ผ่าแผน'ตรีนุช' นำทัพ ศธ. ฝ่าวิกฤตโควิด-19 กลายพันธุ์ รอบนี้มีคนหนาว

 

           

 

เสวนากับบรรณาธิการ 29 เมษายน 2564  

 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ 

 

 ผ่าแผน'ตรีนุช'นำทัพ ศธ.ข้ามมิติความคิด

ฝ่าวิกฤตโควิดกลายพันธุ์ รอบนี้มีคนหนาว

เว็บไซต์ Worldometers รายงาน สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ประจำวันที่ 29 เมษายน 2564 พบผู้ติดเชื้อแล้ว 150,197,455 ราย เพิ่มขึ้น 808,126 ราย เสียชีวิต 3,163,027 ราย เพิ่มขึ้น 870,952 ราย รักษาหาย 128,255,446 ราย สำหรับประเทศไทย ขยับจากลำดับ 105 พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 103 พบผู้ติดเชื้อกว่า 61,699 ราย เสียชีวิตรวม 178 ราย รักษาหาย 34,402 ราย

ขณะที่ นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ดับเบิลยูเอชโอ เตือนอัตราติดเชื้อและผู้เสียชีวิตโควิดทั่วโลกพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราที่น่าเป็นห่วง ใกล้ระดับสูงสุดทุกภูมิภาคทั่วโลก และที่สุดของน้ำเสียงตบท้าย ด้วยประโยคที่ว่า บางประเทศก่อนหน้านี้ สามารถหลีกเลี่ยงในวงกว้างได้แล้วแต่การดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขไม่ต่อเนื่อง และผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไป บวกกับความเหนื่อยหน่ายของประชาชนกับข้อจำกัดทางสังคม รวมถึงความล่าช้าในการฉีดวัคซีนป้องกัน จึงทำให้ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ต่าง ๆ แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่ผ่านมา

ผสมผสานกับข้อมูลข่าวสารเรื่องวัคซีนของประเทศมีทั้งมิติวิทยาศาสตร์และการเมืองปนกัน ภาครัฐต้องเร่งตอบชี้แจงสังคมให้เข้าใจชัดเจน ตั้งแต่เรื่องได้รับฉีดวัคซีนช้ามีตัวเลือกอื่นหรือไม่ ฉีดแล้วผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่ การบริหารจัดการโปร่งใสเพียงใด หากรัฐยังมองว่าเป็นคำถามโง่ ๆ ไร้สาระ เสียเวลาคุย ก็คงจมอยู่ในกระแสทำลายความน่าเชื่อมั่นต่อนักการเมืองต่อไป

เท่าที่รับฟังจาก ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล วิเคราะห์ให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการควบคุมการแพร่ระบาด ขณะนี้ประชากรทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 630 ล้านโดส และ ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว 130 ล้านโดส และหลายประเทศหลังได้รับวัคซีน ส่วนมากมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อระบาดรายใหม่ลดลง 

ข้อวิตกแรกนั้นเห็น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ตีกลองประชุมระดับบิ๊กในศธ.หารือเปิดภาคเรียนและการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาด แล้วมีมติให้เลื่อนเปิดเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ขยับจาก 17 พฤษภาคม 2564 ไปเป็น 1 มิถุนายน 2564 ด้วยเหตุผล การแพร่ระบาดของโรคโดยรวม อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น ยันด้วยดัชนีตัวเลขติดเชื้อและผู้เสียชีวิตโควิดทั่วโลกพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างน่าเป็นห่วงสูงสุดทุกภูมิภาคทั่วโลกแดงเถือกลงลึกไปแทบทุกหย่อมหญ้าทั้งประเทศ ขนาดข้าราชการ ใน ศธ.ระมัดระวังอย่างเลิศแล้ว ยังโดนเข้าไปตั้ง 21 ราย ต้องล็อกแดนปิดเขตให้ทำงานที่บ้านกันวุ่นวายไม่น้อย

แม้กระทั่งรัฐมนตรีทั้ง 3  ไม่ว่าน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ.และ คุณกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ.แค่ไปเฉี่ยวโฉบในงานแสดงความยินดีต่อกันไม่กี่นาที ทั้งคณะยังขอกักตัวเอง 14 วัน เพื่อรอดูอาการเพื่อความมั่นใจเต็ม 100 แต่โชคดีที่ผลตรวจเป็นลบ เมื่อคิดเลยไปถึงเด็ก ๆนักเรียนและผู้ปกครอง หากเกิดอะไรขึ้นมาในช่วงเปิดเรียน คงไม่มีคำว่าโชคดี มีแต่ลุ้นเป็นนาทีอย่าให้มีผู้ใดติดเชื้อ

จะไม่ให้คิดมากได้อย่างไร ในเมื่อคนทั้งโลกรับรู้รู้ดีว่าความรุนแรงของโรคระบาดครั้งนี้ มีอัตราการขยายเชื้อรวดเร็วและรุนแรงกว่าการระบาดในช่วงแรกหลายเท่า การขยายวันเปิดเรียนไปแค่ 2 สัปดาห์  คิดบนฐานอะไร หักวันหยุดเสาร์-อาทิตย์แล้ว เท่ากับซื้อเวลาของเดือนพฤษภาคม ไปเพียง 10 วันทำการเท่านั้น

มันตลกไหมล่ะ เลื่อนเปิดภาคเรียน ขยับจาก 17 พฤษภาคม 2564 เป็น 1 มิถุนายน 2564  แค่ 15 วัน แถมในช่วงดังกล่าว ยังกำหนดแนวทางดำเนินงานไม่พ้นแจกคู่มือให้ครูสวมหน้ากาก ใส่แมส ถีบจักรยาน ขี่มอเตอรไซดิ์  ถ่อเรือ ถ่อแพ ขับรถ ไปเยี่ยมนักเรียนถึงบ้าน 

เท่ากับทำให้ครูเสี่ยงเข้าดงโรคระบาดออกไปพบปะกับผู้ปกครองถึงบ้านนักเรียน เสร็จแล้วกลับเข้าบ้านอยู่กับครอบครัว ถ้าโชคดีไม่ติดเชื้อมาก็ถือว่าดวงดี แต่กว่าจะรู้ว่าภูมิต้านทานต่ำ เผลอรับเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่แสดงอาการทันที แต่ยังต้องออกไปเยี่ยมบ้านนักเรียนในวันต่อ ๆไปตามนโยบายอีก แล้วใครจะชดใช้ให้กับความสูญเสียนี้ด้วยอะไรถึงจะคุ้มค่า

ส่วนที่บอกในทำนองว่า ให้ครูและร.ร.จัดกิจกรรมเสริมให้ผู้เรียนใช้ระบบออนไลน์ หรือระบบอื่นๆที่เหมาะสม ส่วนแนวทางการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร คงต้องรอฟังอีกที ถามว่าทำไมต้องรอ ทั้ง ๆที่โลกและประเทศไทย วันนี้ การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้คนไม่ว่าเดี่ยวหรือกลุ่มคนจำนวนมากมีการเชื่อมโยงที่แสนสะดวกง่ายดายในทุกความเคลื่อนไหว รวดเร็วแค่นิ้วจิ้ม จึงเป็นเรื่องธรรมดามากกับการนำเทคโนโลยีเพื่อการเชื่อมโยงเรียนรู้ ไปบูรณาการผสมผสานการเรียนการสอน ที่สามารถจะแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันแทบทุกแฟลตฟอร์ม

โลกมันเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน หากผู้นำการศึกษายังไม่ปรับเปลี่ยน ทุกคนที่เกี่ยวข้องรับนโยบาย สู่การปฏิบัติ ก็เหนื่อยหนักเป็นทวีคูณ ซึ่งจะกลายเป็นการวัดสรรถภาพและคุณภาพความเป็นผู้นำ พึ่งพาในยามวิกฤติได้มากน้อยเพียงใด

แต่ล่าสุด ดูเหมือนว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. เริ่มเดินมาถูกทางแล้ว ที่ออกมาปรับทีท่าในทำนองแบ่งรับแบ่งสู้จะมีการทบทวนนโยบายให้ครูเยี่ยมบ้านนักเรียน ในช่วงวันที่ 17-30 พฤษภาคม 2564 ก่อนเปิดเทอมในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ให้ครูสามารถทำได้หลายวิธี โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครูไม่จำเป็นต้องเดินทางไป โดยใช้โทรศัพท์ สื่อออนไลน์หรือวิธีอื่น ๆ ที่สะดวกและปลอดภัยในการสื่อสารได้ 

เท่านี้ก็ได้ใจครูไปพอสมควร เพราะครูจะรู้หน้าที่ รู้จักธรรมชาติของเด็กได้ดีกว่าแน่นอน

และสิ่งที่ต้องชื่นชม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ที่มีหัวใจแห่งความรัก ความห่วงใยต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ด้วยการร้องขอให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้ครูและบุคลากรการศึกษา เพราะเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง จากการเข้าไปพบและหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้มีอำนาจตัวจริงเสียงจริง

ตามข่าวว่า เธอได้แจงถี่ยิบถึงความสำคัญของครูและบุคลากรการศึกษา ไม่น้อยไปกว่าบุคลากรที่ทำหน้าที่อยู่แนวหน้ารับมือกับโรคระบาด และ หากใครสักคนไปติดเชื้อโควิด-19 ก็อาจจะกลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ที่ส่งผ่านเชื้อไปยังผู้อื่นได้เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ขึ้นมา

แถมตบท้ายด้วยการจัดลำดับความสำคัญ ที่เธอเสนอว่า หากจะฉีดให้กับครูและบุคลากร ที่อยู่ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงและมีความเสี่ยงสูงก่อนก็ได้ และให้เป็นไปตามความสมัครใจ ใครได้ฟังก็หัวใจละลายตื้นตันได้เช่นกัน 

ข้อเสนอที่ว่านี้ มีแต่ยากกับยาก ต้องรู้เขารู้เรา  ต้องหยั่งใจผู้สูงวัยที่มีอำนาจให้ทะลุ หาก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ไปขอกับ นายกรัฐมนตรี คงจะออกมารูปแบบหนึ่งในลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้  หรือถ้าส่งใครอีกสัก 2 คนในศธ.ไป เจรจากับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผลน่าจะออกมาแบบ อาจได้เฮ กันลั่นคลองผดุงกรุงเกษม  ก็ได้นะ 

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ edunewssiam ขอฝากเรื่องการดูแลสิทธิประโยชน์ตลอดสวัสดิการอันพึงมีพึงได้ ในสิ่งที่ครูควรได้รับอย่างเท่าเทียมกับเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการรัฐอื่น ๆ  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ ครู บุคลากรทางการศึกษา ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ท่ามกลางสงครามโรคระบาด จักได้มีขวัญกำลังใจ มา ณ ที่นี้

โดยเฉพาะความเป็นไปได้ต่อการหาทางทำประกันความเสี่ยงฯให้ ครู บุคลากรทางการศึกษา ทั้งรัฐและเอกชน ทุกสังกัด จาก ๆการทำหน้าที่ด้วย รวมไปถึงการเข้าไปดูแล จัดเตรียมงบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ตามความเป็นจริงเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าพาหนะ ค่าน้ำมัน ค่าจัดทำจัดเตรียมเอกสารสิ่งพิมพ์ประกอบการเรียนการสอน มิใช่ดูแลเฉพาะผู้ใหญ่และคณะจากส่วนกลาง จากจังหวัดหรือเขตพื้นที่ ที่ยกคณะเป็นขโยงลงไปติดตามตรวจงานแล้วมาลอยหน้าออกสื่อ อย่างที่เคยทำกันมาเท่านั้น...

ดังนั้น การขยายการเปิดภาคเรียนออกไปถึงปลายเดือนมิถุนายน อาจมีเสียงบ่นรำพันจากผู้ปกครองถึงภาระกันบ้างก็ต้องรับฟัง แล้วลองชั่งน้ำหนักเอาความเห็นของสังคมประเทศมาชั่งดู คงจะเห็นภาพอย่างที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เคยย้ำเตือนให้ตระหนักว่า 

“....การศึกษาเองก็มีความสำคัญกับเด็กนักเรียน ทุกอย่างจะต้องอยู่บนความสมดุล ระบบสาธารณสุขจะต้องรองรับได้...การวางแผนเปิดเทอม จะต้องมั่นใจว่า ควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของโรคในเด็กนักเรียนได้  ควรมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน และกระจายอำนาจให้แต่ละท้องถิ่นดูแลตามความเหมาะสม... เข้าใจว่าทุกคนเป็นห่วงเรื่องการศึกษาของเด็ก แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นห่วงเรื่องผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรค ถ้าไม่สามารถควบคุมได้จะเกิดผลเสียอย่างใหญ่หลวงตามมา...” ถามว่า ศธ.กล้ารับผิดชอบในการตัดสินใจไหม 

สุดท้าย มาดูผลงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คงต้องพิสูจน์ให้สังคมประจักษ์ถึงความรอบรู้ ความสามารถต่อการแก้ปัญหาท่ามกลางสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ได้หรือไม่

ไม่ว่าจะเปิดเรียนในที่ ๑ มิถุนายนที่จะถึง หรือจะเลื่อนเปิดเทอมไปอีกก็ตาม การเตรียมระบบความพร้อมทั้งเชิงรุกหรือเชิงรับ มีอะไรให้อุ่นใจไว้บ้างแล้ว ?? 

โดยเฉพาะการโชว์ตัวเลขการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนต่อ ม.1 และ ม.4 ของโรงเรียนทั่วประเทศ ขณะนี้ สพฐ.ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จด้วยตัวเลขประมาณ 10,000 โรงเรียน นับว่ามิใช่น้อยที่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ตามปฏิทินที่กำหนดไว้ โดยอ้างเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 

สรุปแล้ว จึงทำให้ผลงานที่ผิดแผนดังคำอ้างนี้ รับฟังได้มากน้อยเพียงใด ควรได้รับการพิจารณาถึงนัยสำคัญเช่นกัน 

ตบท้ายต้อนรับ สุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ อรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการมาแล้ว อย่าทำให้ทุกคนผิดหวัง

 

EunewsSiam : เสวนากับบรรณาธิการ   

editor@edunewssiam.com

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)