โผล่แล้ว! อ.ก.ค.ศ.จังหวัด คุมแต่งตั้งโยกย้ายแทน กศจ. ที่แท้? ศธ.ชง ครม.

 

โผล่แล้ว!อ.ก.ค.ศ.จังหวัด คุมแต่งตั้งโยกย้ายแทน กศจ.

ที่แท้? ศธ.ชงปรับปรุงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560

ครม.ไฟเขียวส่งสภาถกร่วมร่างฯ พรรคการเมือง

 

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างปรับปรุงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 ตามที่ ศธ.เสนอ

"ขั้นตอนต่อไปจะเสนอร่างปรับปรุงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ของรัฐบาลฉบับนี้ต่อสภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรนำไปพิจารณาแก้ไขร่วมกันกับร่างฯฉบับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองต่างๆ ที่นำเสนอต่อไป" รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้ปรับปรุงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย​มีสาระสำคัญคือ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ยังมีอยู่ แต่ทำหน้าที่ดูแลยุทธศาสตร์การศึกษาเท่านั้น

โดยให้แยกการบริหารบุคคลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดนั้นๆ ออกมาโดยเฉพาะ มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) จังหวัด ทำหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรในจังหวัดนั้นๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะอนุกรรมการ

ส่วนอนุกรรมการ ประกอบด้วย โดยตำแหน่ง 3 คน ได้แก่ ผู้แทน ก.ค.ศ., ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ผอ.สพม.), ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ด้าน คือด้านบริหารบุคคล สังคม และงบประมาณ, ผู้แทนข้าราชการครู, ผู้แทนจากผู้บริหารการศึกษา และผู้แทนจากบุคลากรทางการศึกษา โดยมี ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เขต 1 ในจังหวัดนั้นๆ ทำหน้าที่เลขานุการ ส่วนกรุงเทพมหานคร จะให้ ผอ.สพม. เขต 1 ทำหน้าที่เลขานุการ

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ 6 พรรคการเมืองชงร่าง พ.ร.บ.แก้คำสั่งหัวหน้า คสช.เข้าสภาผู้แทนราษฎร มีสาระสำคัญคือยึดอำนาจ ‘กศจ.-ศธจ.’ คืนให้กับเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

 

โดยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท ทองบุ ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบบบัญชีรายชื่อ และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกับ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ว่า สัปดาห์นี้จะมีร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอพร้อมกับพรรคการเมืองรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านอื่นรวม 6 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท กล่าวว่า เหตุผลการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากมาตรการและกลไกตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่คณะกรรมการ​ศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทั้งอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการ ศธ. และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาการณ์ปัจจุบัน

ทั้งยังขัดต่อหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา และก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงและขาดการยอมรับซึ่งกันและกันในองค์กร สมควรแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว 

ในร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 ได้บัญญัติการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 7 ประเด็นสำคัญ อาทิ

1.ให้ อำนาจหน้าที่ของ กศจ.ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการ ศธ. และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8(1))

2.ให้อำนาจหน้าที่ของ กศจ.ในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (เพิ่มเติมข้อ 8(5) วรรคสอง)

3.ยกเลิกอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดหรือกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3 และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ. โดยความเห็นชอบของ กศจ. (ยกเลิกข้อ 13) 

 

วันถัดมา ค.อ.ท.แถลงการณ์ชี้พิรุธล้มร่างกฎหมายแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/60 แฉโพล "อ.ก.ค.ศ.จว." โผล่!

 

โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 นายธนชน มุทาพร แกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เปิดเผยว่า ค.อ.ท.ได้ออกแถลงการณ์เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ เมษายน พ.ศ.2560 ของ 6 พรรคการเมืองดังกล่าว

เนื่องจากมีหลักการสำคัญคือ การคืนอำนาจการบริหารงานบุคคลกลับคืนมาให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา คืนอำนาจการบรรจุแต่งตั้งตามมาตรา 53 กลับคืนมาให้ผู้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และแก้ไขเพิ่มเติม

การแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เป็นเรื่องที่องค์กรครูทั่วประเทศต่างมีความพยายามที่จะเรียกร้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย มาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด

 

โดยเหตุผลที่ได้รับฟังล่าสุดจากศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ ที่ได้แจ้งกับผู้นำองค์กรครูที่เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ มิถุนายน 2561 มีเพียงสั้นๆ ว่ายินดีรับฟัง และพร้อมนำมาแก้ไขตามช่องทางรัฐสภาเท่านั้น ซึ่งองค์กรครูต้องจำยอม อดทน รอให้มีการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ ในช่องทางรัฐสภาตามที่รองนายกรัฐมนตรีให้คำแนะนำ

แต่แล้วพอใกล้ถึงวันพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร กลับมีแบบสอบถามความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ เมษายน พ.ศ.2560 โดยมีสาระสำคัญที่แตกต่างจากร่างฯของทั้ง พรรคการเมือง ที่เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

คือในมาตรา ของร่างฯในแบบสอบถามความคิดเห็นดังกล่าวนี้ ได้สอบถามว่าในแต่ละจังหวัดให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เรียกโดยย่อว่า “ อ.ก.ค.ศ.จังหวัด” และมีคำตอบให้เลือกว่า เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย โดยไม่มีคำว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้เลือกตอบ ซึ่งถือเป็นการบังคับให้ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกตอบว่า เห็นด้วยให้มี อ.ก.ค.ศ.จังหวัด 

ทั้งที่จากการตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.ของทั้ง พรรคการเมือง ไม่มีร่างใดที่เสนอให้มี อ.ก.ค.ศ.จังหวัด ทุกร่างฯต่างเสนอให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา อยู่ในหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้

เครือข่าย ค.อ.ท.ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า แบบสอบถามความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ฉบับดังกล่าว มีเจตนาชัดเจนเพื่อสร้างกับดักให้ครูและผู้ตอบแบบสอบถามตกหลุมพราง

และจะนำประโยชน์ที่ได้จากการตอบแบบสอบถามในครั้งนี้ที่ว่า ครูและผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดหรือส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้มี อ.ก.ค.ศ.จังหวัด นำไปสร้างความชอบธรรมที่จะไม่รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ที่จะพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในเร็วๆ นี้ หรืออาจให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปก่อน แล้วจึงไปคว่ำในวุฒิสภา โดยใช้เหตุผลที่ได้จากแบบสอบถามนี้ 

นอกจากนี้ ในแบบสอบถามร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการของการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติโดยทั่วไป เนื่องจาก 1.ไม่ได้ระบุแหล่งผู้จัดทำแบบสอบถาม , 2.ไม่ระบุหมายเลขบัตรประชาชน ซึ่งทำให้ผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบได้หลายครั้ง , 3.ขาดระบบการติดต่อผู้ตอบแบบสอบถาม เพื่อนำไปอ้างอิงจำนวนผู้ตอบความคิดเห็นประกอบการร่างพระราชบัญญัติ

เครือข่าย ค.อ.ท.จึงเรียกร้องให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง ไม่ต้องกรอกข้อมูลความคิดเห็นในแบบสอบถามร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ เมษายน พ.ศ.2560 และเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาไม่นำผลการตอบแบบสอบถามดังกล่าวนี้ ไปเป็นข้อมูลในการอภิปรายในรัฐสภา  

เครือข่าย ค.อ.ท.ขอสนับสนุนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ เมษายน พ.ศ.2560 ที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และได้เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจำนวน 6  พรรคการเมืองดังกล่าว ซึ่งจะมีการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในเร็วๆ นี้

ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ กำหนดให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และแก้ไขเพิ่มเติม คืนอำนาจตามมาตรา 53 กลับมายังสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และคืนอำนาจการบริหารแบบมีส่วนร่วม

โดยเป็นการคืนอำนาจการบริหารงานบุคคล ก่อนที่จะมีการปรับปรุงตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน และจะต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ยิ่งจะทำให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดติดหล่มการบริหารงานบุคคลยาวนานมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนด้านยุทธศาสตร์ และด้านการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัด ตามเจตนารมณ์สูงสุดของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับดังกล่าวนี้

หากการแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ เมษายน พ.ศ.2560 ล่าช้า จะทำให้การบริหารงานบุคคลมีปัญหามากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดรับกับผลงานวิจัยของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีการศึกษาปัญหาทางกฎหมายว่าด้วยอำนาจในการบริหารงานบุคคลตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560

เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) จึงขอสนับสนุนและขอเรียกร้องต่อสมาชิกรัฐสภาได้โปรดพิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ของ 6 พรรคการเมือง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ สามารถบูรณาการการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลโดยรวมต่อคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนต่อไป

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)