เปิดบันทึก สคคท.! ร่าง กม.ศึกษาชาติฉบับบูรณาการ อาจทำครูฯเสียขวัญ

เปิดบันทึกห่วงใย สคคท.! ร่าง กม.ศึกษาชาติฉบับบูรณาการ อาจทำครูฯเสียขวัญ-คุณภาพการศึกษายิ่งตกต่ำ

จากที่สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) โดยนายดิเรก พรสีมา ประธาน สคคท.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับภาคประชาชน) ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

และต่อมาประธานรัฐสภาได้เสนอร่างกฎหมายนี้ไปยังรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกับตัวแทนภาคประชาชน (สคคท.) พิจารณาบูรณาการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับภาคประชาชน กับฉบับรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ซึ่งเป็นร่างฉบับของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน) เข้าด้วยกัน

แล้วส่งกลับมาให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอไปยังรัฐสภาเพื่อพิจารณาตราเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 ที่จะถึง

บัดนี้การพิจารณาบูรณาการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติทั้งสองฉบับดังกล่าว ของตัวแทนภาคประชาชน (สคคท.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการกฤษฎี เป็นประธานในที่ประชุม ได้ร่วมกันพิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีทั้งสิ้น 103 มาตรา

แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มแกนนำ สคคท.หลายคนที่เข้าร่วมประชุมบูรณาการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติทั้งสองฉบับ ในนามตัวแทนภาคประชาชนดังกล่าว ได้ร่วมกันออกบันทึกข้อความเผยแพร่ในสื่อสังคมโซเชียล อ้างถึงข้อห่วงใยหลากหลายประการที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในระหว่างการพิจารณาบูรณาการร่างกฎหมายทั้งสองฉบับเข้าด้วยกัน

มีการระบุชัดเจนว่า ถ้ามีการตรากฎหมายการศึกษาแห่งชาติให้เป็นไปตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับที่รัฐบาลเสนอมา

จะก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการทางการศึกษาหลายประการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาจะขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และอาจทำให้คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

พร้อมทั้งได้มีการเคลื่อนไหวในนาม สคคท.ไปยังผู้มีอำนาจฝ่ายต่างๆ อาทิ ประธานกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เพื่อขอความเมตตาได้โปรดพิจารณาแปรญัตติ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้ครอบคลุมและขจัดความห่วงใยทั้งหลายที่ สคคท.เสนอมา

บันทึกข้อห่วงใยของภาคประชาชน (สคคท.) เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับบูรณาการแล้ว

.ร่าง พ.ร.บ.ได้กำหนดสิ่งที่เราอยากจะเห็นค่อนข้างชัดเจน เช่น อยากจะเห็นผู้เรียน โรงเรียน ครู การจัดการเรียนการสอน การจัดการศึกษา แผนการศึกษา เป็นอย่างไร แต่มาตรการหรือเงื่อนไขทางกฎหมายที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นบางอย่างยังค่อนข้างคลุมเคลือ เป็นต้นว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนเก่ง ทำงานเต็มที่ เต็มความสามารถ พัฒนาผู้เรียนจนเกิดคุณลักษณะตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๘

.ทำอย่างไรจึงจะทำให้ครู ผู้บริหารโรงเรียน บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ซึ่งจะเป็นผู้ใช้กฎหมายนี้อ่าน เข้าใจ นำไปใช้ คิดค้นหาวิธีการที่จะทำให้ผู้เรียนที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง (พื้นเพ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ฐานะทางเศรษฐกิจ อาชีพของผู้ปกครอง ชุมชน ฯลฯ) เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘ ถ้าไม่สามารถทำให้ผู้เรียนเป็นไปตามนี้ได้ภายในเวลา ๕ ปี ๑๐ ปี คนก็จะออกมาตำหนิเช่นเดิมว่ากฎหมายนี้ (กฎหมายฉบับของอาจารย์มีชัย)ล้มเหลว เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ๒๕๔๒ (กฎหมายฉบับของอาจารย์วิจิตร)

.เมื่อประมาณปี ค.ศ.๑๙๗๙ Prof. James March ศาสตราจารย์ทางการศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาดพิมพ์บทความเผยแพร่ในวารสารว่าประชาชนใน Massachusetts ไว้วางใจและเชื่อมั่นผู้ประกอบวิชาชีพใดมากที่สุด พบว่าวิชาชีพแพทย์ (professional) กฎหมาย (professional) วิศวกร (professional) อยู่ในลำดับต้นๆ ส่วนครู (occupational) อยู่ในลำดับท้ายๆ

เขาจึงตามไปศึกษาต่อว่า นักเรียนและคณาจารย์ของโรงเรียนแพทย์ กฎหมาย วิศวกร ครู ในสมัยโน้นมาจากนักเรียน ม.๖ (Grade 12) กลุ่มใด งบประมาณ ระยะเวลา สิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอน และวิธีเรียนวิธีสอนของโรงเรียนแพทย์ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนผลิตวิศวกร และโรงเรียนผลิตครูต่างกันอย่างไร

ข้อค้นพบของ James March สร้างความตื่นตัวให้กับคนในวงการศึกษาอย่างมาก เกิดคำถามว่า ถ้าอยากเห็นวิชาชีพทางการศึกษาของมลรัฐ ของจังหวัด ของประเทศได้รับการยอมรับและไว้วางใจสูงขึ้น ทำให้ผู้ปกครองเชื่อมั่นและไว้วางใจครู ไว้วางใจคนในวงการศึกษา ทำให้นักเรียนมีคุณภาพสูงขึ้นเราควรจะต้องทำอย่างไร จำนวนและคุณภาพนักเรียนครู ตลอดจนวิธีการเรียนการสอนควรจะต้องเป็นอย่างไร

.สิงคโปร์ ฟินแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี สวีเดน ญี่ปุ่น ใช้วิธีการผลิตครูแบบจำกัดรับ จัดการเรียนการสอนคล้ายๆกันกับโรงเรียนแพทย์ของ Massachusetts (ปัจจุบันสวีเดน และญี่ปุ่นเปลี่ยนไป) ปรากฏว่าคุณภาพครูของประเทศทั้งสามสูง คะแนนสอบ PISA ของนักเรียนในประเทศทั้งสามก็สูง โดยเฉพาะประเทศฟินแลนด์ ทั้งๆที่กระทรวงศึกษาธิการของประเทศห้ามกวดวิชาทุกชนิด ให้นักเรียนเรียนเรียนปีละ ๖๐๐ ชั่วโมง แต่นักเรียนเก่ง นักเรียน ม.๓ ของฟินแลนด์ fluent ในอย่างน้อย ๓ ภาษาทุกคน ครูฟินแลนด์เก่ง

ครูและผู้บริหารโรงเรียนของประเทศฟินแลนด์มีเสรีภาพทางการจัดการเรียนการสอนสูง กระทรวงศึกษาธิการกระจายอำนาจให้แก่ครูและผู้บริหารโรงเรียน ประเทศไม่มีหลักสูตรแกนกลาง ครูสร้างหลักสูตรกันเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะรวมกันเป็นกลุ่ม (professional community) และสร้างหลักสูตรในสาขาที่พวกตนจะสอนร่วมกัน ใช้ร่วมกัน ปรึกษาหารือกัน

.เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๘ ตัวแทนภาคประชาชนและคณะไปสัมภาษณ์นักเรียน ม.๔ ห้องคิงของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาว่า เมื่อจบ ม.๖ แล้วจะไปเรียนต่อคณะอะไร ไม่มีนักเรียนคนใดตอบว่า จะไปเรียนต่อคณะครุศาสตร์เลย ส่วนใหญ่จะเลือกเรียนคณะแพทย์ เพราะจบแล้วมีงานทำ รายได้ดี เป็นอาชีพที่มีหน้ามีตา และส่วนใหญ่เพื่อนๆ ในห้องก็จะไปเรียนต่อคณะแพทย์

ซึ่งสอดคล้องกับคำตอบที่ตัวแทนภาคประชาชนได้รับจากการสอบถาม พูดคุยกับนักเรียนครูที่ Helsinki University และ Seoul National University of Education และที่ได้จากการพูดคุยกับครูและอาจารย์ชาวสิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลี และฟินแลนด์

.ในปี ค.ศ.๒๐๑๑ ธนาคารโลกได้ศึกษาระบบการจัดการศึกษา (Educational System) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า ๖๐ ประเทศ (ตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นนักวิจัยในโครงการด้วย) พบว่า นอกเหนือจาก Native Ability ของผู้เรียนแล้ว ปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงต่อความสำเร็จทางการศึกษาของนักเรียนแต่ละคนคือ ครู และผู้บริหารโรงเรียน

ส่วนหลักสูตร เทคโนโลยีการจัดการศึกษา ระบบการวัดและประเมินผล งบประมาณ เงินเดือนและสวัสดิการครู โครงสร้างทางการบริหาร การประกันคุณภาพมีอิทธิพลต่อคุณภาพผู้เรียนในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับคุณภาพของครูและผู้บริหารโรงเรียน

.ในปี ค.ศ.๒๐๑๕ องค์การยูเนสโกได้ศึกษาระบบการผลิตครูของประเทศต่างๆ จาก ๒๖ ประเทศทั่วโลก (ตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นนักวิจัยในโครงการด้วย) พบว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาสูง ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีการ (1) setting clear expectations for teachers, (2) selecting the best into teaching, (3) preparing teachers with useful training and experience,

(4) matching teachers’ skills with students’ needs, (5) leading teachers with strong principals, (6) monitoring teaching and learning, (7) supporting teachers to improve instruction, and (8) motivating teachers to perform.

ประเทศที่ดำเนินการตามตัวแปรต่างๆ ข้างต้นได้ลดหลั่นกันลงมาก็ประสบความสำเร็จในระดับที่ลดหลั่นกันลงมา ซึ่งในแต่ละตัวแปรหลักเหล่านี้ก็มีตัวแปรย่อยอธิบายต่อไปอีก เป็นว่า supporting teachers to improve instruction เขาทำอะไรกันบ้าง

.ภาคประชาชนจึงอยากให้ พ.ร.บ.การศึกษาที่จะประกาศใช้ใหม่ให้ความสำคัญกับครูและผู้บริหารโรงเรียน ในเรื่องต่อใบนี้

1) พ.ร.บ.ต้องทำให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง (profession) โดยใช้มาตรฐานและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นเครื่องมือในการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของครูและผู้บริหารโรงเรียนในระยะเริ่มต้น ทำให้ครูสามารถ blend Content Knowledge (CK), Pedagogical Knowledge (PK), Technological Knowledge (TK), Ethical Knowledge (EK), and Local Knowledge (LK) เข้าด้วยกัน

ให้กลายเป็น LETPCK เดียวกัน สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้ได้ทั้ง CK, TK, EK, and LK ในเวลาเดียวกัน จนในที่สุด วิชาชีพครูกลายเป็นวิชาชั้นสูง เป็นที่ศรัทธาเชื่อถือ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน

2) ต้องทำให้ระบบการผลิตครู เป็นคล้ายๆกับระบบการผลิตแพทย์ คัดคนเก่งมาเรียน ให้อาจารย์เก่งๆ (และดีๆ มีจิตวิญญาณสูงๆ) เป็นคนสอน ใช้เวลาฝึกและเรียนที่โรงเรียน ที่ห้องเรียนจริง (at the school classroom rather than at the university classroom) เมื่อนักศึกษาครูเรียนจบแล้วมีงานทำ มีรายได้ดี มีศักดิ์ศรี มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตร วิธีสอน วิธีเรียน ให้ครูทำหน้าที่ครู ผู้บริหารโรงเรียนทำหน้าที่บริหาร

3) ต้องพัฒนาครูของครูให้เป็นคนเก่ง คนดี มีจิตวิญญาณความเป็นอาจารย์เป็นเลิศ ให้มาเป็นคนสอนนักศึกษาครู คล้ายๆกับโรงเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาด หรือสถาบันผลิตครูที่สิงคโปร์ ฟินแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี

4) ต้องทำให้ระบบการผลิต การคัดกรอง การใช้ และการพัฒนาครูเป็นระบบย่อยของระบบใหญ่เดียวกัน ต้องทำให้ผู้ผลิต ผู้คัดกรอง ผู้ใช้ ผู้พัฒนาครูและผู้บริหารโรงเรียนทำงานร่วมกัน ประสานและต่อเนื่องกัน ให้หน่วยงานต้นสังกัดของผู้ผลิต ผู้คัดกรอง ผู้ใช้ และผู้พัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษาร่วมกันเป็นเจ้าของ ร่วมกันรับผิดชอบในความสำเร็จและความล้มเหลวด้วยกัน

5) ต้องลดความเหลื่อมล้ำเรื่องคุณภาพของโรงเรียน ทำให้โรงเรียนมีครู ผู้บริหารโรงเรียน วัสดุ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกทางการเรียน ที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ครูหรือผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและด้อยโอกาสต้องได้รับการดูแลทัดเทียมกัน โดยเฉพาะเงินเดือน สวัสดิการ เม็ดเงินเพื่อขึ้นเงินเดือนแตะละปี ต้องใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ

6) ต้องคัดคนที่สอนเก่งๆ มีจิตวิญญาณครูสูงๆ มาอบรมพัฒนาเพื่อให้ไปเป็นผู้บริหารโรงเรียน ต้องคัด ต้องกรอง ต้องอบ ต้องรม ให้เป็นผู้นำชั้นดี เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงก่อนให้ไปบริหารโรงเรียน ต้องเป็น “strong principal” จริงๆ (ไม่ใช่เดินผ่านมหาวิทยาลัยไม่กี่ครั้ง ได้ปริญญาโทบริหารการศึกษา แล้วก็ได้มาเป็นผู้บริหารโรงเรียน)

7) ต้องกระจายอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนและการบริหารให้ครูและผู้บริหารโรงเรียน ให้เขามีอำนาจตัดสินใจ สร้างหลักสูตร เลือกวิธีสอนวิธีเรียน วิธีบริหารให้เป้าหมายบรรลุด้วยตนเอง ให้มีอิสระในการบริหารวิชาการ งบประมาณ บุคคล และบริหารทั่วไปได้จริงๆ ให้มี อ.ก.ค.ศ.ในสถานศึกษาที่มีความพร้อมสูง

8) ในระยะเริ่มแรกนี้ เราต้องทำให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนมีหน้ามีตาในสังคม ตำแหน่ง วิทยฐานะของครูและผู้บริหารโรงเรียนต้องให้ดูโก้ไว้ ให้เป็นครูชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เป็น ผอ.โรงเรียน ฯลฯ ให้ดูโก้ มีรายได้ ให้มีศักดิ์มีศรี เราจึงจะดึงดูดนักเรียน ม.๖ เยี่ยมๆ มาเป็นครูได้สำเร็จ

9) การให้มีหรือให้เลื่อนวิทยฐานะสูงขึ้น ให้ได้ตำแหน่งสูงขึ้น ได้เงินเดือนสูงขึ้นของครูหรือผู้บริหารโรงเรียนต้องดูจากผลการทำงานที่เกิดกับผู้เรียนที่ได้จากการติดตาม ประเมินผลการทำงานที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นหลัก ผู้ติดตามและประเมินผลเพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือวิทยฐานะของครูหรือผู้บริหารโรงเรียนต้องติดตาม ประเมินอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความซื่อสัตย์ และรับผิดรับชอบ

10) ประเทศไทยคงจ้างครูใหม่อีกไม่มาก โดยเฉพาะในระยะ ๕-๑๐ ปี ข้างหน้า ถ้าเราอยากเห็นประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้สำเร็จ แข่งขันกับนานาอารยะประเทศได้ เราต้องพัฒนาครูในระบบประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ คน และผู้บริหารโรงเรียน ประมาณ ๓๕,๐๐๐ คน ให้สำเร็จ

ต้องมีเจ้าภาพประจำในการพัฒนาครูในแต่ละตำบล แต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัดให้ชัดเจน ต้องทำให้ระบบการผลิตครูใหม่เป็นระบบปิด ต้องให้สถาบันผลิตครูที่มีอยู่เปลี่ยนบทบาทไปรับผิดชอบร่วมกันกับโรงเรียนในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน หมู่บ้าน และชุมชน

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งกระทรวงที่มีสถานศึกษาในสังกัดทั้งหลาย ต้องร่วมมือกันในการผลิตและพัฒนาครู สถานบันผลิตครูทั้งหลายต้องพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบเพื่อใช้เป็น Teacher Training School (TTS), Professional Development School (PDS), หรือ Teaching School (TS) เพื่อให้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์

11) ภายใต้บริบทปัจจุบันของประเทศไทย ภาคประชาชนเห็นความจำเป็นที่จะให้มีหน่วยประสานงานทางการศึกษาระดับจังหวัด อาจจะเป็นสำนักงานสภาการศึกษาจังหวัด หรืออาจเรียกชื่ออย่างอื่นเพื่อทำหน้าที่ประสานการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษาระดับและประเภทต่างๆในจังหวัด ที่อยู่ภายใต้สังกัดและกฎหมายแตกต่างกัน

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อนกัน เกิดการทำงานร่วมกัน ผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของจังหวัด มากกว่าความต้องการของประเทศ ความต้องการของจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน หมู่บ้านต้องมาก่อน

12) ภายใต้บริบทปัจจุบันของประเทศไทย ภาคประชาชนเห็นว่า เพื่อเป็นการลดขั้นตอนการบริหาร (administrative hierarchies) หลีกเลี่ยงสภาพ red-tape ขึ้นในการบริหารการศึกษา เราเห็นความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้มีหน่วยงานระดับประเทศมาทำหน้าที่ประสาน บริหารจัดการสถานศึกษาระดับและประเภทต่างๆ ภายใต้สังกัดต่างๆ ไปก่อน โดยเฉพาะในระยะเริ่มแรกของการประการใช้กฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่

ภาคประชาชนไม่เชื่อว่าสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติจะให้บริการ ตอบปัญหา แก้ปัญหาต่างๆ ของครูกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน ผู้บริหารโรงเรียนกว่า ๓๐,๐๐๐ คน นักเรียนกว่า ๘,๐๐๐,๐๐๐ คน และผู้ปกครองอีกหลายล้านคนได้

เมื่อคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติจัดทำกฎหมายลูก ข้อบังคับ ประกาศ ระเบียบภายใต้กฎหมายหลัก กฎหมายรอง ข้อบังคับ ประกาศ ระเบียบต่างๆ แล้วเสร็จ ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองทั้งในชนบทและในเมือง มีความรู้ ความเข้าใจ รู้หน้าที่รับผิดชอบ (responsible) รับผิดรับชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (accountable) มีส่วนร่วม (collaborative) ในการจัดการศึกษาแล้ว จึงค่อยยุบหน่วยงานดังกล่าวได้

หรือถ้าคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และกรรมการระดับลูกทั้งหลายของคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ทำงานไม่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ เราก็ควรจะยุบคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติด้วยเช่นกัน

13) เรื่องครูและเรื่องผู้บริหารโรงเรียน เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ ครูและผู้บริหารโรงเรียนเป็นตัวพยากรณ์หลัก (key predictor) ของความสำเร็จทางการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาใน ศตวรรษที่ ๒๑ ภาคประชาชนเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะมีคณะกรรมการระดับประเทศขึ้นมาดูแลเรื่องครูและผู้บริหารโรงเรียนเป็นการเฉพาะ ไม่ควรจะนำไปแฝงไว้กับคณะกรรมการชุดอื่นๆ

14) ตัวแทนภาคประชาชนยังเชื่อเช่นเดียวกับ Michael Barber ที่ว่า ไม่มีประเทศใดทำให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนได้โดยที่คนในประเทศคุณภาพต่ำ ไม่มีประเทศใดทำให้ประชาชนในประเทศคุณภาพสูงได้ โดยใช้ครูและผู้บริหารโรงเรียนคุณภาพต่ำ ไม่มีประเทศใดทำให้ครูคุณภาพสูงได้โดยใช้ครูของครูคุณภาพต่ำเช่นกัน 

15) กฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ต้องเป็นกฎหมายที่ครู ผู้บริหารโรงเรียน บุคลากรทางการศึกษา ประชาชน เห็นแล้วอยากอ่าน เมื่ออ่านแล้วก็เข้าใจได้ง่าย เป็นหมวดเป็นหมู่ สาระไม่สลับกันไป สลับกันมา ไม่แปลกแยกไปจากสิ่งเดิมหรือประสบการณ์เดิมที่เขาเคยรู้ เคยเข้าใจแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ให้รู้ว่าแต่ละเรื่องมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง มีอะไรเพิ่มเติมหรือถูกตัดออกไป ครูและผู้บริหารโรงเรียนเรียนรู้ได้ง่ายโดยอาศัยประสบการณ์เดิมที่เคยรู้มาแล้ว

ถ้าเรื่องใดอ่านยาก ไม่เข้าใจ ครูและผู้บริหารโรงเรียนจะไม่อยากอ่าน ในที่สุด เขาก็จะไม่รู้ว่าในกฎหมายของเรามีอะไรดี เมื่อผู้ใช้กฎหมายไม่รู้ว่ากฎหมายมีอะไรดี กฎหมายของพวกเราก็จะถูกปฏิเสธ ไม่ถูกนำไปใช้    

16) ถ้าเราพัฒนาครูและผู้บริหารโรงเรียนได้สำเร็จ ครูก็จะจัดการเรียนการสอนแบบ active learning แทนการจัดการเรียนการสอนแบบ passive learning เป็นหลักได้สำเร็จ

17) ภาคประชาชน (สคคท.) เห็นว่า ด้วยเวลาที่จำกัด เร่งรัด เราบูรณาการได้อย่างนี้ก็ถือว่าดีแล้ว ภาคประชาชนได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการมาร่วมฟัง ร่วมเสนอข้อคิดเห็นในครั้งนี้

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)