‘ตรีนุช’เชิญภาค ปชช.ถกทางออกขับเคลื่อนร่าง กม.ศึกษาชาติ หลังครูฮึ่มทั่ว ปท.

รัฐบาลหาทางออกขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ หลังครูฯทั่ว ปท.ฮือต้าน ส่ง ตรีนุชเชิญภาค ปชช.รับฟังข้อเรียกร้อง “ค.อ.ท.” เสนอวิธีใช้อำนาจ รมว.ศธ.ดึงร่าง กม.กลับมาให้ สกศ.แก้ไข ก่อนชงเข้าสภา

เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เชิญตัวแทนองค์กรครู/ภาคประชาชน เข้าร่วมหารือหาทางออกการขับเคลื่อน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

ประกอบด้วย นายดิเรก พรสีมา ประธานสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (.) นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย และนายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ในนามตัวแทนเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) และนายบูรพาทิศ พลอยสุวรรณ์ อดีตรองเลขาธิการคุรุสภา

ก่อนที่ นางสาวตรีนุช พร้อมด้วยทีมที่ปรึกษา และ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะได้นำข้อหารือทางออกการขับเคลื่อน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติในช่วงเช้านี้ ไปหารือต่อกับ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันเดียวกันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยจะมีผู้เข้าร่วมประชุมด้วย เป็นกลุ่มคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน และ สคคท. เช่น นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร, นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล, นายเกษม ศุภรานนท์, นายสฤษดิ์ บุตรเนียร, นายดิเรก พรสีมา, นายประชัน จันระวังยศ, นายนิวัตร นาคะเวช, นายวิสิทธิ์ ใจเถิง, นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ

ทั้งนี้ นายธนชน เปิดเผยภายหลังร่วมหารือกับนางสาวตรีนุช ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ว่า ตน, นายรัชชัยย์ พร้อมด้วยนายไพศาล ปันแดน นายกสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ได้ยืนยันข้อเรียกร้องของเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ที่รวบรวมความคิดเห็นจากครูทั่วประเทศต้องการให้รัฐบาลแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะนำเสนอเข้ารัฐสภา

โดยเฉพาะในประเด็นให้คงบทบัญญัติสำคัญตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เกี่ยวกับ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ไม่เอา “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” , ให้คงบทบัญญัติวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง , คงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบกับเงินวิทยฐานะและเงินตอบแทนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อาจหดหายไปในอนาคต ตามที่ข้าราชการครูฯทั่วประเทศวิตกกังวลกัน

รวมทั้งให้มีบทบัญญัติกำหนดชัดเจนเรื่องโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ในระบบการบริหารจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับกระทรวงลงไปถึงหน่วยงานเขตพื้นที่ จังหวัด และสถานศึกษา 

นายธนชนกล่าวว่า หากรอให้นำร่าง พ.ร.บ.ไปแก้ไขในรัฐสภาแล้ว เกรงว่าจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะถ้ารัฐสภามีการรับหลักการในวาระแรกแล้ว ก็ไม่สามารถจะไปแก้ไขในตัวบทได้ เนื่องจากเป็นการขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังที่ได้บัญญัติไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.๒๕๖๒ ที่บัญญัติว่า “...การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอนหรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น

 

ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้บัญญัติเรื่อง “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู ไว้อย่างชัดเจนในเหตุผลของการร่างกฎหมาย จนน่าตั้งข้อสังเกตด้วยซ้ำไปว่า มีเจตนาหมกเม็ดเรื่องการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ในสภาหรือไม่?

ดังนั้น กลุ่มตัวแทน ค.อ.ท.จึงได้เสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มข้าราชการครูฯทั่วประเทศ โดยเสนอให้นางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ใช้อำนาจการบริหารดึงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับที่เป็นปัญหานี้ กลับมาให้ สกศ.แก้ไขก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภาต่อไป

“ข้อเสนอนี้สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเป็นของ ศธ.ในฐานะผู้เสนออยู่แล้ว อีกทั้ง สกศ.ก็เคยจัดประชาพิจารณ์รับทราบถึงความต้องการของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศอยู่แล้วด้วย” ตัวแทนกลุ่ม ค.อ.ท.กล่าว

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานด้วยว่า ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศจำนวนกว่า 200 องค์กร ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวต่อต้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา (ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน) พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการแก้ไขใน 7 ประเด็นหลัก ตามความต้องการของครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนนำเข้าพิจารณาในรัฐสภา

เช่น ส่งหนังสือคัดค้านถึง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ในนาม ค.อ.ท. และในนามองค์กรครูฯในหลายจังหวัด, เคลื่อนไหวแบบดาวกระจายส่งตัวแทนยื่นหนังสือคัดค้านถึงมือ ส.ส. และ ส.ว.ในทุกจังหวัด รวมถึงผู้ประสานงานรัฐบาล, ถ่ายภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาแสดงพลังสัญลักษณ์คัดค้าน รวมทั้งจัดทำป้ายคัดค้านในจังหวัดต่างๆ

อนึ่ง ข้อเรียกร้องของกลุ่ม ค.อ.ท.ใน 7 ประเด็น​การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษา​แห่งชาติฉบับผ่านกฤษฎีกา ตามความต้องการของครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบด้วย 

1.ให้มีหลักประกันความสำคัญของวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง, 2.บทบัญญัติให้ครอบคลุมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการจัดการศึกษา, 3.ให้มีบทบัญญัติวิชาชีพทางการศึกษาเป็นวิชาชีพชั้นสูง และคงไว้ซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ, 4.ให้มีกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนอื่น

ประเด็นที่ 5.ให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ, 6.การมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรทางการศึกษาในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และ ประเด็นที่ 7 สถานศึกษาของรัฐมีผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษาเป็นข้าราชการครู และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)