อนิจจังครูไทย! เผชิญทศวรรษ “คุณครู 2 ซิม”?

 

 

อนิจจังครูไทย เผชิญทศวรรษ!คุณครู 2 ซิม?

จากหลักสูตรอิงมาตรฐาน-ฐานสมรรถนะ

สู่หลักสูตรสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้

 

คอลัมน์คิดนอกกรอบ 7 กันยายน 2564

 

จากกรณีที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศเรื่อง ศธ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และจะนำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณเดือนกันยายน 2564 ก่อนประกาศใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้ในระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้สำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และในปีการศึกษา 2567 จะใช้ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากเห็นว่าร่างหลักสูตรดังกล่าวนี้ยังขาดความสมบูรณ์ ชัดเจน และขาดการรับฟังจากครูและบุคลากรการศึกษา ซึ่งเป็นผู้รับไปปฏิบัติ

และที่สำคัญเป็นการเพิ่มภาระและความเสี่ยงติดโรคติดต่อโควิด-19 ให้กับครู บุคลากรการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ในกลุ่มสถานศึกษาเฉพาะที่มีความพร้อมนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 จังหวัด/ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จ.ระยอง กาญจนบุรี ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และสตูล

นอกจากนั้น ล่าสุด ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา วุฒิสภา ยังได้ตั้งข้อสังเกตไปยัง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ว่า ในการจะทดลองนำร่องใช้หลักสูตรใหม่ในสถานศึกษาแบบใดก็ตาม ศธ.จะต้องไม่ไปสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เกิดผลกระทบกับสถานศึกษาอื่นๆ ในวันที่ต้องนำหลักสูตรมาปฏิบัติจริง

โดยเฉพาะสถานศึกษาที่ไม่มีความพร้อมในชนบท สถานศึกษาขนาดเล็กที่มีนักเรียน 40-50 คน ครูผู้สอนก็ขาดแคลน อุปกรณ์การเรียนการสอนก็ไม่เพียงพอ ซึ่งจะกลายเป็นการสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นกับครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในโรงเรียนขาดแคลนเหล่านี้ ที่อาจก้าวไม่ทันการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรใหม่

สอดรับกับที่ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวสะท้อนไว้ก่อนหน้านี้ว่า ตนสงสารครูในยุคเปลี่ยนผ่านหลักสูตรจากหลักสูตรปัจจุบันสู่หลักสูตรใหม่ ซึ่งกินเวลาประมาณ 3 ปี ต้องกลายเป็นครู 2 ซิม แบกรับภาระทั้งหลักสูตรเก่าและหลักสูตรใหม่

และยังต้องมีภาระเพิ่มขึ้นอีก หากว่าคณะกรรมการร่างหลักสูตรใหม่ไม่มีความรู้จริง และต้องใช้เวลาในการปรับปรุงให้ลงตัว จนชนกับหลักสูตรใหม่ของรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาอีก ก็จะยิ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อครูผู้สอนจะเกิดความยุ่งยากมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะครูที่ยังยึดการจัดการเรียนการสอนนักเรียนตามหนังสือเรียน จนกลายเป็นคู่มือไปแล้ว

ข้อวิตกกังวลเรื่อง “สงสารคุณครู 2 ซิม” ของศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ ดูเหมือนว่าอาจจะต้องให้ความสงสารในระยะเวลาอันยาวไกลมากกว่า 3 ปี ตามเวลาของครูในยุคเปลี่ยนผ่านจากหลักสูตรอิงมาตรฐานในปัจจุบันสู่หลักสูตรใหม่ฐานสมรรถนะ เนื่องจากมีการวิเคราะห์ท่าทีของ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว น่าจะให้เดินหน้าหลักสูตรใหม่ โดยไม่มีการชะลอใช้แต่อย่างใด

แม้ว่าความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับของรัฐบาล ที่เสนอโดยกระทรวงศึกษาธิการ กำลังจะเข้าสู้รัฐสภา และคาดว่าจะตราออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ในเร็ววันนี้

ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้บัญญัตติให้มีการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ มีอำนาจหน้าที่พัฒนาและจัดทำหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรา ๕๔ สำหรับการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖)

ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำต้นแบบหลักสูตรดังกล่าว และต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับพัฒนาการของโลกและความจำเป็นของประเทศตามระยะเวลาที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าทุกสองปีหรือตามที่กำหนดในแผนการศึกษาแห่งชาติ

นั่นหมายความได้ใช่หรือไม่ว่า หลังจากเปลี่ยนผ่านหลักสูตรอิงมาตรฐานในปัจจุบัน ไปสู่การเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ฐานสมรรถนะที่ ศธ.กำลังพยายามเร่งรัดให้เกิดการใช้ให้ได้ ครูไทยก็ยังคงต้องตกอยู่ในสภาพวังวนของ “ครู 2 ซิม” ต่อไปอีก

เพราะต้องเตรียมตัวรองรับกับการใช้หลักสูตรใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นหลักสูตรอิงดิจิทัล อันเป็นผลผลิตของสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ก็เป็นไปได้? นั่นเอง!!

อนึ่ง ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับรัฐบาล ที่เสนอโดย ศธ. ได้มีสาระบัญญัติ

หมวด ๔ การจัดการศึกษา

ส่วนที่ ๒ หลักสูตรและการประเมินผล

มาตรา ๕๔ การจัดหลักสูตรต้องมุ่งเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๖ ให้ผู้เรียนมีสมรรถนะตามมาตรา ๗ และบรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘

มาตรา ๕๕ ให้มีสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับ ของกระทรวงศึกษาธิการ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบ บริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายอื่น มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขจัดทำคำแนะนำ หรือคู่มือวิธีดำเนินการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) และเผยแพร่ต่อประชาชนและองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น

(๒) พัฒนาและจัดทำต้นแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรา ๕๔ สำหรับการจัด กระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำต้นแบบหลักสูตรดังกล่าว และต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับพัฒนาการของโลกและความจำเป็นของประเทศตามระยะเวลาที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าทุกสองปีหรือตามที่กำหนดในแผนการศึกษาแห่งชาติ

(๓) จัดทำต้นแบบของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖)

(๔) จัดทำต้นแบบของระบบ วิธีการ และเครื่องมือวัดและประเมินผล ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักสูตรตาม (๒) ที่ใช้ ในการดำเนินการดังกล่าวอาจร่วมมือกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำก็ได้

(๕) จัดให้มีระบบการเทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ หรือสมรรถนะตามมาตรา ๕๒

(๖) จัดให้มีแนวทางหรือวิธีการการฝึกอบรมและพัฒนาครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ และครูเพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร และการนำหลักสูตรสู่การปฏิบัติ การจัดกระบวนการเรียนรู้ และการประเมินผลการเรียนรู้

(๗) จัดให้มีแนวทางหรือวิธีการการฝึกอบรมและพัฒนาครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ ครู และบุคลากรอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา เพื่อให้มีความรู้และทักษะเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร ด้านวิชาการและด้านการบริหารจัดการ และการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง

(๘) ศึกษา วิจัย และสร้างองค์ความรู้เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยจะดำเนินการเอง หรือร่วมมือกับบุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดดำเนินการ หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญ ดำเนินการก็ได้

(๙) ติดตามการใช้หลักสูตรและการจัดกระบวนการเรียนรู้ของสถานศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถนะตามมาตรา ๗ และบรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) (๑๐) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมาย กระทรวงศึกษาธิการ หรือคณะกรรมการนโยบายกำหนด

มาตรา ๕๖ การจัดทำต้นแบบหลักสูตรตามมาตรา ๕๕ (๒) ต้องจัดทำให้มีหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการหรือเหมาะสมกับผู้เรียนในภูมิภาค หรือที่มีวัฒนธรรม ความจำเป็น หรือความต้องการที่แตกต่างกัน โดยต้องรับฟังความคิดเห็น ของหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการจัดทำด้วย เมื่อคณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบต้นแบบหลักสูตรตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สถานศึกษาที่จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) นำต้นแบบหลักสูตรไปใช้ได้ โดยสถานศึกษามีอิสระในการปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติม ต้นแบบหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนสามารถบรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ ได้ดียิ่งขึ้นได้ แต่ต้องแจ้งให้สถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ทราบก่อนนำหลักสูตรที่ได้ปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติมนั้นไปใช้

มาตรา ๕๗ ให้นำความในมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับการจัดทำแนวทาง หรือวิธีการตามมาตรา ๕๕ (๖) และ (๗) ด้วยโดยอนุโลม และเมื่อคณะกรรมการนโยบาย ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ได้และในกรณีจำเป็นและสมควร สถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้จะจัดให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาตามแนวทางดังกล่าวด้วยก็ได้

มาตรา ๕๘ สถานศึกษาที่จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) อาจจัดให้มีหลักสูตรของสถานศึกษานั้นเป็นการเฉพาะได้ หรืออาจร่วมกับสถานศึกษาอื่น ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคเอกชนในการจัดทำหลักสูตรของสถานศึกษานั้นได้ แต่หลักสูตรดังกล่าวต้องมุ่งหมายให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมาย ตามมาตรา ๘ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการนโยบาย มอบหมายแล้ว

มาตรา ๕๙ หลักสูตรของสถานศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๖) (ข) ต้องมีความยืดหยุ่นที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียน ได้ตามความถนัด และสถานศึกษาต้องไม่กำหนดเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาตามแผนการเรียน แบบตายตัว เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ในกรณีที่สถานศึกษาไม่สามารถจัดให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ ตามความถนัดได้ครบถ้วน ให้มีระบบที่ผู้เรียนสามารถไปศึกษา ณ สถานศึกษาอื่นหรือศึกษา ด้วยวิธีการอื่นใดในวิชาที่ตนต้องการ แล้วเทียบโอนผลการเรียนระหว่างสถานศึกษาหรือจากประสบการณ์ นอกสถานศึกษามาใช้ในสถานศึกษาได้โดยสะดวก

มาตรา ๖๐ ให้กระทรวงศึกษาธิการและสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ติดตามการใช้หลักสูตรและการจัดกระบวนการเรียนรู้ของสถานศึกษาว่าสามารถดำเนินการให้ผู้เรียน มีสมรรถนะตามมาตรา ๗ และบรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ ในกรณีที่ปรากฏว่าสถานศึกษาใช้หลักสูตร หรือจัดกระบวนการเรียนรู้ไม่ก่อให้เกิดสมรรถนะหรือไม่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ให้กระทรวงศึกษาธิการ หรือสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แจ้งให้สถานศึกษาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลา ที่กำหนด ในกรณีที่สถานศึกษาไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงศึกษาธิการหรือสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้รายงานต่อคณะกรรมการนโยบาย เพื่อสั่งการให้สถานศึกษานั้นชี้แจงเหตุผลที่ไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและพิจารณาสั่งการต่อไป

มาตรา ๖๑ การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรของสถานศึกษาต้องมุ่งส่งเสริม การเรียนรู้เชิงรุก ให้ครูสามารถบูรณาการความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการจัดกระบวนการเรียนรู้ มาใช้ในการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น การเรียนรู้เชิงรุก ได้แก่การดำเนินการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการคิด การปฏิบัติ การได้รับคำปรึกษาชี้แนะ การน าความรู้ไปใช้ การถอดบทเรียน การสะท้อนคิด รวมทั้ง การมีปฏิสัมพันธ์ การทำงาน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น เกิดแรงบันดาลใจ เกิดทักษะ ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ค้นพบศักยภาพของตนเอง สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ ได้ตามความถนัดของตน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามระดับช่วงวัยตามมาตรา ๘ ให้นำการเรียนรู้เชิงรุกตามวรรคสอง ไปใช้กับการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๗) ด้วย

มาตรา ๖๒ การประเมินการเรียนรู้ให้เน้นการประเมินผลสัมฤทธิ์ต่อเป้าหมาย ของผู้เรียนตามมาตรา ๘ เป็นสำคัญ โดยให้ใช้การประเมินนั้นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนรู้ ของผู้เรียน และให้ผู้เรียนสามารถนำผลนั้นไปใช้ในการกำหนดเป้าหมายและวางแผนการเรียนรู้ ของตน ทั้งนี้ ต้องมีวิธีการประเมินที่หลากหลายเพื่อใช้กับผู้เรียนซึ่งมีความแตกต่างกัน ได้อย่างเหมาะสม และต้องไม่ใช้วิธีการทดสอบความรู้ในทางวิชาการแต่เพียงด้านเดียว

มาตรา ๖๓ การประเมินผู้เรียนเพื่อกำกับ ติดตาม หรือการประเมินคุณภาพ การศึกษาในระดับชาติต้องกระทำอย่างสอดคล้องกับเป้าหมายของการศึกษา วิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ และหลักสูตรตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ 

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)