ส.อ.ท.ยื่นชื่อครูเกือบ 2 แสน เรียกร้องนายกฯแก้ร่าง กม.ศึกษาชาติอีกรอบ

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ดร.ไพศาล ปันแดน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพป.) สุพรรณบุรี เขต 1 และนายกสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานสมาพันธ์องค์กรวิชาชีพครูไทย (ส.อ.ท.)  พร้อมด้วยแกนนำ ส.อ.ท. นำรายชื่อครูทั่วประเทศ 175,800 คน ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ยื่นต่อนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อประสานนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบถึงข้อกังวลใจของครูในครั้งนี้

ซึ่งต่างเห็นพ้องกันว่า มีบทบัญญัติหลายมาตราที่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ และจะกลายเป็นกับดักหรืออุปสรรคของการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ไม่สอดคล้องตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะขององค์กรครูส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้แทนครูทั่วประเทศที่อยู่ในพื้นที่และเป็นผู้ปฏิบัติที่เล็งเห็นว่า ถ้าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับจะเกิดปัญหาต่อการปฏิบัติงานทันที

เช่น วัตถุประสงค์ 6 เป้าหมายตามมาตรา 8, ความไม่ชัดเจนของการดำรงสถานะเป็นข้าราชการครู ตามมาตรา 35, คุณลักษณะของครูตามมาตรา 37, ความเหลื่อมล้ำของข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตามมาตรา 41 และสภาวิชาชีพครูตามมาตรา 42 เป็นต้น

ตลอดจนการร่าง พ.ร.บ.แบบมีเงื่อนงำซ่อนเร้นอีกหลายมาตรา ทั้งเรื่องโครงสร้างตามมาตรา 106 ที่เป็นการรวบอำนาจแบบ single command ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ไม่เอื้อต่อการบริหารจัดการศึกษา เพราะขาดการมีส่วนร่วมในการบริหาร และเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมทั้งให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายแบบครอบจักรวาล  โดยไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นกรรมการ

นอกจากนี้ ยังอาจเอื้อต่อภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเกินความเหมาะสมตามรัฐธรรมนูญ รัฐผลักภาระรับผิดชอบให้เอกชนมาจัดการศึกษาแทนรัฐ ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติรัฐต้องมีหน้าที่จัดการศึกษา และอาจเป็นการผลักภาระให้กับผู้ปกครอง

รวมทั้งยังเอื้อต่อนายทุนทั้งจากต่างชาติและภายในประเทศมาลงทุนด้านการศึกษา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเจ้าของโรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงอาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติได้

ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ ส.อ.ท.และองค์กรครูทั่วประเทศได้เคลื่อนไหวเรียกร้องแบบดาวกระจายนำเสนอต่อทั้ง ส.ส.และ สว.ทั่วประเทศ ส่วนการยื่นรายชื่อคัดค้านของครูในครั้งนี้ เพื่อสะท้อนให้นายกรัฐมนตรี และรัฐสภาได้พิจารณาหาทางแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ให้เหมาะสม และเป็นไปตามข้อเรียกร้องของ ส.อ.ท.และองค์กรครูทั่วประเทศ บนหลักการร่วมกันคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ เพื่อให้ได้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ที่ดีที่สุด ตามช่องทางรัฐธรรมนูญต่อไป

"ในเบื้องต้นนายเสกสกล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความมั่นใจกับแกนนำ ส.อ.ท.ที่เข้ายื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้ว่า จะยืนเคียงข้างและดูแลครูตามข้อเรียกร้องต่อไป" ดร.ไพศาล ประธาน ส.อ.ท. กล่าว 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)