รัฐบาลยอมถอย! แก้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติฉบับผ่านกฤษฎีกา ก่อนชงสภา

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานความคืบหน้ากรณีรัฐบาลหาทางออกในการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ภายหลังจากถูกองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศรวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา (ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน) มาอย่างต่อเนื่อง

เหตุเพราะมีการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติสำคัญที่แตกต่างไปจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ทั้งเรื่อง “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” โดยไม่เอา “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” , ให้คงบทบัญญัติวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง และให้คงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบกับเงินวิทยฐานะและเงินตอบแทนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อาจหดหายไปในอนาคต

รวมทั้งให้มีบทบัญญัติกำหนดชัดเจนเรื่องโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ในระบบการบริหารจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับกระทรวงลงไปถึงหน่วยงานเขตพื้นที่ จังหวัด และสถานศึกษา

โดยเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้เชิญตัวแทนองค์กรครู/ภาคประชาชน เข้าร่วมหารือเสนอทางออกการขับเคลื่อน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

ซึ่งนายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย และนายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ในนามตัวแทนเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ได้เสนอทางออก

โดยยืนยันตามข้อเรียกร้องของ ค.อ.ท.ที่ระดมความเห็นจากครูฯทั่วประเทศ ให้รัฐบาลแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะนำเสนอเข้ารัฐสภา ในประเด็นต่างๆ ตามการเคลื่อนไหวเรียกร้องของครูฯทั่วประเทศดังกล่าว

ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวตรีนุช พร้อมด้วยทีมที่ปรึกษา และ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้นำข้อเสนอทางออกจากการหารือกับตัวแทนองค์กรครู/ภาคประชาชนเมื่อช่วงเช้า มาหารือต่อกับ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมด้วย เป็นกลุ่มคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน และ สคคท. เช่น นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลนายเกษม ศุภรานนท์นายสฤษดิ์ บุตรเนียรนายดิเรก พรสีมา ประธานสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (....)นายประชัน จันระวังยศนายนิวัตร นาคะเวชนายกมลเทพ จันทรจิต, นายวิสิทธิ์ ใจเถิงนายสิรภพ เพ็ชรเกตุ, นายเรือน สิงห์โสภา

ทั้งนี้ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ได้รับการเปิดเผยถึงผลการประชุมดังกล่าวจาก นายธนชน ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย และตัวแทนเครือข่าย ค.อ.ท. ว่า

ธนชน มุทาพร

ในที่ประชุมซึ่งมี ดร.วิษณุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ข้อสรุปจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นี้ ให้ความเห็นชอบให้นำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา คืนแก่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้แก้ไขในประเด็นตามข้อเรียกร้องของครูและบุคลากรทางการศึกษาดังกล่าว แล้วนำเสนอกลับมายัง ครม. ก่อนส่งต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาตราเป็นกฎหมายต่อไป

"ประเด็นความต้องการของครูฯ คือ ให้คงบทบัญญัติสำคัญตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เกี่ยวกับ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ไม่เอา “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” , ให้คงบทบัญญัติวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง , คงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา และให้มีบทบัญญัติกำหนดชัดเจนเรื่องโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ในระบบการบริหารจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับกระทรวงลงไปถึงหน่วยงานเขตพื้นที่ จังหวัด และสถานศึกษา" นายธนชน กล่าว

สิรภพ เพ็ชรเกตุ

ด้าน นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง ซึ่งเข้าร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย ในนามกลุ่มคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน และ สคคท. เปิดเผยกับ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ว่า

ในที่ประชุมได้มีข้อสรุปดังนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้แก่ (1) แก้ให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ในบันทึกหลักการและเหตุผล และมาตรา 33 (2) แก้จาก "ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู" เป็น "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" เช่นเดิม และ (3) แก้จาก "หัวหน้าสถานศึกษา" เป็น "ผู้บริหารสถานศึกษา" และ "ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา" เป็น "ผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษา"

"แล้วให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในวันอังคารที่ 2 มิถุนายน 2564 และส่งต่อร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้รัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อไป" นายสิรภพ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)