แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สำคัญไฉน?

 

 

แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ก็เปรียบเสมือนการจัดหาเรือที่มีหางเสือให้กับคุณครูทั่วประเทศได้พายพาเด็กๆ เยาวชนนักเรียนไทยข้ามไปถึงฝั่ง ไม่ใช่ปล่อยให้คุณครูจำนวนไม่น้อยขาดหางเสือ พายเรือส่ายไปส่ายมา วนเวียนจนส่งเด็กๆ ไม่ถึงฝั่งสักที !!

 

ก่อนอื่นต้องทราบที่มาโดยย่อก่อนว่า แผนการปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา ๖๕ กำหนดให้รัฐจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเป็นเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาประเทศ

ประกอบกับมาตรา ๒๕๗ และมาตรา ๒๕๙ กำหนดให้ทำการปฏิรูปประเทศเพื่อวางรากฐานการพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุล ประชาชนในสังคมมีโอกาสทัดเทียมกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และที่จะกำหนดเพิ่มเติมภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยจะต้องดำเนินการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องในช่วงห้าปีข้างหน้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปแต่ละด้าน

ต่อมาในเดือนกันยายน ๒๕๖๐ พระราชบัญญัติว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๙ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ และได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน ๑๑ คณะ เพิ่มเติมจากเดิมที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา และคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.๒๕๖๐ หมวด ๑ การปฏิรูปประเทศ มาตรา ๕ บัญญัติว่า “นอกจากการปฏิรูปประเทศต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นแล้ว เช่น ประเทศชาติมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ฯลฯ การปฏิรูปประเทศจะต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ”

มาตรา ๖ “บัญญัติให้มีแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อกำหนดกลไก วิธีการ และขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ แต่ละด้าน (ตามมาตรา ๘) รวมทั้งผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศในด้านนั้นๆ ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ โดยการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านจะต้องสอดคล้องกับแผนแม่บท และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับต่อไป

หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดําเนินการให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามระยะเวลาที่กําหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ และให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะต้องกํากับดูแลและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยดําเนินการให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามระยะเวลาที่กําหนดไว้”

มาตรา ๘ บัญญัติ “ให้จัดทําแผนการปฏิรูปประเทศในด้าน ดังต่อไปนี้ (๑) ด้านการเมือง (๒) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (๓) ด้านกฎหมาย (๔) ด้านกระบวนการยุติธรรม (๕) ด้านการศึกษา (๖) ด้านเศรษฐกิจ (๗) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (๘) ด้านสาธารณสุข (๙) ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ (๑๐) ด้านสังคม (๑๑) ด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

กล่าวสำหรับการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มีความพิเศษกว่าด้านๆ เนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๑ กำหนดให้การปฏิรูปตามมาตรา ๒๕๘ จ.ด้านการศึกษา มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้ง ดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะ และร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย โดยเสนอแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป

ซึ่งเป็นที่มาของการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มีศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน โดยคณะ กอปศ.มีวาระ 2 ปี ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๘ จ.ด้านการศึกษา บัญญัติไว้ คือ 1.ให้มีการดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ครอบคลุมให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

2.ให้ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 3.ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของ ความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและ ประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู

และ 4.ให้มีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่

คณะ กอปศ.ดำเนินการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษามาจนครบวาระ 2 ปี ตามกฎหมายเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 และก่อนสิ้นสถานภาพไปไม่กี่วัน คณะ กอปศ.ได้จัดแถลงผลงาน 2 ปี ในการทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561, พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562

รวมถึงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วในช่วงเวลานั้น ขณะเดียวกันยังมีร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ที่ได้เสนอรัฐบาลไปแล้วเช่นกัน (ซึ่ง ณ วันนี้ คาดว่าที่ประชุมรัฐสภาร่วม ส.ส.และ ส.ว.จะลงมติรับหลักการวาระ 1 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้)

หลังจากคณะ กอปศ.สิ้นสถานภาพไป ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. ) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ได้เห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดใหม่ จำนวน 13 คณะ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่มาทำหน้าที่แทนคณะ กอปศ. ประกอบด้วย นายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานกรรมการ

ส่วนคณะกรรมการล้วนเป็นบุคลากรชั้นนำในแวดวงการศึกษาที่จะมาช่วยกันผลักดันการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นผลสำเร็จ ประกอบด้วย นายศักรินทร์ ภูมิรัตน์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ , นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง , นางประพันธ์ศิริ สุเสารัจ อดีตประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) และอดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ , นายศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)   

นายศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ , นายวิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ , นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร “อาจารย์ยักษ์” ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ , นายไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ นางสาวกานดา ชูเชิด ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม สศช. เป็นกรรมการและเลขานุการ

จากนั้นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาชุดใหม่นี้ ได้ลงมือทำหน้าที่จัดทําและปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.๒๕๖๐ ที่กำหนดให้การจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

ซึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 (ก่อนคณะ กอปศ.จะหมดวาระ 1 เดือน) ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาชุดใหม่ คณะของนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน จึงต้องมีการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว

เช่นเดียวกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศตามขั้นตอนของกฎหมาย จนกระทั่งแล้วเสร็จในเวลาต่อมา และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตลอดจนรายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบแล้ว ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

ดังที่ปรากฏข้อความบนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยมีรายละเอียดใจความว่า

โดยที่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2561 นั้น เนื่องจากพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 กำหนดให้การจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ ต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

ซึ่งต่อมายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2561 และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2562 ส่งผลให้ต้องมีการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ดำเนินการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วเสร็จ และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับต่อไป

เพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ได้ดำเนินการเสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณาความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยแล้ว

บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ และรัฐสภารับทราบแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงให้ประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ในราชกิจจานุเบกษาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ประกาศ ณ วันที่ 23 ก.พ.2564

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ทั้งนั้น แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่จัดทำขึ้นโดยคณะของนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ยังคงอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๘ จ.ด้านการศึกษา ที่บัญญัติไว้ 4 เรื่องหลักดังกล่าวข้างต้น

เพียงแต่สาระในแผนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาชุดใหม่นี้ อาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากแผนเก่าของคณะ กอปศ. เพื่อให้สอดคล้องตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 (ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 ก่อนที่คณะ กอปศ.จะหมดวาระไปราว 1 เดือน) ตลอดจนเพื่อให้ทันต่อยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในแทบทุกด้านอย่างรวดเร็วในแทบจะทุกวี่วัน

ซึ่งในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.๒๕๖ และได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเรื่องการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ไว้ชัดเจน

ทั้งที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้ ที่ได้กำหนด ๒ แผนย่อย คือ ๑) การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการปรับเปลี่ยนระบบการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ ๒๑

โดยพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในทุกระดับชั้นตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา ที่ใช้ฐานความรู้และระบบคิดในลักษณะสหวิทยาการ พัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกระดับการศึกษา รวมถึงจัดกิจกรรมเสริมทักษะเพื่อพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ พัฒนาระบบการเรียนรู้เชิงบูรณาการที่เน้นการลงมือปฏิบัติ มีการสะท้อนความคิด/ทบทวนไตร่ตรอง พัฒนาระบบการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสามารถกำกับการเรียนรู้ของตนได้ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้สร้างรายได้ รวมถึงมีทักษะด้านวิชาชีพและทักษะชีวิต ฯลฯ

และ ๒) การตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย ด้วยการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาผ่านครอบครัว ระบบสถานศึกษา สภาพแวดล้อม รวมทั้งสื่อ โดยพัฒนาระบบบริหารจัดการกลไกการคัดกรองและการส่งต่อ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคนไทยตามพหุปัญญาให้เต็มตามศักยภาพ ส่งเสริมสนับสนุนครอบครัวในการเสริมสร้างความสามารถพิเศษตามความถนัดและศักยภาพ ทั้งด้านกีฬา ภาษา และวรรณกรรม สุนทรียศิลป์ ส่งเสริมสนับสนุนระบบสถานศึกษาและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษบนฐานพหุปัญญา ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดไว้ในแผนย่อย เรื่องการพัฒนาช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น ได้แก่ ๑) จัดให้มีการพัฒนาทักษะที่สอดรับกับทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ โดยเฉพาะทักษะด้านการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ความคิดสร้างสรรค์การทำงานร่วมกับผู้อื่น ๒) จัดให้มีการพัฒนาทักษะด้านภาษา ศิลปะ และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่ สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัดและความสนใจ

๓) จัดให้มีการพัฒนาทักษะในการวางแผนชีวิตและวางแผนการเงิน ตลอดจนทักษะที่เชื่อมต่อกับโลกการทำงาน ๔) จัดให้มีการพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ การบ่มเพาะการเป็น นักคิด นักนวัตกร และการเป็นผู้ประกอบการใหม่ รวมทั้งทักษะชีวิตที่สามารถอยู่ร่วมและทำงานภายใต้สังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม

๕) ส่งเสริมและสนับสนุนระบบบริการสุขภาพและอนามัยที่เชื่อมต่อกันระหว่างระบบสาธารณสุขกับโรงเรียนหรือสถานศึกษา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์ ตลอดจนภูมิคุ้มกันด้านต่างๆ ในการดำเนินชีวิตของกลุ่มวัยเรียน/วัยรุ่น 

จนเป็นที่มาของรายละเอียดที่กำหนดในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่จัดทำโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ชุดของนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ซึ่งอยู่ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 และเผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

กล่าวเฉพาะแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่เป็นไปตามกรอบบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๘ จ.ด้านการศึกษา เรื่องที่ 4. ให้มีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และสอดรับตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) ดังกล่าว ตลอดรวมถึงความสอดคล้องทันยุคสมัย

ซึ่งได้มีรายละเอียดในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ะบุไว้ชัดเจนในหัวข้อส่วนที่ ๒ กิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rockข้อย่อยที่ ๒.๒ กิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ (อยู่ในหน้า ๓๐๕-๓๐๘) ดังสาระสำคัญต่อไปนี้

การจัดการศึกษาของประเทศ จะต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ ๒๕๖๐ และยุทธศาสตร์ชาติ คำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และพลวัตรของโลกยุคใหม่ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชากรในทุกช่วงวัย ที่จะต้องเผชิญ ความท้าทายกับวิถีชีวิตใหม่

จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้และรูปแบบการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ มีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะและใฝ่เรียนรู้ (Learning Skills) สามารถเชื่อมโยงนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง มีทักษะชีวิต (Life Skills) ในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ (Active Citizen) มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรัก และความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอความรู้ ทักษะ คุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเรียนรู้อย่างมีความสุขและพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผ่านการทำงานเป็นทีมและความร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน

การมีครูอาจารย์ที่มีสมรรถนะ ด้านการจัดการเรียนรู้ที่ หลากหลาย เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบทของท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษามีสมรรถนะในการบริหารงานการจัดการเรียนรู้ การนิเทศการเรียนรู้ การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัย และส่งเสริมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถกำหนดเส้นทางและจังหวะก้าวการเรียนรู้ของตนเอง (Personalized Learning) อย่างมีความหมาย

มีการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียนในทุกมิติอย่างแท้จริง ตลอดจนมีการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียน และความพร้อมเพื่อให้การจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ยังระบุชัดเจนถึงเป้าหมายและตัวชี้วัดในกิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ดังนี้

เป้าหมาย (๑) ผู้เรียนทุกระดับเป็นผู้มีความรู้ ทักษะและใฝ่เรียนรู้ มีทักษะในการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ และมีจิตสาธารณะ

(๒) ครู/อาจารย์มีสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย การออกแบบการ เรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีจิตวิทยาการเรียนรู้ สื่อและการใช้สื่อ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการ เรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง มีความศรัทธาในวิชาชีพและความเป็นครู

(๓) ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษามีสมรรถนะในการบริหารงาน วิชาการ และการนิเทศการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย ด้านหลักสูตรการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อและ เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง การนิเทศการจัดการเรียนรู้ มีภาวะ ผู้น้าทางวิชาการ มีจิตวิทยาในการส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจในการจัดการเรียนรู้ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ในการร่วมมือกับบุคคล หน่วยงานและชุมชนในการส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับ ผู้เรียน

ตัวชี้วัด (๑) มีหลักสูตรการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบสนองต่อความถนัดและความสนใจของ ผู้เรียนรายบุคคล

(๒) ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ แบบ Active Learning ผ่านการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบ

(๓) ครูผู้สอนจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนแบบถักทอความรู้ ทักษะ และเจตคติค่านิยม และคุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันแบบ Active Learning ในทุกระดับการศึกษา

(๔) ระบบการประเมินผลลัพธ์ผู้เรียนมีความหลากหลาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เป็นรายบุคคล (personalized learning) และสามารถสะท้อนสมรรถนะของผู้เรียนได้ตามบริบทของสถานศึกษา ลดสัดส่วนของการนำผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในระดับชาติมาใช้ในการพิจารณาประเมินผลของครูและผู้บริหาร สถาบันการศึกษา

(๕) มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้อัจฉริยะ ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการจัดการ เรียนรู้ สื่อการสอนคุณภาพสูง และการประเมินและพัฒนาผู้เรียน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เป็นรายบุคคล (personalized learning) สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย

ที่สำคัญในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ยังมีการระบุในหน้า ๓๐๗ ในหัวข้อที่ ๒.๒.๒ เรื่องหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก คือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) , กำหนดในหัวข้อ ๒.๒.๓ เรื่องระยะเวลาดำเนินการ รวม ๑ ปี ๙ เดือน (มกราคม ๒๕๖๔ – กันยายน ๒๕๖๕) ๒.๒.๔ ประมาณการวงเงินรวม และแหล่งที่มาของเงิน คืองบประมาณของหน่วยงาน

ตลอดจนในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ยังระบุชัดในหน้า ๓๐๗-๓๐๘ หัวข้อ ๒.๒.๕ ขั้นตอนและวิธีการการดำเนินการปฏิรูป ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑ ปรับแนวทางการจัดการเรียนรู้ทุกระดับ ที่เน้นการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบที่นำไปสู่สมรรถนะหลักที่จำเป็นในแต่ละระดับตามแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และการวัดผลประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน ปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียนด้วยการปรับวิธีสอนจาก Passive Learning ที่เน้นป้อนข้อมูลโดยการท่องจำเนื้อหา มาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ ด้วยการให้ผู้เรียนรวบรวมข้อมูลเป็น วิเคราะห์สังเคราะห์ออกแบบ ตัดสินใจบนพื้นฐานคุณธรรมและค่านิยมเพื่อสังคม ประเทศชาติและนำความรู้ไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างมีแบบแผน ตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหา พัฒนาจนเกิดผลผลิตที่ดีกว่า มีคุณค่าต่อสังคม มากกว่าเดิม และกำกับการเรียนรู้ของตนเองในการตรวจสอบกลไกเชิงระบบของงานที่ท้าเพื่อเพิ่มคุณค่า คุณธรรม ค่านิยม และขยายประโยชน์สู่สังคมที่กว้างขึ้น

ด้วยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวศึกษา การศึกษาตามอัธยาศัย และระดับอุดมศึกษาตลอดแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี (มกราคม ๒๕๖๔ – ธันวาคม ๒๕๖๕)

ขั้นตอนที่ ๒ พัฒนาครูให้มีศักยภาพในการออกแบบการเรียนรู้ สามารถจัดและอำนวยกระบวนการเรียนรู้ การใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ และวัดผลประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน และพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถกำกับดูแล ช่วยเหลือแนะนำ การโค้ชครูรวมถึงการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียน

มีระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี (มกราคม ๒๕๖๔ – ธันวาคม ๒๕๖๔)

ขั้นตอนที่ ๓ รับปรุงระบบการวัดผลและประเมินผล ให้มุ่งเน้นที่การประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริง โดยพัฒนาวิธีการที่หลากหลายในการประเมินผู้เรียนที่เหมาะสมกับบริบทและศักยภาพของผู้เรียน

ระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี ๙ เดือน (มกราคม ๒๕๖๔ – กันยายน ๒๕๖๕)

ขั้นตอนที่ ๔ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้กับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ในการเสริมสร้างการเรียนรู้และยกระดับคุณภาพผู้เรียน ทั้งด้านทรัพยากรและองค์ความรู้ด้านวิชาการ ทักษะ และการบ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดี

ระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี ๙ เดือน (มกราคม ๒๕๖๔ – กันยายน ๒๕๖๕)

ขั้นตอนที่ ๕ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประชุมหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการ และร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ประเมินผลการดำเนินงานและขยายผลต่อไป

มีระยะเวลาดำเนินการ ทุก ๓ เดือน

ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่านายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการศึกษาของชาติ คณะรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ตลอดจนผู้บริหารการศึกษาในระดับพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักเรียนและผู้ปกครอง ที่ได้อ่านกันชัดๆ แล้ว คงให้คำตอบกันได้ไม่ยากว่า

ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งผ่านความเห็นชอบแล้วจากรัฐบาล และรัฐสภารับทราบด้วยแล้ว ณ พ.ศ.2564 ซึ่งทันตามยุคสมัย และเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๘ จ.ด้านการศึกษา และสอดรับตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 ได้กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการทำอะไร ??

ระหว่างเดินหน้าปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนของครูและนักเรียนเป็นแบบ Active Learning ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานอิงมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไปสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน หรือ ยังหลงทางจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ???

ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องตระหนักในการทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบต่อเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง สังคม และประเทศชาติ โดยเดินตามกฎหมาย พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) และตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง)

ซึ่งตามชื่อแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ได้มีการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นกว่าแผนฉบับเก่า โดยเฉพาะการตอบสนองได้รวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ดีกว่าแผนฉบับเก่า

เปรียบเสมือนกระทรวงศึกษาธิการได้ทำหน้าที่ถูกทิศถูกทาง ในการจัดหาเรือที่มีหางเสือให้กับคุณครูทั่วประเทศได้พายพาเด็กๆ เยาวชนนักเรียนไทยข้ามไปถึงฝั่ง ไม่ใช่ปล่อยให้คุณครูจำนวนไม่น้อยขาดหางเสือ พายเรือส่ายไปส่ายมา วนเวียนจนส่งเด็กๆ ไม่ถึงฝั่งสักที !!

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)