ห่วง‘ตรีนุช’เสี่ยงทำผิดกฎหมาย ผุดหลักสูตรสมรรถนะ หลังทราบมติ ครม. 19 ต.ค.64

 

แซด!ครูฯยิ่งสับสนทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลัง ครม. 19 ต.ค.64 มีมติรับทราบข้อเสนอเวทีปลัดกระทรวงที่ให้ ศธ.ทบทวนรูปแบบการเรียนการสอน แต่ไม่ได้พูดถึงการสร้างหลักสูตรใหม่ อีกทั้งคณะรัฐมนตรีกำชับทุกส่วนราชการทำงบฯ 66 สอดรับ Big Rock แผนปฏิรูป ปท.(ฉบับปรับปรุง)-รธน. 'บิ๊ก ก.ศึกษา'ห่วง'ตรีนุช' หากยังเดินหน้าหลักสูตรสมรรถนะ สุ่มเสี่ยงทำผิดกฎหมาย หวั่นเสียหายต่อทั้ง ‘วงการศึกษา-ตัวเอง’

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก ศธ.360 องศา และเว็บบล็อก https://moe360.blog ซึ่งดำเนินการโดยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในกลุ่มสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เผยแพร่สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. 2 เรื่อง คือ 1.สรุปผลการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2564 และ 2.แนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566

โดยเรื่องที่ 1.สรุปผลการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอสรุปผลการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. ดังนี้

ให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก เน้นรูปแบบการเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนรู้หลักวิธีคิด แทนการสอนให้ท่องจำ จัดระยะเวลาในการเรียนที่เหมาะสม รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกจากนี้ ให้มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ให้มีความแตกต่างจากการสอนในชั้นเรียนตามปกติ

นอกจากนี้ ให้ทุกส่วนราชการ รวมถึง ศธ. ขับเคลื่อนและปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน โดยมีการประสานรวบรวมข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน และเพื่อให้ทราบถึงความต้องการและปัญหาของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้หน่วยงานสามารถแก้ไขและบรรเทาปัญหา รวมถึงสร้างความสุขให้กับประชาชนได้

รวมทั้งให้สรุปผลสัมฤทธิ์การทำงานอย่างเป็นรูปธรรมที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ โดยรายงานความก้าวหน้าการทำงานทุกรอบ 3 เดือน ต่อหัวหน้าส่วนราชการ

สำหรับเรื่องที่ 2.แนวทางการจัดทำ-ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายฯปีงบประมาณ พ.ศ.2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และให้ทุกส่วนราชการ รวมถึง ศธ.ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 อาทิ

1.ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ ความต้องการในพื้นที่ และแผนพัฒนาพื้นที่ตามความต้องการของประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ

2.ดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา บรรเทาหรือแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และ 3.ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วน

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานด้วยว่า หลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก ศธ.360 องศา และเว็บบล็อก https://moe360.blog ได้เผยแพร่สรุปมติ ครม.เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่เกี่ยวข้องกับ ศธ.ทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาในทำนองว่า มีสมาชิกครูและบุคลากรทางการศึกษาบางส่วน ตั้งแต่ระดับผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และครู เริ่มมีความสับสนกับทิศทางการดำเนินงานของ ศธ.ภายใต้การนำของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.

โดยเฉพาะเรื่องทิศทางการจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เนื่องจากมติ ครม.เรื่องที่ 1 ได้รับทราบตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอสรุปผลการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งระบุชัดเจนว่า

“ให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก เน้นรูปแบบการเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนรู้หลักวิธีคิด แทนการสอนให้ท่องจำ จัดระยะเวลาในการเรียนที่เหมาะสม รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกจากนี้ ให้มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ให้มีความแตกต่างจากการสอนในชั้นเรียนตามปกติ” โดยไม่มีการกล่าวถึงให้ ศธ.จัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่อย่างใด

ยิ่งกว่านั้น ยังให้ทุกส่วนราชการ รวมถึง ศธ. สรุปผลสัมฤทธิ์การทำงานอย่างเป็นรูปธรรมที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ โดยรายงานความก้าวหน้าการทำงานทุกรอบ 3 เดือน ต่อหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งสอดคล้องกับมติ ครม.ในเรื่องที่ 2 ที่เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยให้ทุกส่วนราชการ รวมถึง ศธ.ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ, แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ, แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง), รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯลฯ

อีกทั้งมีกระแสข่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับเรื่องให้ทุกส่วนราชการ รวมถึง ศธ.ดำเนินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ, แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ, แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง), รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯลฯ เพราะถือเป็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย

ทั้งนี้ เพราะทั้งยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ที่พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นไปตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560

ซึ่งตามแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ระบุชัดในหน้า ๓๐๗-๓๐๘ ในหัวข้อส่วนที่ ๒ กิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) หัวข้อย่อยที่ ๒.๒ กิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ตามหัวข้อย่อย ๒.๒.๕ ขั้นตอนและวิธีการการดำเนินการปฏิรูป “ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning)”

โดยไม่มีระบุในแผนแม้แต่นิดเดียวที่ให้ ศธ.จัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ

สอดรับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 จ.ด้านการศึกษา (4) ซึ่งบัญญัติให้ “ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่”

ซึ่งไม่ได้มีบทบัญญัติเรื่องให้จัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ เช่นเดียวกัน

อีกทั้งในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ยังกำหนดห้วงระยะเวลาให้ ศธ.ดำเนินการในแต่ละขั้นตอนไว้อย่างชัดเจนด้วย โดยมีระยะเวลาดำเนินการรวม ๑ ปี ๙ เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๔–กันยายน ๒๕๖๕)

ดังนั้น นอกจากบรรดาครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมาก ตั้งแต่ระดับผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และครู จะมีความสับสนกับทิศทางการดำเนินงานของ ศธ.ในปัจจุบันแล้ว

"ยังมีข้าราชการระดับผู้ใหญ่ใน ศธ.จำนวนหนึ่งที่สะท้อนความเห็นเป็นห่วง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เกรงจะเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ หากยังมีนโยบายเดินหน้าการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะอีกต่อไป จึงอยากเรียกร้องให้บรรดาทีมงาน น.ส.ตรีนุช รวมถึง น.ส.ตรีนุชเอง ได้พิจารณาทบทวน เพราะเรื่องนี้เสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายต่อทั้งวงการศึกษาไทย และตัว น.ส.ตรีนุชเอง ส่วนบุคคลรอบข้างแน่นอนว่า ลอยตัวกันเช่นเคย” แหล่งข่าวระดับสูงใน ศธ.กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)