ตัวเลขฟ้อง! น.ร.ติดโควิด-19 ใน ร.ร.อื้อ ปฏิบัติตาม ศบค.ศธ.แล้วจริงหรือ?

เสวนากับบรรณาธิการ 25 มิถุนายน 2564

 

ตัวเลขฟ้อง น.ร.ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานศึกษามีเพียบ

การันตี! ปฏิบัติตามมาตรการ ศบค.ศธ. แล้วจริงหรือ?

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

  ❝...หลายจังหวัดสั่งปิดเรียนแบบ On-Site เป็นรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เนื่องจากพบนักเรียนติดเชื้อจากผู้ปกครองและชุมชนโดยรอบ ทำให้แปลกใจว่า เมื่อมี ร.ร.ที่แจ้งผ่านเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงในระบบไทยเซฟไทย (Thai save Thai) ถึงกว่าร้อยละ 99.6 แต่ทำไมยังมีนักเรียนและครูที่มีความเสี่ยงสูง หลุดเข้าไปใน ร.ร.ได้อีก...❞

 

ประเทศไทยภายใน 120 วัน เริ่มนับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ปีนี้เป็นต้นไปกระทั่งถึง 1 ต.ค.2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้เป็นวันเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ได้รับการฉีดวัคซีน มีเอกสารรับรองการฉีด โดยไม่กักตัวซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังไม่มีแววจะลดลงได้   

แค่แว่วข่าว ผู้ว่าฯคนดังเมืองใหญ่ออกมายอมรับ ไม่สามารถคุมการระบาดโควิดได้แล้ว เนื่องจากยอดติดเชื้อและคลัสเตอร์พุ่งไม่หยุด ขณะที่เตียงผู้ป่วยหนักเหลือพออีกแค่ 10% เล่นเอาใจตกวูบลงตาตุ่มมึนไปพักใหญ่ แล้วทีนี้ ชีวิตลูกหลานจะไปต่อกันอย่างไร

วนย้อนกลับมาถึงการตัดสินใจเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมาถึงช่วงเกือบ 2สัปดาห์แล้ว  ด้วยมั่นใจว่ากฎเหล็กที่ประกาศออกไป น่าจะทำให้ทุกคนในโรงเรียนปลอดภัยได้จริง จึงทำให้ร.ร.ส่วนใหญ่ในประเทศเลือกที่จะเปิดการเรียนการสอนแบบ ON-SITE  คือ จัดการเรียนการสอนตามปกติที่โรงเรียน  

มีการโชว์ภาพ การคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์วางไว้ตามจุดต่าง ๆ ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างในการทำกิจกรรมต่าง ๆ การตั้งจุดตรวจบุคคล  ติดป้ายเตือนใจ  เห็นได้จากการลงตรวจราชการของบรรดาข้าราชการระดับสูง ศธ. ที่แห่แหนกระจายลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในพื้นให้เห็นจริง ผ่านสื่อออนไลน์ในแต่ละคณะจนละลานตาว่า ปลอดเชื้อปลอดภัย ทุกคนทุกฝ่ายสบายใจได้

แต่พอคล้อยหลังแค่ข้ามคืนมาถึง ณ วันนี้ ที่เขียนต้นฉบับ วันพุธที่ 25 มิถุนายน พบว่า ก่อนหน้านี้มีสถานศึกษาในหลายจังหวัดได้จัดการเรียนการสอนที่ร.ร.แบบ On-site มากกว่า On-line ที่เรียนอยู่กับบ้าน แม้ว่าจะมีตัวอย่างสัญญาณเตือนถึงความไม่น่าวางใจว่า สถานศึกษาจะปลอดภัยจากเชื้อระบาดได้จริง  

เริ่มจากเปิดเรียนวันแรก วันที่ 14 พ.ค.64 สาธารณสุข จ.ชุมพร ยืนยันตรวจพบครูหญิง รร.ตชด.ห้วยเหมือง จ.ชุมพร และนักเรียนหญิง อายุ 12 ปี ติดเชื้อ ตามด้วย ร.ร.วีรคิลป์  อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี มีนักเรียนหญิง อายุ 7 ปี ชั้น ป.1 และ 11 ขวบ ป.4 เกิดอาการไอ ตัวร้อน มีไข้  ตรวจเชื้อผลเป็นบวก เหตุผู้ปกครองกลับมาจากการอบรมสัมมนาที่ต่างจังหวัด

ต่อมา มีครู นักเรียนร.ร.บ้านตูม (นพค.15 กรป.กลางอุปถัมภ์) จ.ศรีสะเกษ ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 13 คน และวันเดียวกัน ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อ หนึ่งในผู้นั้นเป็นผู้ปกครอง ขอประกาศปิดสถานศึกษาเป็นกรณีพิเศษ 2 วัน

ร.ร.อนุบาลกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ พบครูสอนภาษาหญิงวัย 27 ปี สัญชาติบราซิล  ติดเชื้อเป็นรายที่ 5 ของจังหวัด ต้องนำเด็กนักเรียนที่สัมผัสกว่า 60 คน ไปตรวจหาเชื้อ และกักตัวเป็นเวลา 14 วัน 

จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของนักเรียนและครู ใน ร.ร.ดังกล่าวข้างต้น เป็นในช่วงคาบเกี่ยวกับเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศตั้งอยู่ในต่างจังหวัดทั้งสิ้น

และหลังจากประกาศเปิดเรียน 14 มิถุนายน ที่ผ่านมาไม่กี่วัน สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com เสนอรายงานถึงสถานศึกษาหลายแห่งหลายจังหวัด ประกาศปิดการเรียนแบบ On-site มาเป็นแบบ On-line อยู่ที่บ้าน เนื่องจากพบนักเรียนและผู้ปกครองติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสรุปให้เห็นตามลำดับ ดังนี้

ในจ.ชัยนาท เปิดเรียนได้ 1 สัปดาห์ พบผู้ปกครองและนักเรียน นักศึกษา ในวิทยาลัยเทคนิคชัยนาท ร.ร.วัฒนาชัยนาท และ หลายสถานศึกษาทยอยปิดการเรียนการสอนแบบ On-site และล่าสุด ร.ร.ทุกแห่งกว่า 200 แห่ง เปลี่ยนเป็น Online และ On-hand แทน ตั้งแต่ 21 - 30 มิถุนายน 2564 เนื่องจากมีผู้ปกครองเดินทางไปทำงานในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงหลายแห่ง

ที่ จ.เชียงราย ร.ร.หลายแห่งประกาศปิดการเรียนการสอนแบบ On-site เป็นออนไลน์ เช่น ร.ร.สามัคคีวิทยาคม วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย และร.ร.ในสังกัดเทศบาลนครเชียงรายทั้งหมด ร.ร.อนุบาลเชียงราย ร.ร.เทิงวิทยาคม ฯลฯ หลังจากพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ในพื้นที่ ต.ตับเต่า อ.เทิง  

มากันที่ จ.มหาสารคาม พบผู้ป่วยโควิด-19 ใหม่ 9 คน เป็นนักเรียนอายุ 6-10 ปี เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยติดเชื้อจากคลัสเตอร์งานบวชในพื้นที่ ต.บัวค้อ อ.เมือง 0.มหาสารคาม ส่งผลให้ร.ร.ในเขตอำเภอเมือง เช่น ร.ร.พระกุมารมหาสารคาม  แจ้งหยุดเรียนและให้ทุกระดับชั้นเรียนผ่านออนไลน์ที่บ้าน ถึง 30 มิถุนายน 2564  ทั้งให้ชั้น ป.5 - ป.6 เข้ารับการประเมินและตรวจหาเชื้อโควิด-19

ส่วนที่ร.ร.อนุบาลกิติยา พบนักเรียนชั้น ป.4/3 ติดเชื้อโควิด -19 ต้องประกาศปิดเรียน ช่วงวันที่ 17-18 มิถุนายน 2564 ให้ทุกระดับชั้นเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ขณะที่ ร.ร.พระกุมารมหาสารคาม  พบเด็กติดเชื้อเพิ่ม 9 ราย อายุ 6 ขวบ 1 คน อายุ 9 ขวบ 3 คน อายุ 10 ขวบ อีก 5 คน ต้องประกาศปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 17 – 30 มิถุนายน 2564 และยังพบนักเรียนอายุระหว่าง 6 – 10 ปี ในร.ร.อนุบาลกิติยา ต้องปิดเรียนวันที่ 17-18 มิถุนายน 64 ภายหลังจากที่พบนักเรียนชั้น ป.4 ติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว 7 คน และพบอีกว่าบางโรงเรียนติดไปแล้ว 7 คนในโรงเรียนเดียว

ส่งผลให้จังหวัดสั่งปิดสถานศึกษาในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม ทุกแห่งทุกระดับชั้นเรียนออนไลน์ ตั้งแต่ 18 มิย.-1 กค. เพื่อทำความสะอาด พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในทุกจุดของโรงเรียน ให้ ก่อนประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

ที่ จ.อุดรธานี พบคลัสเตอร์สังสรรค์กลุ่ม นร. เล่นกีฬา-กินหมูกระทะ-ดูดบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกัน สังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนใกล้ชิดซึ่งได้เล่นกีฬาฟุตบอล สั่งปิดชั้นเรียนที่พบผู้ป่วยเรียนเป็นเวลา 3 วัน

ที่ จ.นครราชสีมา หลังเปิดภาคเรียนเพียงได้ 1 สัปดาห์ พบนักเรียนร.ร.เอกชนแห่งหนึ่งในตัวอำเภอเสิงสาง เด็กหญิงวัย 6 ขวบ และ 7 ขวบ จำนวน 2 ราย และโรงเรียนในพื้นที่อำเภอเสิงสาง ผู้ว่าฯให้ปิดการเรียน ปรับไปเป็นการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ ส่งผลให้โรงเรียนประมาณ 5-6 แห่ง ในหลายพื้นที่ต้องปิดร.ร.อีกครั้ง

ที่ จ.เพชรบูรณ์ สั่งปิดเรียนแบบ OnSite เป็นรูปแบบอื่นที่เหมาะสมทั้งจังหวัดอีกรอบ จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เนื่องจากพบนักเรียนติดเชื้อจากผู้ปกครอง และชุมชนโดยรอบ  ทำให้แปลกใจว่า มีร.ร.ที่แจ้งผ่านเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงในระบบไทยเซฟไทย (Thai save Thai) กว่า ร้อยละ 99.6 แต่ทำไมยังมีนักเรียนและครูที่มีความเสี่ยงสูงหลุดเข้ามาในพื้นที่อีก   

จ. พิษณุโลก ร.ร.ธีรธาดา พิษณุโลก และร.ร.นานาชาติเคมบริดจ์ คอลเลจ ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติอีก 2 แห่ง  ต้องทำการปิดในวันที่ 22-23 มิถุนายน ทำความสะอาด ฉีด อบ พ่นยาฆ่าเชื้อทุกห้องเรียน หลังตรวจพบว่าญาตินักเรียนติดโควิด -19  มาจาก กทม.

ที่ เทศบาลนครเชียงราย ประกาศปิดร.ร.ในสังกัด ที่เรียนแบบ on-site ทุกระดับชั้นเป็นออนไลน์ ตั้งแต่ 18 มิ.ย. - 4 ก.ค.ขณะเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งร.ร.มัธยมในจังหวัดบางแห่งเปลี่ยนเป็นออนไลน์ หลังพบว่า มีนักเรียนได้รับเชื้อมาจากทางบ้านมาเรียน ทั้งที่โรงเรียนเพิ่งจะเปิดเพียง 4 วัน

ที่ จ.น่าน ลือกันว่าปิดร.ร. 13 แห่งติดเชื้อ โควิด-19 คลัสเตอร์ใหญ่ กลุ่มเสี่ยงนับหมื่นนั้น เป็นข่าวบิดเบือน ที่จริงแล้วพบนักเรียนเพียง 4 คนเท่านั้นที่ติดเชื้อกระจายอยู่ใน 3 ร.ร.ที่ตั้งอยู่ในอำเภอปัว และ 1 ร.ร.ในอำเภอเชียงกลาง และปิดร.ร.เฉพาะ สพป.น่าน เขต 2 ต.ศิลาแลง อ.ปัว จ.น่าน คือ ร.ร.ชุมชนศิลาแลง ปิดวันที่ 14 - 25 มิถุนายน , ร.ร.ไตรประชา ปิดวันที่ 14 - 18 มิถุนายน และวิทยาลัยเทคนิคปัว ปิดวันที่ 16 - 30 มิถุนายน ใช้วิธีเรียนทางออนไลน์ เท่านั้น  

จ.สตูล เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 64 ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มนักเรียน ร.ร.ตะห์ฟีซุลกุรอานมัรกัสยะลา จังหวัดยะลา ที่เดินทางกลับมาบ้านที่จังหวัดสตูล  51 คน ตรวจพบผู้ติดเชื้อเพศชาย อายุระหว่าง 13 ถึง 25 ปี รวม 37 ราย รอผลการตรวจ 2 คนไม่พบผู้ติดเชื้อ 11 คน จึงเลื่อนเปิดเรียนแบบ OnSite ออกไปจนถึง 30 มิ.ย.  

จึงนำมาประมวลถึงสาเหตุที่นักเรียนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่มาจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ญาติพี่น้องในครอบครัว ของนักเรียนไปสัมผัสใกล้ชิดในชุมชน ไปในพื้นที่ที่เสี่ยงสูงที่มีการแพร่ระบาดแต่กลับมาไม่แจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ

ส่วนที่พบการติดเชื้อในสถานศึกษา จะพบในกลุ่มนักเรียนที่เรียนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงบางคน เดินทางกลับไปบ้านต่างจังหวัดแล้วไปอยู่ร่วมกันในบริเวณเดียวกัน แวะหาเพื่อน ๆ บ้างเข้าเล่นในร้านเกม สนุกกับเครื่องเล่นในสวนสนุกในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าต่าง ๆ บ้างติดจากการไปร่วมกิจกรรมนอกเวลาเรียนหรือนอกสถานที่ ต่างได้รับเชื้อมาและเดินทางมาเรียนหนังสือ

นอกจากนี้ ยังพบสาเหตุสำคัญแห่งการติดเชื้อของนักเรียน อันเนื่องมาจากรถรับส่งระหว่างบ้านกับโรงเรียน การรับประทานอาหารที่ใช้ภาชนะร่วมกัน การเล่นหยอกล้อกัน และส่วนหนึ่งมาจากผู้อำนวยการ คุณครูในสถานศึกษา ขาดความระมัดระวัง ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยของ สธ.อย่างเคร่งครัดจริงจัง รวมถึงความไม่ใส่ใจทำความสะอาดอุปกรณ์การเรียนการสอน เครื่องเล่นสนามอย่างที่ควรจะทำทุกวัน แม้การวางน้ำยาเจลแอลกอฮอล์ไว้ตามจุดต่าง ๆ ไม่เพียงพอ

แม้ว่าล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) จะเปิดตัวเลข ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-24 มิ.ย.นี้ พบมีผู้ติดเชื้อสะสม 2,919 คน แบ่งเป็นนักเรียน 2,213 คน ครู 525 คน และบุคลากร 173 คน 

หาก ศธ.จะนำข้อมูลจากการลงพื้นที่ติดตามรายงานผลของผู้บริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของ ศธ. มาประมวลผลแห่งสภาพปัญหาทุกด้าน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์สังเคราะห์อย่างเป็นระบบ น่าจะเป็นประโยชน์ในองค์รวม ทั้งการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ และการป้องกันครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ที่ยังต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปอีกไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าใด ให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)