ชมรมครูฯค้าน‘ตรีนุช’ เร่งใช้หลักสูตรสมรรถนะ ภาระครู-น.ร.-ผปค.ท่ามกลางโควิด

 

ชมรมครูภาคกลางค้าน รมว.ศธ.เร่งใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ

เพิ่มภาระครู-น.ร.-ผปค.อ่วมท่ามกลางโควิด

แฉ'ครู-บุคลากร' ยังไม่เคยรับรู้รายละเอียด

หนุนเตือน! 'ตรีนุช' ระวังตกเป็นเครื่องมือกลุ่มหาประโยชน์

จากกรณีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ประกาศเรื่อง ศธ.ได้ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เช่น ปรับปรุงหลักสูตรช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น ลดเวลาเรียนลงจาก 1,000 ชั่วโมง เหลือ 800 ชั่วโมง, เรียน 7 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แทน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้, ปลดล็อกตัวชี้วัดการเรียนรู้ เป็นต้น

รวมทั้งเพิ่มสมรรถนะหลักจากเดิม 5 ด้าน เป็น 6 ด้าน ได้แก่ การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ, การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้, การสื่อสารด้วยภาษา, การจัดการและการทำงานเป็นทีม, การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการยั่งยืน

โดยวางแผนนำหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ไปใช้ในกรอบเวลา 3 ปี คือ ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะสำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และปีการศึกษา 2567 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในทุกโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา

รวมทั้งคาดว่าจะจัดให้นำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวนี้ ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 และจะทยอยเผยแพร่คู่มือและหลักสูตรที่มีตัวอย่างสถานการณ์และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ปรับใช้ในพื้นที่และในรูปแบบการสอนออนไลน์ต่อไปนั้น

สิรภพ เพ็ชรเกตุ

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง และแกนนำสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษา (สคคท.) ให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ผ่าน สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ว่า ในนามชมรมครูภาคกลางขอแสดงจุดยืนคัดค้านนางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ที่ได้เร่งประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ด้วยเหตุผลคัดค้านสำคัญหลายประการ ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจว่า เหตุใดคณะที่ปรึกษาของ น.ส.ตรีนุช ที่เป็นคนในแวดวงการศึกษาแท้ๆ จึงไม่ทักท้วง

ทั้งที่เรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะยังเป็นเรื่องที่อยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปที่ตกผลึกเท่านั้น และเป็นเรื่องที่มีการหยิกยกขึ้นมาพูดถึงเพื่อให้เชื่อมโยงกับการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่บัญญัติในเรื่องของการจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรไว้ แต่ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ก็ยังไม่แน่นอนว่า จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ตราออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับได้เมื่อใด

ประกอบกับในช่วงปลายสมัยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้มีการติดตามรับฟังเสียงสะท้อนความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะบางส่วนยังไม่เคยเห็นรายละเอียดหลักสูตรฐานมรรถนะ และบางส่วนเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็น

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

อีกทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ เห็นว่า หลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่มีการปรับปรุงกันมาหลายครั้งแล้ว ยังใช้ได้ดีอยู่ ส่วนเรื่องสมรรถนะผู้เรียน ก็สามารถพัฒนาได้โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง หรือ Active Learning กระทั่งนายณัฏฐพลได้สั่งยุติการดำเนินการเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะไว้ก่อน และให้มีการเคลียร์ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ได้รับฟังมาดังกล่าว

"แต่จู่ๆ นางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กลับออกมาประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในเร็วๆ นี้แล้ว ทั้งที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศยังไม่เคยเห็นรายละเอียดของหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ว่านี้เลย"

ตรีนุช เทียนทอง

นอกจากนี้ การที่ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยจะเริ่มนำร่องทดลองใช้หลักสูตรนี้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 ซึ่งกำลังเป็นวิกฤตไปทั่วประเทศนั้น ถือเป็นการเพิ่มภาระให้กับครู นักเรียนและผู้ปกครองจำนวนมากโดยใช่เหตุ ในหลายพื้นที่ เพราะแต่ละภูมิภาคของประเทศมีหลายเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และครอบคลุมในหลายจังหวัด

"ทุกวันนี้ทั้งครู นักเรียนและผู้ปกครองต่างยุ่งยากลำบากกับการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่บาดของโรคติดต่อโควิด-19 เพราะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ ต้องสอนทางไกลด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งนักเรียนไม่ค่อยสนใจเข้าเรียนออนไลน์อยู่แล้ว จนมีหลายครอบครัวถึงขั้นลงไม้ลงมือกับบุตรหลาน แล้ว น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังจะมาให้โรงเรียนต่างๆ ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะกับครูและนักเรียนอีกหรือ"

ประธานชมรมครูภาคกลาง กล่าวต่อว่า ตนอยากฝากตั้งคำถามไปถึง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ว่า การให้ครูและนักเรียนในโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ นำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในวันที่ 1 กันยายน 2564 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 นั้น คิดว่าจะได้ผลการทดลองที่สมบูรณ์และใช้เป็นต้นแบบแก่สถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศได้หรือไม่?

เพราะอย่าลืมว่าครูและนักเรียนโรงเรียนเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดที่ต้องจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ที่มีปัญหาต่างๆ มากมายอยู่แล้ว แต่ยังต้องมาเพิ่มภาระการสอน การเรียนและการวัดประเมินผลในหลักสูตรฐานสมรรถนะเพิ่มเข้ามาอีก อย่างนี้หรือคือแนวทางตามนโยบายลดภาระทางการศึกษาให้กับครูและนักเรียน

ในฐานะประธานชมรมครูภาคกลาง และเพื่อนแกนนำในองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ ต่างเห็นพ้องว่า ควรคัดค้านการประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในเวลานี้ ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะยังเป็นเรื่องที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศยังไม่ได้รับทราบในรายละเอียด ประกอบกับเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19

ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ ศธ.ควรเผยแพร่ตัวหลักสูตรฐานสมรรถนะออกมาให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ประชาพิจารณ์กันก่อน น่าจะเป็นขั้นตอนที่ถูกต้องกว่า

"พวกเรายังเห็นพ้องกันด้วยว่า ควรร่วมกันสะท้อนผ่านไปถึง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เตือนให้ระมัดระวัง เกรงว่าจะตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มหาผลประโยชน์จากการใช้งบประมาณจำนวนมากในการเร่งเดินหน้าดำเนินการเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ หรืออาจตกเป็นเครื่องมือหาประโยชน์จากการขายหนังสือเรียนใหม่ของสำนักพิมพ์บางแห่ง ตามที่เป็นกระแสข่าวกันอยู่ในขณะนี้” นายสิรภพ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)