ส่อง วท.สัตหีบ" สร้างกำลังคนป้อน AVIATION" ศูนย์พัฒนาบุคลากร ด้านอากาศยานการบินยุคใหม่

 

 

ส่อง วท.สัตหีบ" สร้างกำลังคนป้อน

AVIATION" ศูนย์พัฒนาบุคลากร ด้าน

อากาศยานการบินยุคใหม่

 

จากความต้องการบุคลากรของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ต้องการทำคนทำงานเกือบ 5 แสนตำแหน่งภายใน 5 ปี ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของ คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ที่จะต้องผลิตคนให้สอดคล้อง มีมาตรฐานฝีมือตรงกับความต้องการ

 

หนึ่งในแนวทางดำเนินงานของ EEC HDC คือ การจับมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ EEC สร้างศูนย์เครือข่ายเพื่อการเรียนรู้-สร้างประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะยุคใหม่ ฯ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการปรับตัวเรียนรู้และพัฒนาสมรรถนะใหม่ที่จำเป็นกับการงาน และการประกอบอาชีพที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย กับ 10 สถาบันการศึกษา เรียกสั้น ๆ ว่า ศูนย์เครือข่าย EEC NETs

 

ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรด้านอากาศยาน (aviation) จึงเป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญ ที่ต้องการบุคลากรไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นคน ภายใน 5 ปี EEC

 

 

เมื่อหมุดหมายวางไว้ ชัดเจนเช่นนั้น HDC การร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี  ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) สาขาวิชาช่างอากาศยาน สถาบันที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตนักศึกษาด้านการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและช่างซ่อมอากาศยาน มาเป็น ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC NETs จึงค่อนข้างลงตัวอย่างยิ่ง

 

ด้วยการจัดตั้ง ศูนย์การบินและอากาศยาน (AVIATION) โดยมีแผนดำเนินการจัดหลักสูตรอบรมครูช่างอากาศยานให้กับวิทยาลัยอาชีวะในพื้นที่ EEC ฝึกอบรมวิชาชีพในสาขาวิชาการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน สาขาวิชาช่างซ่อมอากาศยาน และสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบิน เพื่อพัฒนานักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากร เปิดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นให้กับกลุ่มอาจารย์ด้านการบินในแบบ training the trainer เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและเพิ่มปริมาณบุคลากรให้มากขึ้นตามความต้องการด้านอากาศยานของ EEC ที่จะช่วยเร่งทั้งปริมาณและคุณภาพไปในขณะเดียวกัน

 

 

ชัดเจนจาก ดร.อรทัย โยธินรุ่งเรือง สุดสงวน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กล่าวในงานการประชุมสัมมนาศูนย์เครือข่าย EEC NETs เมื่อ กันยายน ปีที่ผ่านมา ณ โรงแรมเคปราชา ว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เป็นพันธมิตรพัฒนาบุคลากรด้านอากาศยานร่วมกับ EEC HDC เนื่องจากเราทำงานในส่วนนี้อยู่แล้ว ต้องขอขอบคุณสำหรับโอกาสที่ได้มานำเสนอผลงาน ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาก็ได้ทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่าย EEC NETs อยู่แล้ว ในส่วนการพัฒนาศูนย์ผลิตและพัฒนากำลังคนกลุ่มอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจร วิทยาลัยกำลังดำเนินการในหลายด้าน อาทิ

 

 

ปรับปรุงห้องเรียนทฤษฎีและห้องสอบบนอาคารใหม่ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายเดือน  ขออนุมัติหลักสูตร และขออนุมัติเปิดสอนสาขาวิชาช่างอากาศยาน สาขางานช่างอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) ประมาณปีการศึกษา 2566 ขยายความร่วมมือกับภาคประกอบการและภาคีเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสร้างโอกาสในการผลิตและพัฒนากำลังคนอย่างเข้มแข็ง เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน  ขยายการเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นตามความต้องการของสถานประกอบการ เช่น การบริการในลานจอดอากาศยาน

 

จากนั้นได้หารือความร่วมมือ ม.ราชภัฏจันทรเกษม และ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เชื่อมโยงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริการการบิน (ต่อเนื่อง)

 

 

“เราได้รับการรับรองการเป็นสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2564 วันนี้เราได้รับนโยบายที่จะต้องไปต่อในเรื่องของโดรนเทคโนโลยี

 

และขณะนี้เรากำลังพัฒนาหลักสูตร ปวส.ช่างอากาศยาน สาขางานช่างอากาศยานไร้นักบิน โดยทำความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อยู่ในระหว่างหารือเพื่อเอ็มโอยูในการพัฒนาหลักสูตร คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดการเรียนการสอนได้ในปีการศึกษา 2566 อีกมุมที่เป็นภาคการบินเหมือนกันคือ การเปิดหลักสูตรสาขาวิชาธุรกิจการบิน สาขางานบริการภาคพื้น สำหรับนักศึกษาที่อยากเข้ามาในอุตสาหกรรมการบิน แต่ไม่อยากเป็นช่างผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน” ดร.อรทัย กล่าว

 

 

ผอ.เทคนิคสัตหีบ ยังกล่าวถึงความสำเร็จในการบริหารสถานศึกษายุคใหม่ว่า "ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ในขณะเดียวกันก็ต้องได้มาตรฐานสากล การจัดทำหลักสูตร การฝึกอบรม  ตัวผู้ฝึกอบรม บุคลากร ทรัพยากร ต้องให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด สิ่งสำคัญที่สุดคือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่จะต้องมองเห็นมาตรฐานเป้าหมายตรงนี้ ด้วยความชัดเจนตามข้อกำหนดในเชิงมาตรฐาน ซึ่งภาพรวมของศูนย์ผลิตพัฒนากำลังคนกลุ่มอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจร ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งของวิทยาลัยในการขับเคลื่อน”

 

ทางด้าน ดร.อภิชาติ ทองอยู่ ประธานคณะประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) กล่าวว่า การพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสู่ตลาดแรงงานอุตสาหกรรม ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ถือว่าเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาวิจัยและเทคโนโลยี จะสามารถรองรับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นความต้องการของภาคการผลิต ที่กำลังพัฒนาและอยู่ในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจทั้งโลกกำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0

 

 

ล่าสุด นางชื่นชีวัน ลิมป์ธีระกุล ผู้ตรวจสำนักนายกฯ ลงตรวจราชการชลบุรี ที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ  เพื่อติดตามแผนงานและโครงการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ณ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ โดยมี ดร อรทัย โยธินรุ่งเรือง สุดสงวน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณะครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และนักศึกษา ร่วมต้อนรับและนำเสนอนิทรรศการ “การพัฒนาศักยภาพคน ตลอดช่วงชีวิตการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง”

 

 

พบว่า โครงการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เป็นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง ต่อยอดจาก “โครงการสัตหีบโมเดล” ซึ่งเป็นต้นแบบของ “ EEC Model “ส่งผลให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถานศึกษา ในการจัดอาชีวศึกษาทวิภาคีคุณภาพสูง ตอบสนองความต้องการในการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อพัฒนาประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้เจริญรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ ๆ

 

 

รวมทั้งการใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศไทย ในทุก ๆ มิติ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติสร้างความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางของประเทศ   

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage