ส.ส.-ส.ว.อภิปรายชี้จุดด้อยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติฉบับรัฐบาล วาระแรกคึกคัก!

 

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ที่ประชุมรัฐสภา ร่วม ส.ส.และ ส.ว.ได้พิจารณาเรื่องสำคัญวาระที่ 1 รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีเฉพาะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับของรัฐบาล ที่เสนอโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ให้การรับรองร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับของภาคประชาชน และพรรคการเมืองต่างๆ โดยอ้างว่ามีความสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาลอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ช่วงก่อนลงมติวาระแรกรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับของรัฐบาล มี ส.ส.และ ส.ว.หลายคนได้อภิปรายชี้ข้อดี ข้อเสีย จุดบกพร่อง และข้อเสนอแนะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับของรัฐบาลอย่างน่าสนใจ

อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท ทองบุ ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบบบัญชีรายชื่อ และ กมธ.ที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวอภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ขาดความชัดเจน สับสน มองไม่เห็นความหวังในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ก่อนการพิจารณาตราเป็นกฎหมาย รัฐสภาแห่งนี้จะต้องช่วยกันตอบคำถามต่อไปนี้ 1.เราต้องการประเทศเป็นไปในทิศทางไหน อย่างไร 2.ต้องการให้คนไทยเป็นอย่างไร

3.การศึกษาเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงาม หรือเพื่อควบคุม ปกครอง สอนให้เชื่อฟังและเชื่อง หรือว่านอนสอนง่าย หรือคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 4.การบริหารจัดการเป็นการวางอำนาจ กระจายอำนาจ หรือรวบอำนาจ เป็นรัฐราชการรวมสูญ ใช้อำนาจเชิงเดี่ยว โครงสร้างการบริหารหลักควรเป็นอย่างไร

5.ครูจะเป็นเพียงอาชีพหรือวิชาชีพควบคุม มีใบอนุญาตฯ แต่ไม่มีสภาวิชาชีพ 6.ครูของรัฐจะเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐเท่านั้น 7.การศึกษาขั้นพื้นฐานจะเป็นบริการสาธารณะ หรือเป็นการศึกษาเสรี 8.เอกชนจะมาแบ่งเบาภาระของรัฐ หรือมาเป็นทางเลือกเพื่อการแข่งขันตามกลไกการตลาด ในขณะที่มัดแขนโรงเรียนรัฐและเอื้อแก่โรงเรียนเอกชน

9.การเรียนฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็น 12 ปี 15 ปี หรือ 18 ปี 10.สภา/คณะกรรมการ/หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ต้องยกเลิกไปตามการยกเลิกของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่ หากไม่ยกเลิกจะทำหน้าที่อะไร เพราะอำนาจหน้าที่เป็นของคณะกรรมการนโยบายทั้งหมดแล้ว

11.ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับรัฐบาลนี้ จะเป็นกฎหมายมีสภาพบังคับหรือเป็นตำราเรียนที่ยัดเยียดความคิดความเชื่อไว้ตายตัว ซึ่งยากที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามกาลเวลา และ 12.กฎหมายนี้ครอบคลุมการจัดการศึกษาทั้งหมดของประเทศหรือไม่ ทุกระดับ ทุกประเภทหรือไม่

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)