สธ.สำรวจเรียนออนไลน์!เด็กติดหวานพุ่ง เสี่ยงโรคอ้วน-ฟันผุ-เบาหวาน-ความดัน’

 

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือนกลุ่มเด็กวัยเรียน ลดพฤติกรรมการกินหวาน รวมทั้งเครื่องดื่มรสหวาน หลังผลสำรวจพบว่า เด็กไทยมีแนวโน้มการบริโภคน้ำอัดลมและเครื่องดื่มรสหวานเพิ่มสูงขึ้น 

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพเด็กวัยเรียน เกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มรสหวานในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ของกองสุขศึกษา ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ใน 1 วัน จะมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานเฉลี่ยสูงถึง 86.5% มีเพียง 13.5% ที่ดื่มน้ำเปล่าเท่านั้น  

โดย 38.8% ของผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน จะดื่มในปริมาณ 1 แก้วต่อวัน (1 แก้วมีขนาด 22 ออนซ์ หรือประมาณ 650 มิลลิลิตร) และมีผู้ดื่มในปริมาณ 2 แก้วขึ้นไป 20.3% ส่วนประเภทเครื่องดื่มรสหวานที่ดื่มเป็นประจำสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ น้ำอัดลม 40.95 % รองลงมาคือ ชานมไข่มุก 29.16 % และน้ำผลไม้ที่มีรสหวาน 9.34 % ตามลำดับ 

และส่วนใหญ่มักดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานตามโอกาส 3 ลำดับแรก คือ กินหมูกระทะ ร้อยละ  67.4 รองลงมา งานสังสรรค์ ร้อยละ 67.2 และดูหนังในโรงภาพยนตร์ ร้อยละ 56.4 ตามลำดับ  

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า เด็กวัยเรียนจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความรู้ความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องสูงสุด 3 เรื่องหลัก  คือ ข้อแรกเรื่องของปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคใน 1 วัน ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา, เรื่องที่สอง การดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานทำให้เสี่ยงโรคฟันผุ และเรื่องที่สาม การดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานทำให้เสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง 

สำหรับด้านทัศนคติเกี่ยวกับการดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีรสหวานพบว่า โดยส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องในเรื่องการรับรู้ว่าน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานที่ดื่มมีปริมาณน้ำตาลผสมอยู่เท่าใด และเรื่องรู้ว่าตนเองขาดน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานไม่ได้

มะลิ ไพฑูรย์เนรมิต

ด้าน นางสาวมะลิ ไพฑูรย์เนรมิต ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมภายนอก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กวัยเรียน ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือติดหวานมากขึ้น เพราะที่บ้านจะมีเครื่องดื่มรสหวานให้ดื่มได้ตลอด หาซื้อได้ง่าย และทุกครั้งที่ไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ต้องมีน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานเสมอ 

โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 เด็กส่วนใหญ่ต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน จะทำให้มีโอกาสดื่มเครื่องดื่มหวานจัดเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เป็นโรคอ้วน ฟันผุ และในอนาคตจะนำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงได้ในที่สุด 

จึงขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ได้ร่วมกันรณรงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ ที่ถูกต้องให้กลุ่มเด็กวัยเรียนและเยาวชน ในประเด็นต่อไปนี้ 

(1) ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน และหันมาดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน น้ำเปล่าจะช่วยป้องกันท้องผูก ช่วยควบคุมน้ำหนัก ช่วยให้ผิวไม่แห้งกร้าน

(2) อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อหรือดื่มทุกครั้ง เพื่อทราบปริมาณน้ำตาลในน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มรสหวานประเภทต่างๆ 

(3) การดื่มน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มรสหวานทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ และทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น 

“ทุกครอบครัวควรเอาใจใส่บุตรหลาน และสมาชิกในครอบครัว โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มรสหวาน  ลดการบริโภคอาหารหวานทุกชนิดและไม่ซื้อเครื่องดื่มรสหวานติดบ้าน เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ลูกหลานของเรามีสุขภาพที่ดี แถมยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวอีกด้วย”

สามารถติดต่อกองสุขศึกษา ผ่านช่องทาง Facebook และเว็บไซต์กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ htpp://www.hed.go.th

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)