'วอศ.เอี่ยมละออ' เปิดอบรมวิชาชีพระยะสั้น "ทำได้ขายเป็น"

 รายงานพิเศษ      

'วอศ.เอี่ยมละออ' เปิดอบรมวิชาชีพระยะสั้น "ทำได้ขายเป็น"

เมื่อประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ต้องสู้กับการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ค่อนข้างรุนแรงไปเกือบทั่วประเทศ และยังไม่มีวี่แววจะควบคุมจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาดได้ เป็นเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในโลก ไม่ว่าจะเป็นด้วยความด้อยพัฒนา ด้วยสำนึกแต่จะชิงดีชิงเด่นเอาประโยชน์ แล้วยังมีความเป็นไปได้ว่า เฉพาะไทยเรานั้น น่าจะยังอยู่กับวิกฤตินี้ต่อไปอีกนานพอสมควร จนกว่าคนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีน 2 โด๊ดเกิน 70% ไปแล้ว

          นั่นหมายถึงว่าคนไทยทุกคนต้องดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวัง ไม่ประมาท เพื่อให้รอดพ้นจากการติดเชื้อโรคโควิด โดยต้องอยู่ร่วมกันในสังคมเราด้วยการสรวมหน้ากากผ้าอย่างเคร่งครัด ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ จะคลุกคลีตีโมงแม้แต่กับคนในครอบครัวก็ต้องระมัดระวัง ยิ่งกับคนอื่นแม้จะรักกันแค่ไหน ก็ต้องนึกถึงใส่หน้ากากผ้าก่อนพูดคุยใกล้ชิด สัมผัสสัมพันธ์กันอย่างระวัง ยิ่งเมื่อออกนอกบ้านไปในพื้นที่คนรวมตัวกันเยอะๆอย่างตลาด ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อเป็นต้น ใส่หน้ากากผ้าเข้าหากันอย่างเดียว

          โควิด-19 ที่ระบาดหนักเวลานี้ บังคับให้ต้องอยู่แบบโดดเดี่ยวรวมกันไม่ได้ บังคับให้คนไทยอดอยากขาดแคลน ยากจน  บังคับให้ประเทศเป็นหนี้ ยากจน สถานประกอบต้องปิดตัว คนต้องตกงานยากจน รายได้ที่เคยได้เคยมีก็ไม่ได้อีกต่อไป ปิดการค้าขายทั้งในประเทศลามไปจนปิดประเทศไม่มีรายได้เข้า กระทบกันเป็นลูกโซ่ตั้งแต่ประชาชนไปจนถึงรัฐบาล

         

         อย่างไรก็ตามแต่ ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต คนไทยไม่เคยนิ่งดูดายและไม่ท้อถอยไม่ทิ้งกัน ถึงกายต้องห่างแต่หัวใจที่เมตตาเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเกื้อกูลให้กัน แบ่งปันกันใกล้ชิดกันแนบแน่น โดยเฉพาะสถานศึกษาที่สอนสายวิชาชีพสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แม้จะยังไม่ได้เปิดเรียนเปิดสอนตามปรกติในห้องเรียนเพราะโควิด-19ระบาดหนักปิดประตู แต่ก็ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน ได้สอนได้เรียนอีกแบบ คือ ทางออนไลน์ ทางยูทูป  ทางเว็บไซด์ ผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งนักเรียนนักศึกษาจนถึงประชาชนที่สนใจพลอยได้เรียนไปด้วย เรียนกันสอนกันพร้อมทั้งใช้ความรู้ความสามารถสร้างนวัตกรรม เอาไปช่วยบุคลากรทางการแพทย์ เป็นกำลังสู้กับโรคโควิด จัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยี หน้ากากผ้า เจลล้างมือไปจนกระทั่งอาหารสดใหม่ไปมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆตามแต่ละท้องถิ่น

         

         ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออ (วอศ.เอี่ยมละออ) ตั้งอยู่พื้นที่ทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กทม.เปิดสอนสายวิชาชีพของชุมชนย่านนั้นครอบคลุมพื้นที่งามดูพลี ซอยสวนพลู ทุ่งมหาเมฆ มานาน เป็นวิทยาลัยอาชีวะที่มีความเชี่ยวชาญด้านคหกรรมศาสตร์ด้านอาหาร ด้านจัดดอกไม้การฝีมืออีกหลายอย่าง แม้จะเป็นช่วงวิกฤติโรคไวรัสโควิดระบาด แต่ วอศ.เอี่ยมละออพร้อมสู้โควิด ด้วยมีหัวใจที่จะสร้างอาวุธให้ชาวชุมชน คือ อาชีพ เปิดสอนเปิดอบรมอาชีพระยะสั้นตลอดทั้งปี สนองนโยบายสอศ.”สอนอาชีพทำขายได้ขายเป็น” โดยผู้อำนวยการนางยุพิน พิมศร เป็นวิถีของวิทยาลัยที่ทำต่อเนื่องมายาวนาน เพื่อพัฒนาชาวชุมชนมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต

         ยิ่งช่วงเกิดโรคโควิดระบาดก็ตั้งใจรวมพลังครูอาจารย์ของวิทยาลัย ติดอาวุธให้ชาวชุมชนมีความรู้ทำอาหารหรือทำคหกรรมติดตัว เพื่อไปทำกินทำใช้เองในบ้านหรือไปทำเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ครอบครัว  มีเป้าปั้นชาวบ้านมีวิชาชีพติดตัวในช่วงโควิดระบาดนี้ ปีละสัก 200  คน โดยเปิดสอนเปิดอบรมให้ประชาชนในชุมชนรอบ ๆ

         "...วิทยาลัยนี่แหละรุ่นละ 5-7 คนแต่ละอาชีพ เป็นระยะสั้น 6 ชั่วโมง ไม่แออัดภายใต้การเคร่งครัดด้วยการใส่หน้ากากผ้า ใช้เจลหรือแอบกอฮอล์อย่างเคร่งครัดสอนให้ฟรี มามือเปล่าๆ ขอเพียงเอาความรู้ความสามารถที่เข้ามากลับไปทำอย่างจริงจัง ก็พอ..." 

         เมื่อได้เวลาดีในช่วงเดือนกรกฏาคม ผอ.วอศ.เอี่ยมละออ ยุพิน พิมศร เอ่ยปากชวนไปสังเกตการณ์อบรมหรือสอนวิชาชีพให้ชาวบ้านได้ติดอาวุธความรู้ติดตัวไปสร้างอาชีพสู้กับโควิด หรือ เอาไปทำกินเองในบ้านประคับประคองการดำเนินชีวิต ก็ตอบรับทันที

         

         ความโดดเด่นของการอบรมอาชีพระยะสั้นวันนั้น ผู้อำนวยการ ยุพิน บอกมี 3 อาชีพ อาชีพที่ 1 “น้ำพริกกากหมู” ผู้สอน คือ ครูวีรศักดิ์ หิรัญรัตน์ แผนกอาหารและโภชนาการของ วอศ.เอี่ยมละออ ถือว่าเป็นอาหารที่บ้านเราพอพบเจอกันอยู่พอสมควรเพราะทำไม่ยาก ยิ่งย้อนกลับไปหลายสิบปีคนไทยยังนิยมใช้น้ำมันหมู่ประกอบอาหาร น้ำพริกกากหมู่จะถูกปรุงเข้าสำรับอยู่พอสมควร สำหรับวันนี้จำทำขายก็ได้เชื่อว่าคนรุ่นหนุ่มสาววันนี้จะหาทานยากน่าจะยากซื้อหาไปลองลิ้มเป็นแน่

        ไม่บอกวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบพร้อมวิธีทำหละ เพราะเยอะเหมือนกัน แต่ถ้าสนใจจะให้เบอร์ ครูวีรศักดิ์ หรือชื่อเล่นว่า “เอ็ม”0619158181ไว้ถามไถ่กันเองเหอะ

         

         อีกหนึ่งอาชีพต่อมายังเป็นอาหารแต่คราวนี้เป็นของหวานหรือขนม “ขนมหอมเทียน” คือ ขนมนี้เมื่อทำแล้วก็เอาไปอบควันเทียนก่อนจะรับประทานหรือนำไปจำหน่าย จึงตั้งชื่อหอมเทียน ขนมไทยที่หลายชนิดทำเสร็จแล้วนำไปอบควันเทียนก่อนจึงรับประทาน จมูกสัมผัสกลิ่นหอมละมุนจากควันเทียนขณะที่ลิ้นก็ลิ้มรสความอร่อยของขนมไปพร้อมกันจิบน้ำชาร้อนในระดับอุ่น ๆ พอชุ่มคอ ชวนให้ถวิลถึงขนมคนชาววังมี่เคยลิ้มลองนานมาแล้วในหลายสิบปีก่อน

         

        ตัวขนมนี้เป็นของใหม่แบบภาษาอังกฤษ เรียกฟิวชั่น (fution) คือ เอาขนมที่คล้ายกันมาหลอมรวมกันเป็นของใหม่ว่ากันว่า ขนมนี้อยู่ในตระกูลคุกกี้ เขาให้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “ Healthy  Cookies Grain" ครูผู้ทำและสอนคือ ครูจิณณ์อธิป ทองมีวงศ์ โทรศัพท์ 0614492665 ซึ่งครูบอกว่าขนมนี้เกิดจาก 3 ขนมรวมกัน คือ ขนมเปี๊ยะ บวก คุ้กกี้ แล้วก็ บวก คุ้กกี้สิงคโปร์ หลอมรวมมาเป็นขนมชื่อไทยว่า ขนมหอมเทียน มีชาวชุมย่านดังกล่าว ผู้สนใจมาอบรมในคราวนี้ 4 คน

         

          ส่วนประกอบขนมนี้เยอะมาก วิธีทำก็หลายขั้นตอนทีเดียว ขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดอีกนั่นแหละ เอาว่าถ้าสนใจติดต่อสอบถามกับครูผู้สอนดูนะครับ

          ส่วนอีกการอบรม ที่วิทยาลัยอาชีวะเอี่ยมละออ อบรมให้ฟรีด้วยเวลาเพียง 6 ชั่วโมงเช่นกัน รอบนี้วันนี้ ที่ผอ.ยุพิน ชวนไปสังเกตการณ์ คือ วิชาชีพจัดดอกไม้แห้ง ประดับตกแต่งอาคารสถานที่ ซึ่งก็เป็นอาชีพที่น่าสนใจทีเดียว


         

หัวใจสำคัญของการอบรมและสอนวิชาชีพให้กับประชาชน ปัจจุบันมิใช่แค่เปิดสอนสอนแล้วก็แล้วกัน แต่ วิทยาลัยใส่ใจถึง คือ สิ่งที่ผู้เข้าอบรมต้องได้คู่กันกลับไป ตรงที่ถ้าจะนำไปทำอาชีพ ต้องขายได้ ความรู้ อีกทั้งถ่ายทอดประสบการณ์การขายให้ผู้เรียนเอากลับไปต่อยอดพัฒนาตามความเหมาะสมกับพื้นที่ตัวเอง สภาพแวดล้อมตัวเอง

        แต่ถ้านึกอะไรไม่ออกไปไม่ถูก วิทยาลัยเตรียมพื้นที่จำหน่าย เพื่อให้ได้ตั้งต้นหรือพูดง่าย ๆ ก็ช่วยขายเพื่อให้มือใหม่มีกำลังใจ ได้สติคิดหนทางก้าวต่อไป เลยเท่ากับเป็นการเกื้อกูลกันระหว่างวิทยาลัยกับชุมชน ลูกหลานบ้านไหนมาเรียนที่วิทยาลัย ทั้งผอ.และคุณครูผู้สอนก็จะบอกว่าให้พาพ่อแม่มาเรียนด้วย หรือพ่อแม่ ผู้ปกครองครองมาอบรมวิชาชีพระยะสั้น เมื่อเขาพอใจก็จะให้ลูกหลานมาเรียน หากมีงานมีกิจกรรมอะไรในวิทยาลัยเขามีโอกาสก็มาช่วยมาสนับสนุนกัน จึงกลายเป็นความผูกพันระหว่างชุมชนกับวิทยาลัยเหมือนคนในครอบครัวที่อยู่ในชนบท คอยดูแลช่วยเหลือห่วงใยกัน

       "อย่างที่บอกว่า วอศ.เอี่ยมลออทำแบบนี้มานาน เป็นการเกื้อหนุนกันระหว่างชุมชนกับวิทยาลัย ยิ่งช่วงเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิดอย่างเวลานี้ยิ่งต้องเกื้อกูลกัน ไม่ได้เกื้อกูลแบบคลุกคลีตีโมงแต่แบบนิวนอร์มอล เกื้อกูลตั้งหน้ากากผ้าอนามัย เจลล้างมือ ย้ำความรู้เรื่องดำเนินชีวิตแบบห่างไกลโควิดให้ชาวบ้านนำไปปฏิบัติ ให้เครื่องมือสู้โควิดคือความรู้ด้านอาชีพ เพื่อเลี้ยงตัวเองครอบครัว เพื่อทำขายเป็นรายได้เสริม” ผอ.ยุพินกล่าวย้ำ

 เสกสรร  สิทธาคม 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)