รัฐสภาเลื่อนลงมติรับหลักการ ร่าง กม.ศึกษาชาติ 'สคคท.'ชงแก้หลายมาตรา

 

รัฐสภาเลื่อนรับหลักการร่าง กม.ศึกษาชาติ

'สคคท.'ชงแก้ไขเพิ่มเติมหลายมาตรา

ให้ ศธ.ออก กม.'ร.ร.นิติบุคคล' ใน 1 ปี

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ที่ประชุมรัฐสภาร่วม ส.ส.และ ส.ว.ได้พิจารณาวาระแรกเพื่อรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ฉบับรัฐบาลที่เสนอโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ให้การรับรองร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับของภาคประชาชน และพรรคการเมืองต่างๆ โดยอ้างมีความสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาลอยู่แล้ว

ซึ่งในการอภิปรายของ ส.ส.และ ส.ว.รวมจำนวน 70 คน ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง สุดท้ายต้องเลื่อนการลงมติวาระรับหลักการออกไปสมัยประชุมหน้า เนื่องจากวิปรัฐบาลและวิปวุฒิสภาเสนอขอเลื่อนการลงมติไปในการประชุมสมัยหน้า ในขณะที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านโต้แย้ง

กระทั่งท้ายสุดองค์ประชุมไม่ครบ 365 เสียง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จึงให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อ่านพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ.2564

สิรภพ เพ็ชรเกตุ

นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง และแกนนำสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษา (สคคท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องยอมรับว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับดังกล่าว มีข้อบกพร่องหลายจุด ดังนั้น คณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน สมัชชา สคคท.จึงได้จัดทำร่างข้อเสนอและประเด็นสำคัญเสนอขอให้ ส.ส. ส.ว. และคณะกรรมาธิการได้แปรญัติในวาระที่ 2 เพื่อนำไปสู่การพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับดังกล่าว ในหลายมาตรา อาทิ

มาตรา 3 เสนอเพิ่มเติมการยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๐ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ ๑.ปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการใหม่ โดยการยกเลิกประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ/ จัดโครงสร้างการบริหารกระทรวง แบ่งเป็น ส่วนกลาง ส่วนกลางในภูมิภาค ส่วนจังหวัด และสถานศึกษา

๒. ยกเลิก สำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธ.ภ.) ยังคงศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา (สพป.) ให้มีสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.) ทุกจังหวัด และมีสถาบันอาชีวศึกษาประจังหวัด ทุกจังหวัด

๓. ลดสายบังคับบัญชา และลดขั้นตอนการปฏิบัติงานกระบวนการพัฒนาและแก้ปัญหาด้านการศึกษาสอดคล้องกับความเป็นจริงได้มากขึ้น ๔.การแบ่งส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องตราเป็นกฎหมายผ่านระบบรัฐสภา แทนอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนี้ ได้เสนอเพิ่มเติมคำนิยามในมาตรา 4 ดังนี้ “การศึกษา” หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการการสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

“บุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา” หมายความว่า ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานการศึกษาที่ทำหน้าที่สนับสนุนการศึกษาให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษาตลอดจนการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษาของรัฐและเอกชน

“การประกันคุณภาพการศึกษา” หมายความว่ากระบวนการพัฒนาคุณภาพอย่างเป็นระบบ ซึ่งประกอบด้วยการกำหนดมาตรฐาน การประเมินคุณภาพตามมาตรฐาน และการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดความมั่นใจว่าสถานศึกษาจะจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามที่กำหนด

“ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” หมายความว่าใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารการศึกษาในส่วนราชการ ศึกษานิเทศก์ นักพัฒนาการศึกษา

เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๑๑  ดังนี้ (๕) รัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ และมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือและอุดหนุนการจัดการศึกษาตาม(๑) (๒) (๓) (๔)และ(๕)อย่างมีคุณภาพ โดยตัดคำว่า ในการจัดการศึกษาดังกล่าว รัฐจะมอบหมายให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการหรือดำเนินการโดยใช้ทรัพยากรของรัฐก็ได้

ทั้งนี้ มีเหตุผลสืบเนื่องจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ได้ให้สิทธิแก่ภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคล โดยเอื้ออำนวย ส่งเสริม สนับสนุนและการอำนวยความสะดวกจากรัฐมากแล้ว จนสังเกตได้ว่า “รัฐนั้นจะโยนการจัดการศึกษาไปให้เอกชนเสียทั้งหมดและสามารถใช้ทรัพยากรของรัฐได้” ซึ่งจะเห็นได้ในมาตรา ๑๑ (๓) (๔) (๕) (๗) (๘) มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๙

“ทรัพยากร” ในที่นี้คงหมายถึง ทรัพยากรในการบริหาร ๔ M นั่นก็คือ man (คน) money (เงิน) material (วัสดุอุปกรณ์) และ management (การบริหารจัดการ) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ในการลงทุนด้านการศึกษานั้นมีความสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนมากกว่า ซึ่งจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะคุ้มทุน

นั่นเป็นเหตุผลที่ภาคเอกชนจะต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก และประการสำคัญคือ สถานศึกษาที่สามารถประกอบกิจการแล้วมีผลกำไรหรือคุ้มค่า นั่นก็คือสถานศึกษาที่อยู่ในชุมชนเมืองและสามารถแข่งขันได้ ภาคเอกชนจึงจะสนใจ โดยเฉพาะโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ประจำอำเภอ

แต่ในทางกลับกันสถานศึกษาที่อยู่ในต่างอำเภอ ต่างตำบล ที่เอกชนประเมินแล้วไม่คุ้มเสี่ยงกับ สถานศึกษานั้นๆ ซึ่งคงไม่มีเอกชนที่ไหนจะเข้าจัดการศึกษาเพื่อเสี่ยงกับต้นทุนและเวลาที่เสียไป และที่สำคัญ ภาคธุรกิจเอกชนจะเข้าไปบริหารจัดการจะทำได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับกฎหมายลูกจะเปิดช่องให้เข้าไปบริหารจัดการ

สิ่งหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้ง ๒ ทางคือ เอกชนเข้ามาบริหารสถานศึกษาทั้ง ๔ งานโดยใช้ทรัพยากรของรัฐ(ไม่ต้องลงทุน) การสั่งการ/กำกับ/ติดตามประเมินผลครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นราชการในสถานศึกษาของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดเมื่อมีผลบังคับใช้

จึงขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมคำว่า ๑.การบริหารและการจัดการศึกษา “อย่างมีคุณภาพ” ให้กับ “คนของรัฐและสถานศึกษาของรัฐ”ให้สมกับคำว่า “ครูเป็นบุคลากรวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่ง เป็นวิชาชีพชั้นสูงและเป็นวิชาชีพควบคุม

๒.ให้ตัดคำว่า “ในการจัดการศึกษาดังกล่าว รัฐจะมอบหมายให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการหรือดำเนินการโดยใช้ทรัพยากรของรัฐก็ได้” เพื่อให้โรงเรียนนั้นคงอยู่คู่ชุมชนในบริบทของคำว่า บวร ตลอดไป

เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๓๓ ดังนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของครูซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูงเกิดความสมบูรณ์และดำรงฐานะอันสูงส่งในการหล่อหลอมคน ครูต้องอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู จัดการศึกษาทำการศึกษา ค้นคว้า และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปฏิบัติตนเป็นแม่พิมพ์และแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียนและสังคม

มาตรา ๓๕ เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีหลักประกันความเป็นข้าราชการ หรือความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีสถานะและได้รับเงินเดือนเงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนอื่นตามกฎหมายที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

ได้รับสิทธิและประโยชน์เทียบเคียงได้กับข้าราชการ มีความโปร่งใสในการรับบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งได้อย่างเป็นธรรมและได้รับค่าตอบแทนอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมตลอดทั้งหลักประกันในการที่ครูจะสามารถดำรงตนและปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ในการจัดทำกฎหมายตามวรรคหนึ่ง ให้มีองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นส่วนราชการในส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

มาตรา ๓๙ วรรคสอง เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพครู การกำหนดมาตรฐานความเป็นครู การออก การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของความเป็นครูให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่คุรุสภาต้องนำผลการศึกษาวิจัยตามมาตรา ๓๘ มาเป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

มาตรา ๔๑ ให้ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษา ครู ในสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของรัฐ ได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนอื่นตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาอาจมีระดับตำแหน่ง เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

ผู้บริหารสถานศึกษาและรองผู้บริหารสถานศึกษาอาจมีชื่อตำแหน่งเรียกเป็นอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้นได้

มาตรา ๔๒ วรรคแรก เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้ ให้มีองค์กรวิชาชีพครูองค์กรของครู เรียกว่า “คุรุสภา” ซึ่งเป็นสภาวิชาชีพครู มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู การพักใช้ การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ส่งเสริมช่วยเหลือด้านสวัสดิการ และประโยชน์อื่นใด

รวมตลอดทั้งการพัฒนาผู้บริหารการศึกษาสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษา และครูให้สอดคล้องกับมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ และหน้าที่อื่นที่ยังประโยชน์ต่อครูฯ

มาตรา ๖๙ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๖๗ และมาตรา ๖๘ การจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงาน ตามมาตรา ๖๘ ต้องไม่มีลักษณะที่ทำให้การจัดการศึกษาแต่ละช่วงวัยถูกจัดให้เป็นอิสระจากกัน ต้องมีการบูรณาการกัน และไม่ทำให้สถานศึกษาขาดอิสระในการจัดการศึกษาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

ซึ่งได้เสนอขอเพิ่มเติมดังนี้ การจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติโดยยึดหลักการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและสถานศึกษาโดยตรง

มาตรา ๗๑ ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่จะดำเนินการ หรือจัดให้มีสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน หรือสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘(๖)(ก) อย่างแพร่หลาย รวมตลอดทั้งส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือให้ภาคเอกชน หรือองค์กรที่มิใช่หน่วยงานของรัฐดำเนินการหรือจัดให้สถานศึกษาดังกล่าวอย่างทั่วถึง หรือให้มีส่วนร่วมกับสถานศึกษาดังกล่าวในการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะ ความรู้ความชำนาญสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การจัดการศึกษาตามวรรคหนึ่งต้องมุ่งเน้นให้เกิดทักษะและความชำนาญในการประกอบอาชีพ และต้องจัดให้มีอุปกรณ์ในการฝึกทักษะและฝีมืออย่างพอเพียง ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา ๗๕ ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดให้มีการประเมินคุณภาพการศึกษา “เพื่อประกันคุณภาพการศึกษาและมาตรฐานการศึกษา” ของประเทศเป็นครั้งคราวตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด เพื่อให้ทราบถึงอุปสรรค ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายและการยกระดับการศึกษาของประชาชน และการนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์ในการติดตาม ปรับปรุง และการพัฒนาการศึกษาของชาติ

การประเมินตามวรรคหนึ่งต้องกระทำโดยหน่วยงานภายนอกและตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด แต่หลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวต้องไม่สร้างภาระต่อสถานศึกษาและการปฏิบัติหน้าที่ของครูเกินความจำเป็น

มาตรา ๗๖ ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีกระบวนการในการพัฒนาและประเมินคุณภาพคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ ตามแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด แนวทางดังกล่าวต้องมุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาองค์กรและมีความหลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับสถานศึกษาที่มีปัญหาและอุปสรรคแตกต่างกัน

สถานศึกษาอาจขอให้มีการรับรองการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามวรรคหนึ่งตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดได้

มาตรา ๘๘ เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมในร่างบัญญัติดังนี้ (๕) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการศึกษาปฐมวัย ด้านการประถมศึกษา ด้านการมัธยมศึกษา ด้านการอาชีวศึกษา ด้านการอุดมศึกษา ด้านการศึกษาพิเศษ ด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้านการศึกษาเพื่อคนพิการ ด้านการศึกษาสำหรับผู้ที่มี ความสามารถพิเศษ ด้านการเงินและการคลัง ด้านเศรษฐศาสตร์ด้านละหนึ่งคน

และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย สมาคมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย และสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่วมกันเสนอจำนวนหนึ่งคน และประชาชนซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือเป็นการทั่วไปว่าเป็นผู้ชำนาญการในภูมิปัญญาท้องถิ่นจำนวนหนึ่งคน

ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้เลขาธิการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเป็น ผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคน

คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหา การเลือกกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจาก ตำแหน่งของกรรมการให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายที่ว่าด้วยการนั้น

กรรมการตาม (๒) และ (๓) จะมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลอื่น มาประชุมแทนมิได้ เว้นแต่เป็นการมอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

มติของคณะกรรมการนโยบายมีผลผูกพันส่วนราชการที่มีหัวหน้าส่วนราชการ เป็นกรรมการที่ส่วนราชการใด ดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการนโยบาย ให้ถือว่าหัวหน้าส่วนราชการซึ่งเป็นกรรมการนั้นจงใจไม่ปฏิบัติ ตามกฎหมาย

การไม่เข้าร่วมประชุมไม่ว่าด้วยเหตุใด ไม่เป็นเหตุให้ไม่ต้องปฏิบัติตามความในวรรคห้า

มาตรา ๑๐๖ เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเพื่อให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ โดยยึดหลักการกระจายอำนาจและจะต้องดำเนินการให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานภายในทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค เป็นไปอย่างมีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในการปฏิบัติ

สามารถบูรณาการระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานภายในกระทรวงและหน่วยงานอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุเป้าหมายตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ให้การบริหารราชการเกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาสองปีนับแต่วันทีพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ให้กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการตรากฎหมายที่เกี่ยวกับสถานศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ตามมาตรา ๒๐ วรรคสี่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)