เคลียร์ใจ "องค์กรครู" เป้าหมายเดียวกัน! ผลลัพธ์ ร่าง กม.การศึกษาชาติ

 

'ประธานชมรมครูภาคกลาง' อาสาเคลียร์ใจ!

ร่าง กม.การศึกษาชาติจะ'เข้า-ไม่เข้า'สภา?

"องค์กรครู"ล้วนมีเป้าหมายหนึ่งเดียว

 

โดยสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง

ช่วงนี้ สถานการณ์ของสังคมไทยนั้นต้องผจญกับปัญหามากมาย ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจพื้นล่าง นั่นก็คือประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ หากินหาอยู่ฝืดเคืองมากๆ เพราะสถานการณ์การแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมากขึ้นทุกวัน ทุกพื้นที่ โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงเลย

ทำให้ประชาชนไม่กล้าออกไปจับจ่ายใช้สอย หรือใช้ชีวิตตามปกติได้ มีผลทำให้วงจรเศรษฐกิจถูกตัดขาดการหมุนเวียนของการกระจายเงินหรือการกระจายรายได้ออกไป การค้าขายในระดับพื้นล่างจึงขาดการเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน

ทางแก้ด้านนี้คือ การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลมาฉีดให้ประชาชนทุกคนให้เร็วที่สุดครับ...อีกด้านหนึ่งคือ การตรวจหาผู้ติดเชื้อ ควรตรวจฟรีจากสถานพยาบาลของรัฐ เพราะมีประชาชนอีกมากมายที่ไม่มั่นใจตนเองว่าติดเชื้อหรือไม่ จะทำให้การป้องกันการแพร่เชื้อได้ดียิ่งขึ้นและสแกนคนและคัดแยกคนได้เป็นอย่างดี

นอกจากวัคซีนไม่มี หรือมีน้อย หรือยังไม่มา...สิ่งหนึ่งที่ทำร้ายประชาชนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็คือ "การขึ้นราคาน้ำมัน" ขึ้นวันเว้นวันเลยทีเดียว นี่จะเป็นการซ้ำเติมประชาชนให้แย่ลงไปอีก ทำไมไม่ตรึงราคาไว้ให้ได้ครับ ทั้งๆ ที่ "ประเทศไทยก็มีน้ำมัน" ผมจึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลรักประชาชนให้มากกว่านี้ครับ...

นอกจากนี้ การจัดการเรียนการสอนก็ต้องปิดๆ เปิดๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิด เด็กๆ ไม่ได้รับการศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้ปีการศึกษานี้คงย่ำแย่กว่าปีที่แล้วอย่างแน่นอน ทางเดียวกันก็คือ "พวกเราต้องการวัคซีน" ครับ 

เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษาแล้ว ตามหัวข้อที่จั่วหัวเรื่องไว้ ขณะนี้การวางแผนการศึกษาของชาติมาหยุดชะงักที่ "พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ" เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาของชาติว่า จะไปทางไหน และจะดีขึ้นอย่างไร

ซึ่งที่ผ่านมา คุณภาพการศึกษาของเราเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ จนอยู่ในลำดับที่ไม่ดีนักในอาเซียนด้วยกัน ทั้งๆ ที่รัฐบาลลงทุนด้านการศึกษาไปมากมาย นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราจึงต้องมาปฏิรูปการศึกษาของประเทศใหม่ ด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ ซึ่งจะเป็นธรรมนูญของการศึกษา เป็นตัวชี้นำ เป็นตัวกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาของประเทศต่อไป

แต่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ยกร่างขึ้นใหม่นั้น เมื่อ "ครู" ที่ได้อ่านแล้ว ทำความเข้าใจแล้ว เกิดความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจในตัวบทกฎหมายที่ถูกยกร่างขึ้นในแต่ละมาตรา ก็ต้องคิดอ่านหาทางแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ไม่ใช่เกิดความระแวงสงสัยไปทั้งหมด จนถูกตั้งคำถามว่า จะแก้ปัญหาหรือเพิ่มปัญหากันแน่...??

ในเมื่อเกิดความไม่แน่ใจ? ในร่างกฎหมาย องค์กรครูทุกองค์กรก็มีข้อคำถามกันมากมาย...เมื่อมีคำถาม? แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน...องค์กรครูก็มีการเรียกร้อง ให้ข้อเสนอแนะมากมาย ให้แก้ไข ปรับปรุงข้อความ หรือเปลี่ยนคำสำคัญในรายมาตรา ซึ่งก็ได้รับการแก้ไขในบางส่วน แต่ยังไม่เป็นที่พอใจมากนัก ทำให้มีการคัดค้านการนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยให้นำไปเขียนแก้ไขใหม่ก่อนได้ไหม แล้วค่อยนำกลับมาเข้าสภา!!

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ จะว่าไปแล้วก็ผ่านกระบวนการกลั่นกรองและเป็นไปตามขั้นตอนของการเสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หลักใหญ่ใจความที่องค์กรครูไม่ยอมรับหลักๆ ก็คือ "การกระจายอำนาจ" และหรือ "การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ" ซึ่งดูแล้วว่าไม่ชัดเจน...การคงความสำคัญของความเป็นข้าราชการ...ค่าตอบแทนฯ เป็นต้น

ความไม่ชัดเจนในการปฏิรูปการศึกษาของผู้เรียน....และที่สำคัญคือ "การมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ" มาแทนที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งเป็นแท่งการบริหารโดยไม่แยกส่วนให้ชัดเจน มองว่ามันใหญ่โต เทอะทะและมากไปด้วยอำนาจการบริหารและตัดสินใจของผู้นำระดับประเทศ และไม่มั่นใจว่า กรรมการทุกท่านเหล่านั้นจะพอมี "เวลา" มาสนใจการศึกษาอย่างจริงจังหรือไม่ อย่างไร และที่สำคัญคือไม่มีตัวแทนที่เป็นครูเลยครับ!?!?

มาถึงตรงนี้แล้ว...พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ "เขายกร่างหลักการไว้กว้างๆ " เพื่อไปเขียนขยายในกฎหมายรองหรือกฎหมายลูกตามที่พวกเราชอบเรียกขานกัน กฎหมายลูกจะเป็นตัวอธิบายเป็นตัวขยายในวิธิดำเนินการ เช่น พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ร.บ.นี้จะกำหนดโครงสร้างหลักของกระทรวงว่า จะมีกรม มีกองอะไรบ้าง ใครทำอะไร ใครดูแลเรื่องอะไร สายงานบังคับบัญชาอย่างไร ซึ่งในส่วนนี้พวกเราต้องการให้มีการ "กระจายอำนาจ" อย่างแท้จริง และลงสู่สถานศึกษาให้มากที่สุด ลดขั้นตอนการบริหารให้สั้นลงสู่ "โรงเรียนนิติบุคคล" ต่อไป

พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข่าวว่าจะตัดคำว่า "ข้าราชการ" ออก ให้เหลือแต่คำว่า "ครู" เท่านั้น ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ความสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็คือการกำหนดคุณลักษณะของครู หน้าที่ บทบาท ซึ่งสำคัญมากทีเดียวครับ

พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็น พ.ร.บ.สำคัญมาก เป็นตัวกำหนดความเป็นวิชาชีพชั้นสูงของพวกเรา ซึ่งระบุให้ชัดในรายละเอียดแต่ละมาตราใน พ.ร.บ.ลูกตัวนี้ และยังมี พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องอีก 8-9 ฉบับ ที่ต้องถูกเขียนขึ้นมาใหม่ มาใช้บังคับให้เป็นไปตามขั้นตอนวิธีการของ พ.ร.บ.นั้นๆ

การมองต่างมุมในร่าง พ.ร.บ.การศึกแห่งชาติ จนก่อเกิดเป็นความขัดแย้งกันนั้น ทุกท่านสามารถคิดตามข้อความหลักการในแต่ละรายมาตรา มีหลายมาตราทีเดียว "ที่ทำให้ผู้อ่านซึ่งมีความเข้าใจในตัวบทกฎหมายต่างกัน" นำมาซึ่งความไม่เห็นด้วย จนนำไปสู่ความขัดแย้งกันเองในหมู่องค์กรครูด้วยกัน ถึงขนาดว่า "องค์กรครูองค์กรนั้นสนับสนุน องค์กรนี้ไม่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

ที่เกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้น เพราะกังวลหวาดระแวงในรายมาตรา มาเป็นข้อขัดแย้งและไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นี้ ซึ่งผู้เขียนก็ระแวงสงสัยไม่ต่างจากท่านทั้งหลายที่ให้ข้อคิด มุมมองต่างๆ ในรายละเอียดในแต่ละมาตราเช่นกัน ซึ่งอยากให้แก้ไข/ปรับปรุงเสียก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา หรือต้องแก้ไขให้ได้ในขั้นแปรญัตติของรัฐสภาก็แล้วกัน นั้นคือความหวังของครูทั้งประเทศครับ

ถ้าร่าง พ.ร บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขก่อน "พวกเรา" ทุกองค์กรครูต้องทำหน้าที่กันดังต่อไปนี้ครับ

1.ร่วมกันจัดทำร่างข้อเสนอขอแก้ไขในมาตราต่างๆ ที่จะต้องแก้ไข ด้วยหลักการและเหตุผลในการเสนอขอแก้ไข เพื่อที่ ส.ส.และ ส.ว.จะนำไปอภิปรายสนับสนุนตั้งแต่วาระที่ 1 คือวาระรับหลักการ

2.ร่วมกันจัดทำข้อเสนอแก้ไข ปรับปรุงในรายมาตราให้กับ ส.ส.และ ส.ว.ได้นำไปอภิปรายในวาระที่ 2 ขั้นแปรญัตติและสงวนคำแปรญัตติ หรือสงวนความเห็นในรัฐสภาอีกครั้งก่อนลงมติ

นี่คือสิ่งที่พวกเราจะต้องร่วมมือกันอย่างเป็น "เอกภาพ" จึงจะสำเร็จได้ แต่ถ้าพวกเรายังมองต่างมุม มองต่างกัน หรือแย่งการนำกัน อยู่อย่างนี้ ไม่มีทางหรอกครับที่จะสำเร็จลงได้

แต่ถ้าร่าง พ.ร.บ.ถูกถอดออกไปก่อนเข้ารัฐสภา ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะจะได้นำกลับไปเขียนใหม่ แต่ใครเป็นเขียนนั้นไม่ทราบครับ เพราะฉะนั้น ร่าง พ.ร.บ.จะเข้าหรือไม่เข้ารัฐสภา ผลคือ "ดีทั้งนั้น" เพราะพวกเราก็ใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับเก่าต่อไป และที่สำคัญ "ไม่มีใครแพ้ ใครชนะ" ครับ

มีแต่ผู้ประกอบวิชาชีพครูเท่านั้นครับ ที่จะต้องทำหน้าที่กันต่อไปให้สมกับคำว่า "ครู" ที่เป็นผู้ให้และผู้สร้างคนดีให้กับสังคม

ด้วยความรักและเคารพผู้นำองค์กรครู/ครูและผู้ประกอบวิชาชีพครูทุกท่านครับ เคารพความคิดของทุกท่านอย่าง "คุรุธรรม" และถ้าข้อเขียนนี้อาจไปกระทบความรู้สึกของใครก็ตาม ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ด้วยจิตคาราวะ

นายสิรภพ  เพ็ชรเกตุ

ประธานชมรมครูภาคกลาง

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)