล และมาตรา 33, 2.แก้จาก "ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู" เป็น "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" เช่นเดิม และ 3.แก้จาก "หัวหน้าสถานศึกษา" เป็น "ผู้บริหารสถานศึกษา" และ "ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา" เป็น "ผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษา" แล้วให้เสนอกลับมายัง ครม.เพื่อพิจารณา ก่อนส่งต่อร่าง พ.ร.บ.ให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป

โดยนายธนชน กล่าวว่า มติ ครม.ดังกล่าวเป็นที่พึงพอใจในระดับหนึ่ง เพราะได้แก้ไขให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงในบันทึกหลักการและเหตุผล และแก้จาก "ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู" เป็น "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" ซึ่งจะช่วยคลายกังวลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกรงว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นี้ จะกระทบกับเงินวิทยฐานะและเงินตอบแทนที่อาจหดหายไปในอนาคต

ประกอบกับการแก้ไขดังกล่าว ช่วยปลดล็อคการแก้ไขร่างกฎหมายในขั้นคณะกรรมาธิการรัฐสภา สามารถจะแปรญัตติแก้ไขมาตราหรือตัดทอนหรือเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ได้ โดยไม่ขัดกับหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ. เพราะได้แก้ไขจาก "ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู" เป็น "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" และแก้ไขให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงในบันทึกหลักการและเหตุผลแล้ว

 

ซึ่งจากนี้ไป ค.อ.ท.จะได้ผลักดันให้มีการแปรญัตติในขั้นคณะกรรมาธิการรัฐสภาตามข้อเรียกร้องที่เหลือของครูฯ ตามที่ได้ยื่นข้อเสนอต่อ ส.ส.และ ส.ว.ทั่วประเทศแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งเรียกร้องให้แปรญัตติมีบทบัญญัติครอบคลุมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการจัดการศึกษา, ให้มีกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนอื่น

ให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการการมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรทางการศึกษาในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ตลอดจนบัญญัติให้สถานศึกษาของรัฐมีผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษาเป็นข้าราชการครู และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

นายธนชนกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ ครม.ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปปรับปรุงแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใน 3 ประเด็นดังกล่าว ค.อ.ท.อยากเรียกร้องรัฐบาลให้ถือโอกาสนี้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ในประเด็นที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย ซึ่งอาจมีอยู่หลายประเด็น

เช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 54 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ มาตรา 12 กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 18 ปี

หรือประเด็นในรัฐธรรมนูญมาตรา 258 (3) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนา....” และวรรคท้าย...รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู แต่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯไม่มีบัญญัติไว้

นายธนชนกล่าวว่า ในกรณีนี้ทางองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาในนามเครือข่าย ค.อ.ท.ต่างวิตกกังวลว่า อาจจะมีบุคคลใดไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งถ้าศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ก็ต้องตกไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเนื้อหาโดยรวมเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติ

“ดังนั้น ก่อนหน้านี้ผู้นำองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงได้ร่วมกันทำหนังสือไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อให้พิจารณาและแก้ไข ป้องกันความสุ่มเสี่ยงที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้อาจต้องตกไป ถ้าขัดรัฐธรรมนูญจริง”

นายธนชน ประธานชมรม ผอ.สพท.กล่าวด้วยว่า ตนมีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกประเด็นที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ 2560 เช่นกัน คือในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ มาตรา 106 ให้อำนาจกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นผู้ทบทวนโครงสร้างกระทรวง แล้วเสนอให้รัฐสภาออกกฎหมายตามที่ ศธ.เสนอ โดยมีเจตนาเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นร่างฯในมาตรานี้ อยากให้ ศธ.ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการเอง โดยใช้อำนาจทางการบริหารเพียงไม่กี่คนมาออกแบบกระทรวง

ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ ตนเคยเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ (มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน) หลอมรวมร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯกับฉบับภาคประชาชนว่า เรื่องดังกล่าวไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 19 และ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 และแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 41 วรรคสอง

จึงเป็นที่มาของมาตรา 106 ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับนี้ ที่ให้ ศธ.ดำเนินการเพื่อให้มีการจัดระเบียบบริหารราชในกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา (สคก.) ได้มีหนังสือเสนอแนะให้ ศธ.ทบทวนโครงสร้างทันทีหลังจากร่าง พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

“ค.อ.ท.จึงมีความเห็นว่า ในร่างมาตรานี้เป็นการแสดงเจตนาให้กระทรวงศึกษาธิการครอบงำอำนาจรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการตราพระราชบัญญัติหรือไม่ และอาจเป็นการขัดรัฐธรรมนูญในมาตรา 133 หรืออาจไม่สอดคล้องกับกฎหมายหลักดังกล่าวด้วย” นายธนชนกล่าว

อนึ่ง ข้อเรียกร้องของกลุ่ม ค.อ.ท.ใน 7 ประเด็น​การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษา​แห่งชาติฉบับผ่านกฤษฎีกา ตามความต้องการของครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบด้วย 

1.ให้มีหลักประกันความสำคัญของวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง, 2.บทบัญญัติให้ครอบคลุมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการจัดการศึกษา, 3.ให้มีบทบัญญัติวิชาชีพทางการศึกษาเป็นวิชาชีพชั้นสูง และคงไว้ซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ, 4.ให้มีกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนอื่น

ประเด็นที่ 5.ให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ, 6.การมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรทางการศึกษาในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และ ประเด็นที่ 7 สถานศึกษาของรัฐมีผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษาเป็นข้าราชการครู และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)