เปิดไทม์ไลน์ สคคท.ขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ ปชช.

เปิดไทม์ไลน์ สคคท.

ขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ ปชช.

 

“เสวนากับบรรณาธิการ” ขอนำเสนอไทม์ไลน์สำคัญๆ ในการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ฉบับภาคประชาชน ของสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สคคท. ซึ่งได้เรียบเรียงมาจากข้อมูลของตัวแทนกลุ่ม สคคท.นั่นเอง

ลำดับแรก องค์กรทางการศึกษา 18 องค์กร ได้รวมตัวกันในนามสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ใช้ชื่อย่อว่า สคคท. เพื่อประชุมปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

โดยมอบหมายให้ ดร.ดิเรก พรสีมา ทำหน้าที่ประธาน สคคท., ดร.นิวัตร นาคะเวช และนายปรีชา จิตรสิงห์ เป็นรองประธาน

2.สคคท.ได้ประสานทีมการเมืองทำให้ทราบว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ภาคประชาชนสามารถเสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ โดยใช้ผู้เสนอ 10,000 รายชื่อ

สคคท.จึงได้ยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับภาคประชาชนขึ้น และได้รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้เสนอได้ 14,506 คน ดำเนินการโดยนายกมลเทพ จันทรจิต

ส่วนการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้ยึดหลักทิศทางการปฏิรูปการศึกษาไทย เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยมีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย ได้แก่ ๑.เพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการเรียนการสอน ๒.เพิ่มความเสมอภาคของสถานศึกษาทั่วประเทศ ๓.ส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมเข้ามาเป็นครู

.เชิดชูวิชาชีพครูให้เป็นผู้ดำรงหน้าที่การพัฒนาเยาวชนของชาติ ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 .ส่งเสริมให้ครูได้รับค่าตอบแทนและวิทยฐานะ พอเพียงต่อการดำรงทำหน้าที่ครู ๖.กระจายอำนาจจัดการศึกษาสู่สถานศึกษาโดยตรง ๘.บูรณาการงบประมาณด้านการศึกษาอย่างทั่วถึง

3.สคคท.นำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเสนอนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

โดยแนบรายชื่อประชาชนผู้เสนอ 14,506 คน

4.สคคท.ร่วมกันวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.เข้าพิจารณาในสภาฯ จึงได้ปรึกษา “ครูแก้ว”  นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร

ประสานงานโดยนายประชัน จันระวังยศ

5.นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ “ครูแก้ว”  ได้ชักชวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นครู 27 คน มาร่วมกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับภาคประชาชนนี้ ในนามคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน

มี “ครูแก้ว”  นายศุภชัย โพธิ์สุ ทำหน้าที่ประธาน, นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นรองประธาน, นายเกษม ศุภรานนท์ และ ส.ส.ที่เป็นครูจากทุกพรรคการเมืองร่วมสนับสนุน

6.คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน และ สคคท.ได้ประชุมวางแผนการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับภาคประชาชนนี้ โดยขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้ทันรัฐบาลนี้ ซึ่งเหลือระยะเวลาประมาณ 2 ปี

7.วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ทีมงานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน และ สคคท. จำนวน 10 คน เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล

เป้าหมายต้องการเร่งให้นำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเข้าพิจารณาในรัฐสภาให้ทันรัฐบาลนี้ เพื่อจะได้ปลดล็อกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 และ ม.44

8.นายกรัฐมนตรี ปรึกษา ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลด้านการศึกษา เพื่อให้ทันรัฐบาลนี้

โดย ดร.วิษณุเสนอให้เป็นกฎหมายปฏิรูป รัฐบาลนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา แล้วเสนอเข้ารัฐสภาให้ทันเปิดสมัยประชุมเดือนพฤษภาคม 2564

9.พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเชิญตัวแทนภาคประชาชนร่วมเสนอข้อมูลและพิจารณาด้วย

10.ตัวแทน สคคท.ได้รับเชิญจำนวน 5 คน คือ ดร.ดิเรก พรสีมา, ดร.นิวัตร นาคะเวช, นายประชัน จันระวังยศ, นายกมลเทพ จันทรจิต และ ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง

ต่อมากฤษฎีกาอนุญาตเชิญทีมงานภาคประชาชนเพิ่มเติม ได้แก่ นายสิริภพ เพ็ชรเกตุ ตัวแทนองค์กรครู, นายเรือน สิงห์โสภา ตัวแทนองค์กรครู และบางวันประชุมมีสมาชิกเพิ่ม คือ นายปรีชา จิตรสิงห์, นายธนชน มุทาพร, นายอาวุธ ทองบุ, นายไกรทอง กล้าแข็ง

บทบาทที่ตัวแทนภาคประชาชน/สคคท.เข้าไปร่วมพิจารณาและให้ข้อมูลกับคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการกฤษฎี เป็นประธานในที่ประชุม ไม่ไช่การไปยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แต่เป็นการนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับประชาชน เข้าไปร่วมพิจารณา

ถ้าตัวแทนภาคประชาชน/สคคท. และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับประชาชน ไม่ได้เข้าไปประกบ คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษก็จะใช้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ทั้งฉบับไปเลย

แต่เมื่อ สคคท.มีโอกาสเข้าร่วมพิจารณา จึงพยายามช่วยกันเสนอแก้ไขในประเด็นที่เห็นต่าง และได้รับการแก้ไขในหลายประเด็น เช่น การส่งเสริมศักยภาพด้านการจัดการเรียนการสอน ความเสมอภาคของสถานศึกษา การส่งเสริมคนดีมีคุณภาพให้มาเป็นครู ยกย่องเกียรติครู ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบครู ส่งเสริมให้ครูได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ ค่าตอบแทนที่เพียงพอ การกระจายอำนาจลงสู่สถานศึกษา สนับสนุนด้านงบประมาณลงสู่โรงเรียนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เป็นต้น

แต่ยังมีบางประเด็นที่ยังเป็นข้อกังวลของเพื่อนครูที่ สคคท.จะดำเนินการผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่ ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง การผลิตและพัฒนาครูอย่างเป็นระบบและเน้นคุณภาพ เป็นต้น

โดยในประเด็นที่ยังเป็นข้อกังวลจะต้องนำเสนอเป็นอันดับแรกในการประชุมรัฐสภาในวาระที่ 1 ในชั้นรับหลักการ และในวาระ 2 ชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

ทั้งนี้ นอกจาก สคคท.แล้ว ยังมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการมาร่วมพิจารณาและให้ข้อมูลด้วย โดยเฉพาะสภาการศึกษาทำหน้าที่เต็มกำลัง ทั้งนี้ สคคท.ถือว่าได้ทำหน้าที่การพิจารณาในคณะกรรมการกฤษฎีกาเสร็จแล้ว

11.วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ดร.ดิเรก พรสีมา ประธาน สคคท. ออกแถลงการณ์ สคคท. ระบุว่า “ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ฉบับที่รัฐบาลจะเสนอต่อรัฐสภาในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้

ถ้าตัวแทน สคคท.ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก็จะได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนพี่น้องเพื่อนครูอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในประเด็นที่ยังเป็นข้อกังวลของเพื่อนครูดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากได้ศึกษาอย่างถ่องแท้และวิเคราะห์อย่างละเอียดจะเห็นว่า มีส่วนดีต่อการปฏิรูปการศึกษาชาติอย่างรอบด้าน มีส่วนดีต่อสถานศึกษา ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของครูและบุคลากร ต่อเด็ก ผู้ปกครองและชุมชน เอื้อต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

แต่ในส่วนที่เป็นข้อกังวลของเพื่อนครู ก็ต้องมาช่วยกันวิเคราะห์หาช่องทางแก้ไขร่วมกันเพื่อให้ขวัญกำลังใจของเพื่อนครูกลับมา

จึงขอให้ท่านผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาได้ช่วยกันให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อ ส.ส.และ ส.ว.ในพื้นที่ เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาในขั้นตอนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และการลงมติของสภาฯต่อไป”

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)