วิทยาลัยสังกัด สอศ.ทั่ว ปท. คือ “แหล่งนวัตกรรมอาชีวะ” ช่วยคนไทยแก้จน!

วิทยาลัยสังกัด สอศ.ทั่ว ปท.

“แหล่งนวัตกรรมอาชีวะ” ช่วยคนไทยแก้จน!

“สอศ.” สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้จัดงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2564 เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจน ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและชุมชน ช่วงวันที่ 24–25 มีนาคม 2565 ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยมี เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดงาน ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยปีการศึกษา 2564 นี้ มีผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านการคัดเลือกและประเมินผลงานในระดับภาคทั้ง 5 ภูมิภาค แบ่งเป็น 5 ประเภท ๆ ละ 20 ผลงาน รวมทั้งสิ้น 100 ผลงาน เข้าร่วมประเมินในรูปแบบระบบออนไลน์

เรืออากาศโท สมพร รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเปิดงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา การประเมินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ นวัตกรรมอาชีวศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2564 โดยสรุปใจความสำคัญว่า การจัดงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนอาชีวศึกษาทั่วประเทศให้เป็นนักคิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สู่ชุมชน เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน

ซึ่งปีนี้มีผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านการคัดเลือกและประเมินผลงานในระดับภาค ทั้งภาคตะวันออกและกทม. ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมประเมินผ่านระบบออนไลน์ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 100 ผลงาน แบ่งเป็น 5 ประเภท

ประกอบด้วย ประเภทที่ 1 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมซอร์ฟแวร์และระบบสมองกลฝังตัว ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหารไทย ประเภทที่ 4 สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานทดแทนเพื่อการเกษตร และประเภทที่ 5 สิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน

ดังนั้น งาน “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจน” ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดขึ้นในแต่ละปี จึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวนักศึกษาเอง และโดยเฉพาะต่อประชาชนในชุมชนพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

เฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ประเทศและทั่วโลกกำลังประสบกับปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนคนไทยตกงาน และมีปัญหาในการประกอบอาชีพ รายได้ลดลง ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น จนมีปัญหาความยากจนเกิดขึ้นจำนวนมากทั่วประเทศ

ซึ่ง “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจน” ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ ในยุคของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้สนับสนุนส่งเสริมสถานศึกษาอาชีวะในสังกัดทั่วประเทศในทุกประเภทวิทยาลัย ให้อบรมบ่มเพาะนักศึกษาได้ใช้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาทั้งจากภายในวิทยาลัยและความรู้จากภายนอกคิดค้นผลิตสิ่งประดิษฐ์ประเภทต่างๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนคนไทย

จนมีจำนวนนวัตกรรมฝีมือนักศึกษาอาชีวะออกมามหาศาล ให้ได้เลือกใช้ประโยชน์ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของประชาชนในชุมชน แต่ละพื้นที่

หากว่าสถานศึกษาอาชีวะแต่ละประเภท แต่ละแห่งทั่วประเทศ ได้เปิดกว้างเชิญชวนให้ชาวบ้าน ประชาชนในละแวกวิทยาลัยได้เข้าไปชม ไปสัมผัส ไปปฏิสัมพันธ์ เพื่อการนำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ ก็จะสามารถช่วยการแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างกว้างขวาง และเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะเห็นถึงความคึกคักของแต่ละสถานศึกษาอาชีวะในสังกัด สอศ. กระทรวงศึกษาธิการ ทั่วประเทศ และในระดับภูมิภาค ก่อนที่จะถึงกำหนดจัดงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจน ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา โดยเต็มไปด้วยสีสันข่าวคราวการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ “นวัตกรรมอาชีวศึกษา เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจน” ของวิทยาลัยในสังกัด สอศ.แต่ละแห่ง ซึ่งแต่ละผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวะต่างๆ คิดค้นออกมาล้วนมองเห็นคุณค่าที่จับต้องได้

ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมซอฟต์แวร์และสมองกลฝังตัว, สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ, สิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหารไทย, สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานทดแทนเพื่อการเกษตร และสิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน

อาทิ เครื่องสลัดน้ำผึ้งอัตโนมัติ จากวิทยาลัยเทคนิคแพร่ และ เครื่องบีบน้ำมันเมล็ดพืช ผัก ผลไม้ จากวิทยาลัยเทคนิคนครนายก ซึ่งมีดีกรีได้นำไปจัดแสดงภายในงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)" ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้ Theme งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

ผลงานนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างตราด ในกิจกรรมงาน "สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา" การประเมินผลงานสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่อาชีวศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ระดับอาชีวศึกษาจังหวัดตราด ประจำปีการศึกษา 2564

ผลงานนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคลำปาง ที่เข้ารับการประเมินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ "นวัตกรรมอาชีวศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน" ระดับภาค ภาคเหนือ ประจำปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 4 ผลงาน คือ ตู้รับของอัจฉริยะ, เครื่องลงทะเบียนเข้าออกสถานที่, เครื่องผ่าเม็ดกระบก และเครื่องอบกระเทียมดำประหยัดพลังงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน

บรรยากาศการนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ “นวัตกรรมอาชีวศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน” ประจำปีการศึกษา 2564 ระดับจังหวัด อาชีวศึกษาจังหวัดพัทลุง

อีกตัวอย่างเป็นผลงานนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ ที่เข้าร่วมการประเมินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ “นวัตกรรมอาชีวศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความยากจน” ระดับภาค ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 3 ผลงาน ซึ่งได้รับรางวัล ดังนี้

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ระดับเหรียญทอง ผลงาน “เครื่องทำขนมจีนเส้นสดกึ่งอัตโนมัติ” แผนกวิชาแม่พิมพ์พลาสติก, รางวัลชมเชย ระดับเหรียญทองแดง ผลงาน “ข้าวตังลูกเดือยหน้าปลาสลิด” แผนกวิชาสามัญสัมพันธ์ แผนกวิชาการตลาด และแผนกวิชาการออกแบบ และรางวัลชมเชย ระดับเหรียญทองแดง ผลงาน “สมาร์ทฟาร์ม HandySence SPTC” แผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์

กระทั่งท้ายสุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เปิดเผยผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับตัดสินรางวัลในงาน "สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา การประเมินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ นวัตกรรมอาชีวศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2564" มีจำนวน 25 ผลงาน แบ่งเป็น 5 ประเภทๆ ละ 5 ผลงาน 

จากจำนวนผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านการคัดเลือกและประเมินผลงานในระดับภาค ทั้ง 5 ภูมิภาค แบ่งเป็น 5 ประเภทๆ ละ 20 ผลงาน รวมทั้งสิ้น 100 ผลงาน

โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัล จำนวน 25 ผลงาน มีดังนี้

ประเภทที่ 1 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมซอฟต์แวร์และระบบสมองกลฝังตัว รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ชุดต่อขยายประตูกั้นคัดกรองอุณหภูมิอัตโนมัติ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ระบบติดตามตัวผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการตรวจรักษา V.2 วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เอ็กซ์คอนเน็คแพลตฟอร์มเพื่อการเกษตรอัจฉริยะ วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 และรางวัล Honor Award ได้แก่ แอปนี้ ตื่นเต็มตา วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ

ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เครื่องอบพริกแห้งปั่นอัตโนมัติ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัล Honor Award ได้แก่ เครื่องขายข้าวสารสด วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เตาอบโอ่งและรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ เครื่องตุ๋นสมุนไพรไทยด้วยระบบไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคลำพูน

ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหารไทย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ตูเลแป้งข้าวมะจานูพร้อมไก่กอและสเปรด วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัล Honor Award ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมแกงมัสมั่น วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา,  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ กัมมี่เยลลี่ข้าวสีอินทรีย์เสริมโพรไบโอติกสูตรพลังงานต่ำ วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ มันแซงอบกรอบเสริมใยอาหารจากผงกากข้าวโพด วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี

ประเภทที่ 4 สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานทดแทนเพื่อการเกษตร รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ชุดชิงช้าปลูกผักเลี้ยงปลาระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ วิทยาลัยการอาชีพไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัล Honor Award ได้แก่ ตู้อบและรมควันผลิตผลทางการเกษตรพลังงานร่วม วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เรือไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพื่อการเกษตร วิทยาลัยการอาชีพอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ กล่องเก็บพลังงานเพื่อเกษตรกร วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

และ ประเภทที่ 5 สิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ต่อสารธารณชน รางวัลชนะเลิศ และรางวัล Honor Award ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วย DTEC 2 วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เครื่องล้างและบำบัดสิ่งปนเปื้อนหอยนางรม วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ แท่นกดเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติอออินวัน สำหรับคัดกรอง โควิค-19 วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ถังขยะฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วด้วยรังสียูวีซีและโอโซน วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จังหวัดระยอง

จากบรรดาตัวอย่างผลงานสิ่งประดิษฐ์เนื่องในงาน "สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา การประเมินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ นวัตกรรมอาชีวศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน" ที่หยิบยกนำเสนอให้เห็นภาพเหล่านี้ คงเพียงพอที่จะการันตีได้ว่า “วิทยาลัยในสังกัด สอศ.ทั่วประเทศ คือแหล่งนวัตกรรมอาชีวะ ที่สามารถจะช่วยคนไทยแก้จนได้จริง!”

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)