สัญญาณความวุ่นวาย! ร่าง ก.ม.ศึกษาชาติฉบับหลอมรวม 'รัฐบาล-ปชช.'

ความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติว่า ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกับตัวแทนภาคประชาชน (กลุ่มตัวแทนสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สคคท.) 

ร่วมกันพิจารณาบูรณาการหลอมรวมร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ซึ่งเป็นร่างฉบับของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ. ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน) กับฉบับภาคประชาชน (ที่ ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานสมัชชา สคคท. ได้รวบรวมรายชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้สนับสนุน 1.4 หมื่นคน เสนอผ่านประธานรัฐสภา)

แล้วส่งกลับมาให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอไปยังรัฐสภาเพื่อพิจารณาตราเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 ที่จะถึง

ต่อมามีการพิจารณาร่วมกันหลายนัดระหว่างตัวแทนภาคประชาชน (สคคท.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการกฤษฎี เป็นประธานในที่ประชุม และได้พิจารณาเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 103 มาตรา

ซึ่งกลุ่มผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ติดตามเรื่องนี้หลายคน ต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับบูรณาการที่ออกมา อาทิ

สิรภพ เพ็ชรเกตุ

นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง ระบุว่า ตนในฐานะเป็นหนึ่งในตัวแทนสมัชชา สคคท.ที่เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า สาระส่วนใหญ่ประมาณ 60% น่าจะส่งผลดีต่อการศึกษาชาติ

แต่อีก 40% ยังไม่เป็นที่ยอมรับของตัวแทน สคคท.ที่เข้าร่วมประชุม เพราะล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่เกรงว่าอาจส่งผลกระทบทางลบต่อสิทธิประโยชน์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงระบบการบริหารจัดการการศึกษาโดยภาพรวม 

อีกทั้งไม่ได้เป็นไปตามข้อเสนอขององค์กรวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งในเรื่องของ 1.วิชาชีพครู ต้องเป็นวิชาชีพชั้นสูง และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยไม่รับ ไม่เอา ใบรับรองความเป็นครู 2.ให้คงสภาพสถานะของตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาเป็น "ผู้อำนวยการสถานศึกษา" โดยไม่เอา ไม่รับ "ครูใหญ่" 3.ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล 4.คืนสภาครู "เป็นของครู โดยครู เพื่อครู" และ 5.คืนอำนาจการบริหารงานบุคคลให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

รัชชัยย์ ศรสุวรรณ

นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) สะท้อนว่า ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับบูรณาการ ได้มีการเปลี่ยนแปลงคำสำคัญ 3 คำ ที่เคยบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

1.ไม่ใช้ตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” แต่ให้ใช้ตำแหน่ง “หัวหน้าสถานศึกษา” โดยให้หน่วยงานไปกำหนดชื่อเอง 2.ไม่ใช้คำว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” แต่ให้ใช้คำว่า “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู”

3.ยกเลิกคำ “การเป็นวิชาชีพชั้นสูง” ที่เคยมีบัญญัติไว้ในมาตรา 52 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ว่า “ให้กระทรวงส่งเสริมให้มีระบบกระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานที่เหมาะสมกับ การเป็นวิชาชีพชั้นสูง

“คำสำคัญดังกล่าวที่มีการเปลี่ยนแลงและหายไปในกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ เกรงว่าอาจจะส่งผลให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องถูกตัดเงินตอบแทน เงินวิทยฐานะออกไปหรือไม่? จะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ หรือไม่?" นายก ส.บ.ม.ท.ระบุ

แม้แต่กลุ่มแกนนำ สคคท.หลายคนที่เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังได้ร่วมกันทำบันทึกข้อห่วงใยภาคประชาชน (สคคท.) เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับบูรณาการดังกล่าว เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

โดยระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับบูรณาการ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการทางการศึกษาหลายประการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาอาจจะขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และอาจทำให้คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ธนชน มุทาพร

กระทั่งนายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) ออกมาเรียกร้องเสนอให้ สคคท.ออกประกาศไม่รับรองการหลอมรวมร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับบูรณาการหลอมรวมนี้

โดยให้ยกข้ออ้างว่า ในการพิจารณาเหมือนถูกรวบหัวรวบหาง และไม่เป็นตามความต้องการของครูและบุคลากรทางการศึกษา

ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า เริ่มมีองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาหลากหลายองค์กร ทยอยออกมาเคลื่อนไหวแสดงพลังคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับหลอมรวมนี้แล้ว

เช่น สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ได้ประชุมแกนนำและออกแถลงการณ์คัดค้านและต่อต้านร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา

โดยเนื้อหาบางตอนในแถลงการณ์กล่าวหาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ลดเกียรติศักดิ์ศรีของครู เล็งเห็นผลที่จะลดตำแหน่ง เงินเดือนและวิทยฐานะของครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา

นอกจากนี้ องค์กรสมาพันธ์ครูอุดรธานีได้เรียกประชุมสมาชิกผู้นำองค์กรจากทั้ง 20 อำเภอ และได้มีมติร่วมกันไม่เห็นด้วยและคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยจะเคลื่อนไหวคัดค้านให้ถึงที่สุด

ดังนั้น แน่นอนว่าเส้นทางของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ย่อมไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ตรงกันข้ามมีแนวโน้มที่จะเกิดกระแสเคลื่อนไหวต่อต้านเกิดขึ้นวุ่นวายกันพอควร

ซึ่งน่าจะตรงกับการคาดการณ์ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวในวันเดินทางมามอบนโยบายและยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานให้กับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนใหม่ และคณะผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

โดย รองนายกฯวิษณุ กล่าวไว้ว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับเรื่องการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา และนายกรัฐมนตรีรับปากว่า อย่างช้าภายในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร

“ดังนั้น จึงขอฝากผู้บริหารกระทรวงศึกษาฯให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติมีทั้งฉบับรัฐบาลและฉบับของประชาชน ซึ่งเมื่อร่าง พ.ร.บ.ถูกหลอมรวมเป็นฉบับเดียวกันแล้ว อาจถูกใจกระทรวง แต่ไม่ถูกใจประชาชน หรือถูกใจประชาชน แต่ไม่ตรงกับนโยบายรัฐบาล จึงขอฝากผู้บริหาร ศธ.ให้ติดตามดูด้วย”  

ทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นสัญญาณความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นกับเส้นทาง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ในอนาคตอันใกล้นี้ ???

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)