ร้อง‘ตรีนุช’ รื้อเกณฑ์ กอศ.เสนอชื่อนายกสถาบัน 14 แห่ง พร้อมขยับ 9 แห่งปี’60

นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ในฐานะประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(ค.ร.อ.ท.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ตนได้ทำหนังสือถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องขอคัดค้านและให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการได้มาของนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา การเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบัน ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2564 (จำนวน 14 แห่ง)

โดยคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้อ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 มาตรา 23 (1) ออกประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการได้มาของนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา การเสนอชื่อ ผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบัน จำนวน 14 สถาบัน ซึ่งเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) ในฐานะองค์กรภาคประชาชนที่ติดตามการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อให้ดำเนินการเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ได้รับการร้องขอจากบุคลากรอาชีวะให้คัดค้านประกาศดังกล่าว

ในประเด็นที่เชื่อว่าประกาศดังกล่าวอาจส่อไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติและมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการอาชีวศึกษา ได้เข้ารับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้เป็นนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา อันเป็นการกำจัดสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

ดังจะเห็นได้จากประกาศของคณะกรรมการ กอศ.ดังกล่าวในข้อ 4 ซึ่งกำหนดให้ผู้มีสิทธิเสนอชื่อมีเพียง (1) คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (2) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ (3) ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีศึกษาหรือผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา

แตกต่างจากอดีต ตามประกาศคณะอนุกรรมการพิจารณาเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา คุณสมบัติของนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา การรับสมัครและการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา จำนวน 9 แห่ง ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งถือว่าเป็นประกาศฯที่เปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย

แม้ระยะเวลาได้ล่วงเลยมาและได้มีบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเสียชีวิตลง จำนวน 2  ราย จาก 2 สถาบัน คือสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 และสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อการแต่งตั้งให้เป็นนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาแต่ประการใด จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการหรือสั่งการใดๆ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อันส่อให้เห็นถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย

 

เศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี

นายเศรษฐศิษฏ์ กล่าวต่อว่า จากประเด็นที่กล่าวมา เครือข่าย ค.ร.อ.ท.จึงนำเรียน น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนปัจจุบันว่า การออกประกาศของคณะกรรมการ กอศ.ดังกล่าว เป็นการออกประกาศฯที่ส่ออาจจะเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลหนึ่งคนใดเพื่อให้ได้รับประโยชน์โดยตรงหรือโดยอ้อมหรือไม่ จึงขอให้ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้โปรดพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1.ขอให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการได้มาของนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา เรื่องการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบัน ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2564 (จำนวน 14 แห่ง)

2.หากมีการประกาศใหม่ ขอให้มีการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีคุณสมบัติมีความรู้ความสามารถที่ประสงค์จะสมัครเข้ารับการสรรหา และบุคลากรในส่วนของอาชีวศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้มีความเหมาะสม และได้เข้าร่วมการคัดเลือกนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

3.ในการประกาศใหม่ (ถ้ามี) ไม่สมควรที่จะให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณานำรายชื่อผู้มีความเหมาะสมดำเนินการตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา มาตรา 23(1) เป็นผู้มีส่วนในการเสนอรายชื่อ เพราะอาจจะทำให้กระบวนการสรรหาขาดความยุติธรรมและไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และขัดต่อ พ.ร.บ.วิ.ปกครองฯ

4.ขอให้มีการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่ได้ดำเนินการสรรหานายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา จำนวน 9 แห่ง ไปแล้ว ตามประกาศคณะอนุกรรมการพิจารณาเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา คุณสมบัติของนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา การรับสมัครและการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา จำนวน 9 แห่ง ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ให้สิ้นสุด เพื่อประโยชน์ทางราชการต่อไป

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)