จี้"ตรีนุช"มีลายลักษณ์อักษรให้สิทธิ ร.ร.เลือกเปิด 5 On หรือเจาะจง On Site

ครูฯเรียกร้อง "รมว.ตรีนุช" คลายความสับสน ประกาศลายลักษณ์อักษรชัดเจน จะให้สิทธิ ร.ร.เลือกเปิดเรียนได้เองตามภาวะโควิด-19 ระบาด หรือเจาะจงต้อง On Site เท่านั้น

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ว่า ตนได้รับร้องเรียนจากคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนหนึ่งว่า ขณะนี้สถานศึกษาเกิดความสับสนในการปฏิบัติตามแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาพื้นที่ต่างๆ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน

สานิตย์ พลศรี

ซึ่งยังมีการแพร่ระบาดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 เรื่องขยายระยะเวลาการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของ ศธ. โดยขยายระยะเวลาการปฏิบัติงาน Work from home ของบุคลากรในสังกัดและในกำกับกระทรวงศึกษาธิการไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ต่อเนื่องจนถึง 31 มกราคม 2565

รวมทั้งนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ลงนามเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องมาตรการ้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ฉบับที่ 19 โดยขยายระยะเวลาการปฏิบัติงาน Work from home ของบุคลากรในสังกัด สพฐ.ต่อเนื่องจนถึง 31 มกราคม 2565 เพื่อป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในบุคลากร สพฐ.

ประกอบกับนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวให้นโยบายในวาระต่างๆ ในช่วงเวลานี้ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ซึ่ง ศธ.ได้มอบหมายให้แต่ละสถานศึกษาสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ได้ทั้ง 5 On ได้แก่ On air, Online, On hand, On demand และ On Site

แต่ในขณะเดียวกัน รมว.ศธ.ก็ระบุด้วยว่า "ที่ผ่านมาการปิดประเทศ lock down นำมาสู่การปิดโรงเรียน ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ ศธ.จึงต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย แต่ที่สุดแล้ว ศธ.ก็พบว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กคือ การมาโรงเรียน ดังนั้น การปิดโรงเรียนจึงไม่ใช่มาตรการหลักของเรา” พร้อมทั้งโชว์ตัวเลขว่า ขณะนี้มีสถานศึกษาในสังกัด ศธ.เปิด On Site แล้ว 18,672 แห่ง จากทั้งหมด 35,172 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 53.09

นอกจากนี้ นายสุภัทร ปลัด ศธ. ยังร่วมกับนายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย นำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาต่อที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.ชุดเล็ก เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาว่า ควรให้สถานศึกษาเปิดเรียนแบบ On Site แต่ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในสถานศึกษาและปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ พร้อมทั้งเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ของตนเอ

“จึงทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเกิดความสับสนว่า ศธ.และ สพฐ.จะให้สถานศึกษาปฏิบัติตัวอย่างไรกันแน่ จะให้สิทธิแต่ละสถานศึกษาสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ได้เอง เพื่อมุ่งดูแลความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียน เช่นเดียวกับบุคลากร ศธ.และ สพฐ.ที่ให้ปฏิบัติงานภายในที่พัก Work from home ได้ หรือจะให้แต่ละสถานศึกษาต้องเปิดเรียนแบบ On Site เท่านั้น” นายสานิตย์ กล่าว และว่า

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่จะป้องกันการแพร่ระบาดในสถานศึกษา เพราะทั้งครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน มีสิทธิที่จะนำเชื้อโควิด-19 จากครอบครัวเข้าสู่สถานศึกษาได้ทุกเมื่อ เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงรอบตัว เช่น การลักลอบเปิดผับ บาร์ ขายเหล้าตามสถานบันเทิงในพื้นที่ต่างๆ ตามที่ปรากฏข่าวแทบทุกวัน 

ในขณะเดียวกัน ทั้งครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ก็มีสิทธิที่จะนำเชื้อโควิด-19 จากสถานศึกษาไปสู่ครอบครัวได้ทุกเมื่อเช่นกัน เนื่องจากยังคงปรากฏข้อเท็จจริงเป็นระยะๆ ต่อเนื่องว่า มีครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในหลายโรงเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 

"ซึ่งเข้าใจว่า ที่ ศธ.และ สพฐ.พิจารณาให้บุคลากรในสังกัดและในกำกับสามารถปฏิบัติงานภายในที่พัก หรือ Work from home ได้ ก็เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั่นเอง"

นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าวต่อว่า ดังนั้น คณะครูและบุคลากรทางการศึกษากลุ่มดังกล่าวจึงอยากให้ตนเรียกร้องไปยัง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ออกประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนว่า จะให้สิทธิแต่ละสถานศึกษาสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่ได้เอง หรือจะให้แต่ละสถานศึกษาต้องเปิดเรียนแบบ On Site ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในสถานศึกษา และปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด

"ทั้งนี้ เพื่อที่สถานศึกษาต่างๆ จะได้ใช้เป็นหลักฐานชี้แจงต่อทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ว่า ทางโรงเรียนได้ปฏิบัติตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการ ศธ."

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)